ไทยยังใช้ “ฟอสซิล” 80% เร่งพลังงานหมุนเวียนสู้เกมการค้าโลก

พลังงานหมุนเวียน

นับถอยหลังอีกไม่กี่ปี ทั่วโลกจะกำหนด “มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการค้าเพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกรูปแบบ เป้าหมายเพื่อ NET ZERO ให้ได้ โดยฝั่งยุโรปได้เริ่มใช้มาตรการภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งข้ามพรมแดนเข้ายุโรป (CBAM) ซึ่งได้กลายเป็นแรงกดดันครั้งสำคัญ ทำให้ไทยต้องเร่งปรับตัวตามเกมการค้าโลก

ในงาน “เสวนา COP 26 สู่ COP 28 ผลกระทบและการเตรียมตัวของผู้ประกอบการไทย” จัดโดยสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE 100) ได้มีตัวแทนจาก 5 องค์กรทั้งรัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนมุมมองถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย เพื่อเดินหน้าไปสู่สังคมสีเขียวและการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

สินเชื่อธุรกิจสีเขียว

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในไม่ช้าประเทศไทยจำเป็นที่ต้องพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น ย้อนกลับไปในอดีต “อุตสาหกรรมไทยกว่า 80% อยู่ในโลกยุคเก่า” ยังคงใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อใช้ในประเทศ เทียบเหมือนกับกลุ่มลูกหนี้แบงก์ที่ยังคงทำธุรกิจแบบเดิมทำให้มีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อมาโดยตลอด เมื่อธุรกิจป่วยและกำลังโดนมาตรการ CBAM จากยุโรป ส่วนนี้ยังส่งผลให้ “แบงก์เกิดภาวะหนี้ NPL” การปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจใหม่จึงเป็นเรื่องยาก

ธปท.จึงออกเกณฑ์บังคับให้แต่ละแบงก์จะต้องจัดกลุ่มประเภทกิจการ ธุรกิจออกเป็นโซนสี รวมถึงต้องมีเป้าหมายและเครื่องมือที่จะเข้าไปสนับสนุน (Taxonomy) จะทำให้เกิดเป็นรูปแบบ Green Finance เพื่อนำไปสู่การ “ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีเขียว (Green Loan)” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะกู้เหล่าลูกค้าป่วย ๆ เหล่านี้ฟื้นกลับมา ด้วยการเปิดแนวทางให้แต่ละธุรกิจที่จะมุ่งไปสู่การปรับตัวใช้พลังงานหมุนเวียน มีการปล่อยคาร์บอนน้อย จะได้โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น แนวทางนี้ไม่เพียงจะกดดันให้ธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาดทางอ้อมแล้ว ยังมีส่วนทำให้สถานะของแบงก์แต่ละแห่งมีสุขภาพดีขึ้น

“กลุ่มสีเขียว คือธุรกิจที่มีการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) น้อย ใช้พลังงานหมุนเวียนในองค์กรที่อิงตามกติกาของนานาชาติ กลุ่มสีเหลือง คือธุรกิจที่กำลังปรับตัว โดยอยู่ระหว่างการพึ่งพิงสินเชื่อ Transformation และกลุ่มสีแดงคือธุรกิจที่ต้องถอยออกมา”

เก็บภาษีคาร์บอน

อีกด้านหนึ่ง “นายณัฐกร อุเทนสุต” ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต ชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียง CBAM เท่านั้นที่ยุโรปบังคับใช้กับทุกประเทศ แต่นับจากปี 2569 เป็นต้นไป ภายในวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี ทุกภาคส่วนจะต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อย CO2 ทั้งหมด เพื่อ “เก็บภาษีตามระดับปริมาณการปล่อยมากน้อยไม่เท่ากัน” จากอดีตเก็บอยู่ที่ 60 เหรียญ/ตันคาร์บอน ปัจจุบันขยับมาเป็น 92 เหรียญ/ตันคาร์บอน

สำหรับประเทศไทยมีแนวทางที่จะเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอนหรือ Carbon Tax เช่นกัน ซึ่งพบว่าภาคพลังงานมีสัดส่วนการปล่อยสูงถึง 35% ภาคขนส่ง รถยนต์ทุกประเภท มีสัดส่วน 32% ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 27% และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 6% ยึดหลักการที่ว่า “ใครปล่อยคนนั้นต้องรับผิดชอบ”

รับมือ CBAM เฟส 2

เมื่อภาคธุรกิจต้องรับกติกาที่สากลกำหนดขึ้น แนวทางสำคัญคือไทยเองเริ่มปรับตัวกันได้หรือยัง ซึ่งกติกาการค้าอย่าง CBAM ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทั้งกดดันและผลักดันให้ทั่วโลกเดินไปสู่พลังงานหมุนเวียน “นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์” อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวให้เห็นภาพชัด ๆ ว่า สหรัฐมีการ “ลดภาษีให้กับกลุ่มไบโอดีเซล และให้เงินอุดหนุนธุรกิจที่เป็นและที่ใช้พลังงานหมุนเวียน” แน่นอนว่ากว่าไทยจะไปถึงจุดนั้น ต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ เพราะไม่ว่าจะทางใดย่อมเกิดผลกระทบกับอีกส่วนไม่มากก็น้อย

รัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์

ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องทำให้ได้นั่นคือ การรับมือกับ CBAM ที่จะใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 นี้ ในกลุ่มสินค้า 5 กลุ่ม ที่จะต้องถูกเก็บภาษี คือ เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ย ซีเมนต์ ไฟฟ้า อะลูมิเนียม ช่วงแรก โดยมาตรการนี้จะใช้เต็มรูปแบบในปี 2570

แม้ความพยายามของ “รัฐบาลไทยเร่งเจรจาต่อรอง” เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ยังคงคัดค้านมาตรการดังกล่าว แต่เชื่อว่ายุโรปจะยังคงเดินตามแนวทางนี้เป็นแน่ และมีแนวโน้มไปสู่สินค้ากลุ่มอื่น ๆ ในเฟส 2 คือ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติก แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ และโพลิเมอร์ รวมถึงขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emissions) ซึ่งก็คือการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตของสินค้าทั้ง 9 กลุ่ม

ซื้อขายคาร์บอนเครดิต EV Bus

กลไกที่สำคัญอีกตัวที่จะเป็นตัวเร่งให้ไทยก้าวไปสู่พลังงานหมุนเวียน “นางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์” ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า ไม่เพียงเร่งศึกษาเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCUS) แต่ไทยยังได้ดำเนินการไปแล้วคือ การ “ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในส่วนของ EV Bus กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์”

ส่วนแผนที่เหลือควบคู่กันไปคือ การกำหนดเรื่องของ Carbon Tax การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไว้ใน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ซึ่งแต่ละภาคส่วน อุตสาหกรรม องค์กร จะต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อย CO2กำหนดโครงการให้ชัดเจน และการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายใน เม.ย. 2566 นี้ ให้มีบทบาทบริหารจัดการงานและงบประมาณได้มากขึ้น เพื่อที่ไทยจะลดการปล่อย CO2 ได้จริง

แนวคิด TOYOTA WAY

ต้นแบบที่ว่า “วิถีแห่งโตโยต้า” หรือ “TOYOTA WAY” ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2544 “นายธีระวัฒน์ ลิมปิบันเทิง” ประธาน บริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า นี่คือปรัชญาการทำงานร่วมกันขององค์กร พฤติกรรมนิยมที่ปฏิบัติร่วมกันในองค์กร และวัฒนธรรมองค์กร เด็นโซ่ฯก็เช่นกัน การยึดหลักแนวทางนี้เป็นที่มาของการพยายามปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และพัฒนาองค์กรตลอดเวลา เช่น การที่รู้ว่าโลกกำลังเดินไปสู่ net zero ในปี 2608 แม้จะไกลแต่ระหว่างทาง “เด็นโซ่ฯ จะเป็นหนึ่งในต้นแบบ” ที่ดึงเหล่าพาร์ตเนอร์ ซัพพลายเออร์ทั้งหมดในเครือร่วมเดินทางไปพร้อมกัน ด้วยการ “ลีนและคลีน” ลีนหรือการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด คลีนหรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการพลังงานในองค์กร และแม้แต่การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 6-7 เมกะวัตต์

บทสรุปจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลของทั้ง 5 องค์กร ชัดเจนว่าไทยเองไม่ได้นิ่งนอนใจในการทั้ง “เตรียมรับมือและการปรับตัวเพื่อไปสู่ Renewable Energy” และไม่ช้าก็เร็วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ไทยก้าวทันต่อเกมการค้าโลกอย่างแน่นอน