จ่ายค่าไฟแพงต่ออีก 2 ปีต้องใช้หนี้ 1.3 แสนล้านบาท คืน กฟผ.

ค่าไฟ

ค่าไฟร้อนฉ่า หลัง กกพ.กดค่า Ft งวด 2 (พ.ค.-ส.ค.) ลงแบบเบา ๆ ได้แค่ 7 สตางค์ ตามข้อเสนอยืดหนี้ของ กฟผ. ยังต้องลุ้นค่า Ft งวด 3 (ก.ย.-ธ.ค.) ต่อ เลขาฯ กกพ.คาดการณ์ราคาก๊าซ LNG ช่วงหน้าหนาวพุ่งอีกรอบ ตั้งรับค่าไฟฟ้าแพงยาวอีก 2 ปี ชี้ต้องใช้หนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ.แบกไว้กว่า 130,000 ล้านบาท ด้านเอสเอ็มอีอ่วม ต้นทุนพุ่งเตรียมปรับราคาสินค้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 2566) ลงมาอยู่ที่ 91.19 สตางค์/หน่วย จากเดิม 93.27 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนจะลดลง 7 สตางค์/หน่วย จากมติเดิม 4.77 บาท/หน่วย เป็น 4.70 บาท/หน่วย ซึ่งถือเป็นการลดลง 2 สตางค์/หน่วย จากงวดปัจจุบันสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 อยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย

โดยการลดค่าไฟฟ้าลงครั้งนี้เป็นไปตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอขยายระยะเวลาการใช้หนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.รับภาระแทนประชาชนในวงเงิน 130,000 ล้านบาท ออกไปอีก 4 เดือน หรือเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน

ส่วนค่าไฟฟ้าในงวดการคำนวณค่า Ft ถัดไปในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 “จะลดลงได้อีกหรือไม่นั้น” ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะเป็นไปตามเป้าหมายช่วงปลายปีอยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันหรือไม่ ขณะที่ กกพ.เองก็มีความเป็นห่วงว่า ปริมาณก๊าซที่ผลิตได้จริงจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากปัจจุบันสามารถผลิตได้แค่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และคาดการณ์เดือนกรกฎาคมน่าจะผลิตได้ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันเท่านั้น

“ต้นทุนหลักของค่าไฟฟ้าในงวด Ft ถัดไปอยู่ที่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยว่าจะผลิตขึ้นมาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ จากราคาก๊าซในอ่าวเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 เหรียญ ก๊าซจากแหล่งในพม่าอยู่ที่ 5-6 เหรียญ ส่วนก๊าซ LNG นำเข้าปกติเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 8-10 เหรียญ ราคา spot อยู่ประมาณ 12-15 เหรียญ กำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

นั้นหมายความว่า ยิ่งผลิตก๊าซในอ่าวไทยได้น้อยก็จะต้องนำเข้า LNG มากขึ้น ประกอบกับช่วงการคำนวณค่า Ft รอบที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค.) ทุกคนต่างก็ทราบดีว่า เป็นช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นของราคาพลังงานโลก (LNG) อยู่แล้ว ประกอบกับความเสี่ยงในเรื่องของสถานการณ์สงครามที่ยังไม่จบ ดังนั้นค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกลงเมื่อเทียบกับการคำนวณค่า Ft งวดที่ 1-2 กรณีไม่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติทางด้านพลังงาน” นายคมกฤชกล่าว

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการราคาค่าไฟฟ้าในอีก 2 ปีข้างหน้า ค่าไฟฟ้าจะไม่ลดราคาลง เนื่องจากจะต้องนำเงินมาใช้หนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ที่ยอมแบกรับภาระแทนประชาชนมาตั้งแต่ปี 2565 ส่งผลให้ กฟผ.มีภาระหนี้ที่แบกเอาไว้ถึง 130,000 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ให้กับ กฟผ.ตามงวดการคำนวณค่า Ft งวดละ 34.90 สตางค์ ด้วยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ทำให้ค่าไฟฟ้าต่อจากนี้ไปจะไม่สามารถลดลงตามต้นทุนการคำนวณค่า Ft ตามปกติได้

ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้ “ยกเลิก” ค่า Ft ไปเลยนั้น นายคมกฤชกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าค่าไฟฟ้าปัจจุบัน แบ่งเป็น ค่าไฟฐาน กับค่า Ft โดยค่าไฟฐานจะเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี โดยเป็นการนำเงินลงทุนต่าง ๆ มาเป็นฐานคิด แต่ Ft จะนำเอาค่าเชื้อเพลิงหรือปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือมีการ “สะวิง” มาคิดคำนวณ

ซึ่งหากยกเลิกค่า Ft เท่ากับต้องนำปัจจัยนี้ไปบวกล่วงหน้าในค่าไฟฐานที่อาจจะแพงอย่างมากหรือต่ำลงเกินความเป็นจริง จนทำให้เกิดภาระอย่างมาก ส่วนกรณีที่คิด Ft ทุก 4 เดือนแล้วจะขอเปลี่ยนเป็นเร็วกว่านั้น ต้องเข้าใจว่า เดิม Ft ก่อนหน้าคิดทุก 3 เดือน แต่ต่อมาเอกชนเป็นผู้เรียกร้องเพื่อให้ขยายเวลาเพราะต้องการนำไปพิจารณาวางแผนในการส่งออก ซึ่ง กกพ.เองก็พร้อมที่จะรับฟังหากมีการเสนอมา

ยืดหนี้ กฟผ.ดูงวดต่องวด

ด้านนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้เสนอเงื่อนไขขอรับภาระ “ยืดหนี้” การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 130,000 ล้านบาท ที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อน จากเดิม 2 ปีเป็น 2 ปี 4 เดือน แบ่งเป็น 7 งวด คาดว่าจะครบกำหนดชำระประมาณเดือนสิงหาคม 2568 ทำให้เงินที่ กฟผ.ควรได้จากการคืนหนี้ก้อนแรกหายไปประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท จากเดิมประมาณ 22,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยงวดละประมาณ 750 ล้านบาท

นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft รวมเป็นวงเงินกว่า 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งวดแรก 25,000 ล้านบาท และทำการกู้เพิ่มตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 85,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ขณะที่ล่าสุด กฟผ.ได้เสนอที่จะยืดหนี้ ส่งผลให้เงินที่นำมาชำระหนี้คืนค่าเอฟทีนั้นลดลง แต่ กฟผ.ยังได้ขอวงเงินในการกู้เพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระได้ในช่วงนี้

“งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 กฟผ.ยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่ แต่งวดหน้าจะต้องมีการบริหารจัดการ รวมถึงต้องมีการหารือกันใหม่อีกครั้ง เนื่องจากต้องติดตามสถานการณ์ก๊าซและสภาพคล่อง ยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามและมีผลต่อสมมุุติฐานในการคำนวณค่า Ft งวดถัดไป แต่ปัจจุบันต้องดูแลกันไปก่อน ให้ราคาค่าไฟนิ่งมากที่สุด” นายประเสริฐศักดิ์กล่าว

SMEs ต้องปรับราคาสินค้า

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าแพงที่ SMEs ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ จะต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้านั้น อาจทำให้ต้องมีการปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น หรืออีกด้านหนึ่งผลจากค่าไฟจะทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง มีผลต่อรายได้ผู้ประกอบการที่อาจลดลง หาก SMEs ไม่สามารถแบกรับภาระได้ก็อาจจะมีการปรับลดจำนวนพนักงาน ควบคุมค่าใช้จ่ายที่อาจส่งผลต่อการจ้างงาน เพราะ SMEs จำนวนมากยังเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก (labor intensive)

“ขณะที่ภาพกว้างระบบนิเวศเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว กำลังซื้อลดลง และทำให้เศรษฐกิจอาจไม่เติบโตเพราะการปรับค่าไฟกระทบ supply chain ทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียง SMEs แต่ภาคการส่งออกที่มีการแข่งขันสูง ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าทำให้เอสเอ็มอียังทำให้ภาคการค้า ภาคการบริการ ท่องเที่ยว และภาคการเกษตร ธุรกิจเกษตร กระทบ ไม่สามารถแข่งขันได้”

ส่วนข้อเสนอถึงมาตรการกู้วิกฤตค่าไฟฟ้านั้น ทาง 3 การไฟฟ้าจะต้องร่วมบริหารจัดการ โดยระบบ Lean “ค่าไฟฟ้าฐาน” ที่ประกอบด้วย ต้นทุนการผลิต (operation-maintenance cost) ต้องแสวงหาวิธีการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และใช้งบประมาณในการพัฒนาระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับการผลิตไฟฟ้า

และต้องจัดหาส่งเสริมการใช้แหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานสีเขียว พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อขยายสัดส่วนการใช้พลังงานสีเขียวที่จะช่วยในการลดปัญหาราคาแหล่งพลังงาน LNG และก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักและมีความผันผวนด้านราคา พร้อมทั้งวางระบบจัดส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีการบริหารจัดการต้นทุน วัสดุอุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีต้นทุนที่คุ้มค่า

“การให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ดี แต่รัฐบาลต้องเจรจาต่อรองและวางแนวทางที่กำหนดราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ที่สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เอกชนผลิตต้องต่ำกว่า กฟผ.ผลิตเอง ในส่วนของค่า Ft ที่ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิงการผลิต แหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติที่มีสัดส่วนการใช้งานผลิตไฟฟ้าสูงถึงประมาณ 65-70% ขณะที่การใช้ถ่านหินประมาณ 10% และน้ำมันประมาณ 1% ของการใช้พลังงานทั้งหมดตามลำดับ

ซึ่งรวมกันเป็นแหล่งพลังงานฟอสซิลถึงกว่า 75% หรือ 3 ใน 4 ของพลังงานทั้งหมด ให้มีต้นทุนต่ำลงอาจเป็นลักษณะ G to G กับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ และภาคเอกชนที่มีขีดความสามารถในการบริหารราคาจำหน่ายด้วยราคาที่ลดลง ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ในราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค รวมทั้งการสำรองกำลังให้เหมาะสมด้วย” นายแสงชัยกล่าว

“ปัจจุบันมีเอกชนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้านพลังานจาก BOI น้อยมาก โดยมีจำนวนโครงการมาตรการพิเศษที่ส่งเสริมการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงานช่วง 6 ปี (2560-2565) ประมาณ 1,000 โครงการ มูลค่าการลงทุน 57,000 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยออกมาแล้วแค่ 57 ล้านบาทต่อโครงการ ส่วนมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพมีเพียง 1,389 ราย มูลค่าการลงทุนประมาณ 111,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 80 ล้านบาทต่อโครงการ และมาตรการส่งเสริม SMEs เพียง 353 โครงการ มูลค่าการลงทุนประมาณ 13,000 ล้านบาท เฉลี่ย 37 ล้านบาทต่อโครงการเท่านั้น

ดังนั้น รัฐควรให้โอกาสขยายผลรายย่อม รายกลางเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประหยัดพลังงาน สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ” นายแสงชัยกล่าว

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 85% เป็นต่างชาติ ใช้ไฟที่ซื้อจากภาครัฐคือการไฟฟ้า และคิดอัตราค่าไฟที่ยังค่อนข้างสูง “รัฐควรลดค่าไฟได้แล้ว” เนื่องจากค่าไฟฟ้าของไทยในขณะนี้มีราคาแพงมาก แม้ภาครัฐจะพยายามลดอัตราลง แต่ก็ยังถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน และรัฐต้องปลดล็อกกฎกติกาโซลาร์ภาคประชาชน รวมถึงเปิดให้มีการซื้อขายไฟกันเองได้ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟ ขณะนี้ภาคเอกชนการผลิตจึงต้องอาศัยพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ และซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าในนิคม ซึ่งจะมีราคาที่ได้ส่วนลด เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม

ส.อ.ท.แย้งเมินปรับสูตรค่า LNG

ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่ กกพ. ยืนยันมติปรับค่าไฟฟ้าจาก 4.77 บาท เหลือ 4.70 บาท ทั้งที่ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนการใช้ระดับราคา LNG ที่จะนำมาคำนวนค่าไฟให้อยู่ระดับปัจจุบันที่ต่ำลงมาก แต่ กกพ.ไม่ใช้ โดยตัวเลขต้นทุน LNG เมื่อต้นเดือน มี.ค. อยู่ที่ 19.7 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU อัตราแลกเปลี่ยน ที่ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 650 บาท/ล้าน BTU

ขณะที่ตัวเลขใหม่ล่าสุด เฉลี่ย order เก่าที่ซื้อ forward ไว้ก่อน 14.8 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU ที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 518 บาท/ล้าน BTU ซึ่งต้นทุน LNG นำเข้าจะลดลง 650-518 เท่ากับ 132 บาท/หน่วย หรือ 20% และจะทำให้ Ft ลดลงไปอีกประมาณ 25 สตางค์ รวมกับ 7 สตางค์ ของ EGAT เป็น 32 สตางค์ หรือคิดเป็น ค่าไฟฟ้า 4.45 บาท/หน่วยเท่านั้น

“เรากำลังพูดถึงการประมาณการต้นทุน LNG นำเข้าในงวดที่ 2/66 คือเดือน พ.ค. ถึง ส.ค. เรายังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาพูดถึงงวดที่ 3/66 เดือน ก.ย.-ธ.ค. ซึ่งจะเป็นหน้าหนาว ราคา LNG ที่อาจจะสูงขึ้นในเดือน ธ.ค. ตามที่ กกพ.อ้างถึงว่า ต้องตรึงราคา LNG ของเดือน ม.ค. ที่ 20 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU ในการคำนวณของงวดที่ 2/66”

ครม.ขอเงิน 11,112 ล้านลดค่าไฟ

ล่าสุด ครม.ได้มีมติมาตรการช่วยเหลือค่าไฟในฤดูร้อน 2566 ซึ่งจะได้นำเสนอ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนดไว้ โดยมาตรการจะประกอบไปด้วย 1) การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง ให้ความช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันไดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 รวม 4 เดือน

โดยกำหนดให้เป็น “ส่วนลด” ค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2566 ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วย/เดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์/หน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วย/เดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์/หน่วย

โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 (4 เดือน) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2) มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วนเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยให้ “ส่วนลด” แก่ผู้ใช้ฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของ กฟน.-กฟภ. และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาท/ราย

โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ และจะเริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น