เทรนด์ Net Zero ดันตลาดโซลาร์เซลล์บูม 100 เท่า

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์เริ่มกลับมาฉายแสงอีกครั้งหลังปัญหาค่าไฟฟ้าพุ่งต่อเนื่อง สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) ก่อตั้งมาได้ 10 ปีเศษ เป็นสมาคมที่รวบรวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านโซลาร์ โซลาร์เซลล์ มีทั้งผู้ผลิตแผงและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้คำปรึกษา ออกแบบ ติดตั้งทางวิศวกรรม รวมทั้งเป็นผู้รับเหมา และเป็นผู้ลงทุนขายไฟเข้าสายส่ง หรือครบวงจรของแวลูเชนทั้งหมด

ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีสมาชิกเกือบ 100 แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายบริษัทหยุดไปจึงเหลือสมาชิก 60 กว่าราย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ภูวดล สุนทรวิภาต” ผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายปฏิบัติการ บมจ.บีซีพีจี ในฐานะนายกสมาคม TPVA เล่าถึงเทรนด์ธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์มว่า

สถานการณ์ธุรกิจโซลาร์

ตอนนี้ธุรกิจโซลาร์กำลังกลับมาใหม่จากที่เคยซบเซาไป เพราะว่าก่อนเป็นการส่งเสริมโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่การให้ค่าแอดเดอร์ มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนFIT (Feed in Tariff) ซึ่งตลาดของโซลาร์ฟาร์มใหญ่มากกว่าโซลาร์รูฟเป็นพันเท่า รัฐบาลเปิดโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีการสมัครมาได้แค่ 1 เมกะวัตต์กว่า

“พอโครงการโซลาร์ฟาร์มลดลง ทำให้ตลาดโซลาร์หดไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่พอมีบิ๊กลอต โครงการพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ (RE 5000) ก็ทำให้ตลาดกลับมาใหม่ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโซลาร์ 3,000 กว่าเมกะวัตต์ ทำให้การเติบโตในแง่ขนาดตลาดโซลาร์มีการหมุนเวียนของกระแสเงินในธุรกิจอยู่ค่อนข้างมาก

ฉะนั้น ทางสมาคมก็ตั้งหน้าตั้งตารอวันที่รับการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ส่วนโซลาร์รูฟไม่ทิ้ง เพราะเป็นตลาดสำคัญในอนาคต ทั้งโซลาร์รูฟประชาชน บริษัท ห้างร้าน โรงงานก็มีเพิ่มเรื่อย ๆ เมื่อก่อนค่าไฟเอฟทีติดลบ แต่ตอนนี้เกือบ 1 บาท ราคาต่อหน่วยก็ขึ้นไปสูงขึ้น การคืนทุนก็เร็วขึ้น ต้นทุนถูกลง ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์รูฟปีนี้ก็มีคนสมัครมากขึ้นกว่าปีก่อน”

ตลาดโซลาร์บูม

สำหรับโครงการ RE 5000 รัฐบาลให้ทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบปีละ 500-600-700 เมกะวัตต์ ไปเรื่อย ๆ ฉะนั้น จะมีตลาดค่อนข้างนิ่ง ดีในแง่ของการพัฒนาบุคลากร ที่แต่ก่อนเราเทรนคนเยอะ พอช่วงหมดตลาดคนก็หายไป แต่ตอนนี้ก็ต้องดึงกลับมาใหม่ พอจะมีโครงการ RE 3,000 กว่าเมกะวัตต์มา และจะมีเฟส 2 มาอีก

“สมาคมคาดว่าตลาดจะเติบโตได้เป็น 100 เท่าเลย และในอนาคตเทรนด์ธุรกิจมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (net zero) มีผลกับธุรกิจนี้ เพราะโซลาร์เป็นพลังงานสะอาดที่ง่ายที่สุดที่ทุกองค์กรเข้าถึงได้ ประเทศเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แดดจะแรง ลมจะเบา

ดังนั้น พลังงานลมในไทยจะเหนื่อยกว่า มีจุดที่ติดได้บนเขาและช่องเขา ลมน้อยกว่าประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร แต่แดดเรามีทุกที่ ฉะนั้น พลังงานทางเลือกที่จะเข้าไปเน็ตซีโร่ หรือคาร์บอนนิวทรัลง่ายที่สุดสำหรับทุกองค์กรคือโซลาร์”

ปูทางสู่ Net Zero

อย่างไรก็ตาม การมุ่งเน็ตซีโร่มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ สถานที่และการใช้บริการสายส่งของเรา ประเทศที่เค้าเปิด open access หมายถึงว่า สายส่งเป็นของรัฐ แต่ไฟในสายส่งยังเป็นของเอกชน จนกว่าจะมีการซื้อขาย นี่คือประเทศที่แอดวานซ์ เขาจะทำแบบนี้ สายส่งเป็นเหมือนทางผ่านอิเล็กตรอนเป็นของผู้ผลิต ถึงเข้าไปในสายส่งก็ยังเป็นของผู้ผลิตอยู่ จนกว่าจะมีคนซื้อ

แต่ประเทศไทยยังรวมศูนย์อยู่ คือถ้าอิเล็กตรอนรวมเข้าสายส่งวันนี้เป็นของรัฐ แต่ทราบว่ารัฐบาลมีความคิดที่แอดวานซ์ ว่าจะเปิดเสรีสายส่ง ถ้าเปิดจะทำให้พลังงานทางเลือกทุกชนิด โดยเฉพาะโซลาร์จะบูมมาก

ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการผลิตส่งออกไปยุโรป ซึ่งบังคับให้เน็ตซีโร่ในกี่ปี ๆ ต่อคุณติดโซลาร์ให้เต็มก็ได้แค่ 5-10% วิธีที่ง่ายที่สุดต้องไปหาโซลาร์ฟาร์ม อยู่ไกลข้ามจังหวัดที่ดินถูก ๆ เช่น พันไร่เป็นโซลาร์มีแบตเตอรี่ 24 ชม. แล้วคุณก็ซื้อไฟจากตรงนั้น โดยที่เวลาซื้อไฟ ผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ไปจ่ายค่า“Wheeling Charge” ให้กับการไฟฟ้าที่เป็นเจ้าของสายส่ง

ฉะนั้น โซลาร์ฟาร์มตั้งที่ไหนก็ตามในเมืองไทย ถ้าซื้อจะพ่วง certificate carbon credit มาด้วย เพื่อให้คนใช้ไฟไปโชว์ตรงนี้ที่ยุโรปว่าใช้ไฟเท่านี้หน่วย เป็นไฟสะอาดหมดเลย มีเครดิตการันตีมาจากผู้ขายไฟ จะเห็นภายในกี่ปีก็แล้วแต่ แต่ประเทศเราต้องเข้าสู่เน็ตซีโร่เพื่อการแข่งขัน มันเป็นเทรนด์ของโลก

“ถ้า open access ไม่เ กิดการไฟฟ้าต้องเป็นผู้บริหารจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ต้องเก่งมาก และต้องเหนื่อยมาก ถ้าทำได้เราก็ไม่ว่า”

เทียบค่าไฟแข่งขันเสรี

พอแข่งขันเสรี ราคาจะแข่งกันขึ้นลง ข้อดีคือจะแข่งขันกัน ราคาถ้ามีรีนิวเอเบิลเข้ามา วันนี้รีนิวเอเบิลจะถูกลง ณ วันนี้ แต่ข้อเสียคือ ถ้าแก๊สแพงขึ้นจากยูเครนเข้ามา ราคาแก๊สแพงขึ้นรัฐบาลมีกองทุนช่วยติดลบอยู่เป็นหมื่นล้าน พอเป็นค่าไฟ พอรัฐบาลเป็นเจ้ามือ ขาดทุนรับเอง แต่ถ้าอีกหน่อยรัฐดูแค่สายส่ง ที่เหลือผ่านเอกชนอย่างเดียว

ข้อเสียคือ เกิดทั้งโลกขาดแคลนแก๊สแล้วค่าไฟพุ่ง ต่อให้คนบอกจะเลือกซื้อโซลาร์ เพราะราคา 2 บาทถูกกว่า แก๊สอาจจะ 6-7-8 บาท แต่โซลาร์ทำสัญญาขายไปหมดแล้ว ก็อาจต้องไปดูแนวทางดูแลชาวบ้าน

ถ้าจะให้แฟร์กับรัฐ คือรัฐไม่สามารถคาดการณ์ได้ก่อนว่าจะมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประเทศไทยพึ่งพลังงานแก๊สจากอ่าวไทยมานาน ซึ่งการขุดก็หายากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าใช้จ่ายสูง ต้นทุนแก๊สจากอ่าวไทยก็สูงขึ้น แต่เรายังบังคับตามสัมปทาน พอยูเครนโดนโจมตี ราคาแก๊สพุ่ง ความมั่นคงด้านพลังงานสั่นคลอน แก๊สถูกผลิตไม่ทัน เหลือแต่ราคาแพง

ดังนั้น ในอนาคต รัฐบาลอาจจะมองว่าพลังงานหมุนเวียนจะมาขึ้นเร็ว โดยเฉพาะโซลาร์ขึ้นเร็วที่สุด

และมีแนวโน้มถูกลงเรื่อย ๆ อาจจะเป็นไปได้ที่วันหนึ่งโซลาร์บวกแบตเตอรี่อาจจะถูกกว่าพลังงานแก๊ส เทียบสมัยแอดเดอร์ 8 บาท ต้นทุนการสร้าง 100-120 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์สำหรับโซลาร์ฟาร์ม แต่เราขายไฟได้ 10-11-12 บาท นักลงทุนอยู่ได้ แต่วันนี้ค่าก่อสร้างต่อเมกะวัตต์ประมาณ 20 กว่าล้าน รัฐบาลก็เลยรับซื้อ 2 บาทต้น ๆ พูดง่าย ๆ ว่า สร้าง 30 ล้านก็ขาย 3 บาท รวมค่าที่ดิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้าสเกลใหญ่อยู่แล้ว

และถ้าเป็นรัฐบาลรับซื้อ เครดิตดี กู้ได้ โครงการใหญ่ ๆ ขอบีโอไอได้ ก็มีเบเนฟิตช่วยไปช่วยมา 2 บาทต้น ๆ เหมือนจะเหนื่อย แต่เหนื่อยแล้วช่วยได้

“จีน” เบอร์ 1 ตลาดโซลาร์

“ตอนนี้เอกชนไทยผลิตเองยังยาก เทคโนโลยีโซลาร์ไปไวมาก แผง 2 ตร.ม. แต่ก่อนแค่ 100 วัตต์ ตอนนี้ 500-600 วัตต์แล้ว ภายในประมาณ 10 ปี แสดงว่าทุก ๆ ปีครึ่งขึ้นไปเป็น 100 วัตต์ แปลว่าคุณต้องเปลี่ยนสายการผลิต เปลี่ยนโพรเซส ซึ่งที่จีนทำได้ เพราะวอลุ่มเยอะ เป็นล้านแผ่น

ส่วนไทยถ้าทำต่อไปขายไม่ได้ต้องชัตดาวน์ วอลุ่มไทยน้อยแค่หลักหมื่นแผ่น สเกลต่างกันหลายเท่า จีนมีซัพพลายเชนครบไม่ต้องสต๊อกของ เช่น โรงงานกระจกทำส่งมา ทำสายไฟส่งมาประกอบ แต่ของไทยหรือต่อให้เป็นจีนมาก็ต้องสต๊อกของ เรามีคอสต์ สมมติว่าทำใช้แผงเมดอินไทยแลนด์ ก็ยังแพงกว่าที่จีนส่งมา TAX free

ตอนนี้จีนเป็นเจ้าตลาดแผงโซลาร์ มีโรงงานจีนที่ย้ายมาทำในเมืองไทยเพื่อขายไปยุโรป เพราะกำแพงภาษียุโรปส่งจากไทยถูกกว่า ถ้าส่งจากจีนแพงกว่า ประเทศไทยยังเหมาะที่จะต้องซื้อมาและขายไปอย่างเดียว

“สมาคมมักจะถูกต่อว่า ว่าโซลาร์ไม่ดี เพราะนำเข้าอุปกรณ์จากนอกหมด แต่ท่านไม่ทราบเหรอว่าโรงไฟฟ้าทุกชนิดในเมืองไทยนำเข้าเครื่องจักรจากเมืองนอกหมดเหมือนกัน ที่ made in Thailand คือปูน แก๊สก็นำเข้า แต่ถ้าเราทำโซลาร์แม้ว่าจะนำเข้าอุปกรณ์ แต่ที่เหลือแดดฟรีของประเทศเรา”