ไทยจ่อเก็บภาษีคาร์บอนปี’66 ธุรกิจพลังงานแชมป์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

คาร์บอน

ไทยจ่อเก็บภาษีคาร์บอน “carbon tax” แก้ปัญหา climate change ระยะยาว “ภาคพลังงาน” ปล่อคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดถึง 35% ตามด้วยภาคขนส่ง-อุตสาหกรรม สผ. เตรียมประกาศ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เม.ย. 2566 นี้ อีกกลไกใช้บังคับเดินคู่กัน

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวในงานเสวนา COP 26 สู่ COP 28 ผลกระทบและการเตรียมตัวของผู้ประกอบการไทยที่จัดโดยสมาคมพลังงานหมุนเวียน (RE100) ว่า ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในประเทศไทยวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน 35% เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ ถ่านหิน ทำให้มีอัตราการปล่อย CO2 สูงที่สุด รองลงมาคือภาคขนส่งทั้งระบบอย่างรถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ มีสัดส่วน 32% ภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 27% และภาคครัวเรือน 6%

“หากไทยจะแก้ปัญหาให้ได้ทั้งในระดับระยะสั้นถึงระยะยาว จำเป็นที่ต้องกำหนดกติกาโดยการใช้มาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน หรือ carbon tax ใครปล่อยคนนั้นต้องรับผิดชอบ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจากการประเมินคาดว่าจะทำให้ก๊าซ CO2 ลดลงถึง 30% เมื่อมาตรการเก็บภาษีตัวแรกออกมา จากนั้นกลไกดังกล่าวจะกดดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัว และหันไปใช้พลังงานสะอาด ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) มากขึ้น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2606 จึงจะเป็นความจริง”

“การเก็บภาษีคาร์บอนต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ เราไม่ได้ผลักภาระไปให้ผู้บริโภค แต่เรากำลังใช้มาตรการกดดันให้ผู้ที่เขาผลิตต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นพลังงานหมุนเวียน เหมือนตอนเราจะเก็บภาษีความหวาน ประชาชนว่าเราโยนภาระให้คนกิน เพราะผู้ผลิตน้ำเขาขึ้นราคา จากที่เราไปเก็บภาษีความหวานเขา

แต่เป้าหมายจริง ๆ คือเราต้องการให้ผู้ผลิตน้ำเขาลดน้ำตาล ลดใช้ความหวานในสินค้า ไม่ใช่ให้ไปขึ้นราคา ภาษีคาร์บอนก็เช่นกัน เราก็ต้องใช้กลไกรัฐเก็บผู้ผลิตเพื่อบังคับ เพื่อกดดัน ให้ช่วยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะตอนนี้ renewable บ้านเราใช้ไม่ถึง 1% และยังมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีดีเซลให้สูงกว่าเบนซิน ซึ่งหากปล่อยให้กลไกเป็นแบบนี้ จะไม่มีใครอยากใช้ renewable เพราะต้นทุนสูงกว่า”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในต่างประเทศหลายประเทศได้เริ่มนำระบบ carbon tax มาใช้กันแล้ว อย่าง จีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป กำลังเร่งศึกษาแนวทางให้เสร็จเร็วที่สุด ในส่วนของไทยคาดว่าจะศึกษาเสร็จภายในสิ้นปี 2566 นี้ มาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่งซึ่งหากไทยไม่ทำ ไทยจะเจอต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบแพงขึ้น เนื่องจากฝั่งคู่ค้าได้ถูกเก็บภาษีก่อนการส่งออกที่ประเทศต้นทางมาแล้ว และทั่วโลกจะหนีไม่พ้นการถูกกดดันให้ลดการปล่อย CO2 เช่น ที่ยุโรปได้ใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2566 ในสินค้า 7 รายการ

โดยนับจากปี 2569 เป็นต้นไป ภายในวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี ในมาตรการ CBAM กำหนดให้เอกชนต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อย CO2 ด้วยว่าปล่อยไปเท่าไร หากภาคส่วนใดไม่รายงาน จะถูกเก็บภาษีที่สูงกว่าปกติ จากอดีต 60 เหรียญ/ตันคาร์บอน ปัจจุบันได้ขยับขึ้นมาเป็น 92 เหรียญ/ตันคาร์บอน ดังนั้นไทยต้องเตรียมความพร้อม ด้วยการเริ่มนับ 1 ซึ่งไทยกำลังมุ่งสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เร่งเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานหมุนเวียน และการเก็บ carbon tax

นางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า อีกกลไกหนึ่งในการเดินหน้าควบคู่กัน คือการกำหนดเรื่องของ Carbon Tax การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไว้ใน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ซึ่งแต่ละภาคส่วน อุตสาหกรรม องค์กร จะต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อย CO2 กำหนดโครงการ เพื่อไปเสนอในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 28 ที่จะจัดในต้นเดือน ธ.ค. 2566 ที่ดูไบ

นอกจากนี้ สผ.ยังเร่งศึกษาเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCUS) และส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในส่วนของรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงการดำเนินการในส่วนของการตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายใน เม.ย. 2566 นี้ ให้มีบทบาทบริหารจัดการงานและงบประมาณได้มากขึ้น แนวทางดังกล่าวเพื่อที่ไทยจะลดการปล่อย CO2 ได้จริง

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมพลังงานหมุนเวียน (RE100) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องศึกษาแนวทางทั้งหมดที่ภาครัฐกำลังจะกำหนดขึ้น เพื่อ เตรียมตัวปรับเปลี่ยนองค์กรใช้พลังงานหมุนเวียน

“กติกาภาษีคาร์บอนต้องเกิดขึ้นแน่นอน หากเอกชนไม่ทำจะถูกเก็บภาษีจากการปล่อย CO2 ซึ่งจะเป็นต้นทุนกับภาคการผลิตเพิ่มขึ้นอีก และจะถูกกดดันด้วยการกีดกันทางการค้า ดังนั้น เอกชนต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่นี้ หรือ Take Climate Action Now เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินต่อไปได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”