จับตานำเข้าผลไม้เพื่อนบ้าน 12 ชนิด สวมสิทธิถิ่นกำเนิดไทย ส่งออกจีน

ผลไม้
แฟ้มภาพ

กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าป้องกันการสวมสิทธิและลงโทษผู้ส่งออกที่ลักลอบนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้าน มาแอบอ้างเป็นผลไม้ไทยแล้วส่งออกไปจีน แนะผู้ส่งออกนำเอกสารจากกรมวิชาการเกษตรมาแนบประกอบการยื่นขอ Form E เพื่อแสดงความเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ตามที่กรมกำหนด

วันที่ 17 เมษายน 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูผลไม้ของไทย กรมได้รับแจ้งข้อมูลและได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรว่ามีกลุ่มผู้ไม่หวังดีลักลอบนำเข้าผลไม้หลายชนิดโดยเฉพาะทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งออกไปจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าโดยใช้ไทยเป็นฐานในการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก

รณรงค์ พูลพิพัฒน์

โดยตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กรมได้จับตาเฝ้าระวังการสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดให้ผลไม้จำนวน 12 รายการ ได้แก่ (1) มังคุดสด (2) ทุเรียนสดและแช่แข็ง (3) ส้มโอสดหรือแห้ง (4) ลำไยสด (5) มะพร้าว (6) ขนุน (7) น้อยหน่า (8) สับปะรด (9) มะม่วง (10) กล้วย (11) ชมพู่ และ (12) เงาะ อยู่ในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) ของกรม ซึ่งจะมีขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรอง ที่เข้มงวดและรัดกุมมากยิ่งขึ้น

โดยให้ผู้ยื่นขอ Form E จะต้องระบุข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ (1) ข้อความยืนยันแหล่งที่มาของสินค้า (2) วันที่ส่งออก (3) ด่านที่ส่งออกของไทย (4) ประเภทยานพาหนะ และ (5) ชื่อยานพาหนะ นอกจากนี้ ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ (1) หนังสือรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทยและผลิตถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (หนังสือรับรองกรม) และ (2) เอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงการได้มาซึ่งสินค้าที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ อาทิ ใบเสร็จซื้อขาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร (กวก.) เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 ข้อ 9 (1)-(3) ที่กำหนดให้ผลไม้ที่ส่งออกต้องมาจากสวนผลไม้หรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งจาก กวก. และสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) แล้วเท่านั้น

โดยเจ้าของสวนผลไม้จะได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) ส่วนเจ้าของโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ เช่น รายงานการปฏิบัติงานตรวจผลไม้ส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ ป้ายหรือฉลากแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดย กวก. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนดังกล่าวกับสำนักงานศุลกากรจีนเพื่อยืนยันความถูกต้องของแหล่งที่มาของผลไม้

ดังนั้น “หากผู้ส่งออกรับซื้อผลไม้จากสวนหรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) สามารถนำเอกสารดังกล่าวข้างต้นมาแนบประกอบการยื่นขอ Form E เพื่อแสดงความเชื่อมโยงของข้อมูลการได้มาซึ่งวัตถุดิบ/สินค้า ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ตามที่กรมกำหนด” นายรณรงค์กล่าว

จากสถิติการออกหนังสือรับรอง Form E สินค้าผลไม้พิกัดศุลกากรที่ 0801-0810 ในปี 2566 ช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีจำนวนรวม 13,034 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 420 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลไม้ที่มีการส่งออกสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ทุเรียนสด (2) มะพร้าว และ (3) ลำไยสด

“แนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรอง ดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินงานเชิงรุกตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าผลไม้ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นในมาตรฐาน ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยในตลาดโลกอีกด้วย ซึ่งหากกรมพบเหตุอันน่าสงสัยว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสวมสิทธิหนังสือรับรอง

สำหรับสินค้าผลไม้เฝ้าระวัง อาจมีการสุ่มตรวจการส่งออกผลไม้ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารที่แนบประกอบการพิจารณาขอ Form E หากพบว่ามีการปลอมแปลงหรือแสดงเอกสารอันเป็นเท็จกรมจะดำเนินคดีตามกฎหมายและเพิกถอนหนังสือรับรอง ฉบับดังกล่าว รวมถึงขึ้นบัญชีเป็นผู้ส่งออกที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กรมอาจประสานศุลกากรในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการส่งออก-นำเข้า สินค้าผลไม้เฝ้าระวังดังกล่าว ณ จังหวัดที่มีด่านพรมแดนและจุดผ่อนปรนการค้าที่ติดกับประเทศจีนอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2547-4830, 0-2547-4838 หรือสายด่วน 1385 และ www.dft.go.th