รู้ไว้ก่อนซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต”

ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต

เทรนด์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำลังเป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างกว้างขวาง โดยไทยประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2606

ในปี 2559 ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กว่า 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน 35%  ซึ่งไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รองลงมา คือภาคขนส่ง สัดส่วน 32% ภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 27% และภาคครัวเรือน 6%

ขายคาร์บอนแบบสมัครใจ

ในปี 2557 ไทยเริ่มมีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ เรียกว่ T-VERs ย่อมาจาก Thailand Voluntary Emission สามารถนำไปใช้ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ได้

ล่าสุด เมื่อปี 2565 ไทยการซื้อขายเครดิต TVERs ปริมาณ 1.19 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) มูลค่า 128.50 ล้านบาท คำนวณง่ายได้ว่า ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 108.22 บาท เพิ่มขึ้น 219.2%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีการซื้อขายเครดิตคิดเป็นสัดส่วนไม่มาก เพียง 7.61% ของปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโลก แต่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งเชิงปริมาณ และราคา โดยหากพิจารณาอัตราเติบโตเชิงปริมาณปี 2565 เพิ่มขึ้น 314.3% จากปี 2564 และเชิงมูลค่า เพิ่มขึ้น 1,222.7%

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

แนวโน้มตลาดคาร์บอนโต

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการติดตามตลาด “คาร์บอนเครดิต” ที่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พบว่า แนวโน้มความต้องการคาร์บอนเครดิตในไทยในอนาคตมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น

ประเมินจากข้อมูลปี 2563 กว่า 81 องค์กร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเฉลี่ยราว 160 ล้านตัน tCO2e ต่อปี ซึ่งหากหน่วยงานเหล่านั้นต้องการที่จะเป็นหน่วยงานปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Organization) จะทำให้ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชย สูงถึงราว 1,600 ล้านตัน tCO2e ในช่วงปี 2563 – 2573

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการคาร์บอนเพิ่มขึ้น เป็นผลจากประเทศต่าง ๆ กำหนดกลยุทธ์และมาตรการควบคุมคาร์บอน อาทิการเก็บภาษีคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากการประกอบกิจการในประเทศ หรือภาษีจากการนำเข้าสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง ส่งผลให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไกตลาดคาร์บอน เพื่อให้ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน (เสมือนผู้ซื้อได้ดำเนินการลดจำนวนคาร์บอน) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

10 ปีข้างหน้า ดีมานด์ตลาดโลกพุ่ง

ข้อมูล สนค. พบว่า ในปี 2573 ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) จะมีมูลค่าถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,980 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยความต้องการคาร์บอนเครดิตอาจมีมูลค่าสูงถึง 30,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นหนึ่งในตลาดคาร์บอนใหญ่ที่น่าสนใจ โดยระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก European Union Emission Trading Scheme (EU ETS) ของยุโรป มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ (Emission Allowance) โดยมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาค กว่า 15,000 ล้านตัน

และยังบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism : CBAM) นำร่องในปี 2566 – 2569 ที่จะเริ่มให้แจ้งปริมาณการปล่อยก๊าซฯ หลังจากนั้นจะเริ่มใช้จริงปี 2570

รวมถึงมาตรการลดการปล่อยก๊าซในภาคการขนส่ง ทั้งเครื่องบิน เรือ รถยนต์ สิ่งก่อสร้างสำหรับการเกษตร และการจัดการของเสีย ส่วนสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง โดยเก็บจากผู้ผลิตของสหรัฐฯและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2569

ขณะที่ “จีน” ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนแห่งใหญ่ที่สุดของโลก ปี 2562 ปล่อยมลพิษสัดส่วนกว่าร้อยละ 27 ของโลก หรือคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 10,000 ล้านตัน  จะกลายเป็นประเทศที่มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นตัวเร่ง ให้ตลาดคาร์บอนเครดิตโลกยิ่งเติบโตสูง

แปลงคาร์บอนเป็นโอกาส

จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้ไทยในฐานประเทศที่มีธุรกิจภาคเกษตรที่เข้มแข็ง “การปลูกพันธุ์ไม้ไม่เพียงสร้างรายได้จากการขายผลิต แต่ยังสามารถนำมาสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนได้อีกทาง โดยการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VERs2) สาขาเกษตร (สวนผลไม้) สร้างรายได้หลายทาง ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตร และสร้างรายได้ จากการขายคาร์บอนเครดิต”

ที่สำคัญไทยยังจะมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะได้เปรียบด้านราคากว่าสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เพราะปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกฎระเบียบโลกสมัยใหม่ ที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้อนสู่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

โดยไทยต้องบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในเชิงรุก เตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจปรับตัว ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การขับเคลื่อน BCG โมเดล การสร้าง News S-Curve ทางเศรษฐกิจ

รวมถึงการส่งเสริมภาคการเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก การเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับคาร์บอน การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในเชิงพาณิชย์ การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ การสร้างมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการเข้าร่วม T-VERs ให้แก่ธุรกิจการเกษตรไทย

58 พันธุ์ไม้ขายคาร์บอน

สำหรับพันธุ์ไม้ที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต มี 58 สายพันธุ์ เช่น ต้นสะเดา ต้นนางพญาเสือโคร่ง ต้นนนทรี ต้นปีบ ต้นอินทนิลน้ำ ไม้สัก ต้นประดู่ พะยอม แคนา จามจุรี รวมถึงต้นไม้ ที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เช่น ไผ่ (ปี 2563 พื้นที่ปลูกไผ่เพื่อการค้าราว 9.2 หมื่นไร่)

ประเภทไม้ผล เช่น ทุเรียน มะม่วง และมะขาม ซึ่งจัดเป็นพืชเศรษฐกิจ รวมถึงผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งพืชสมุนไพร เช่น มะหาด และมะขามป้อม

ในส่วนของ สนค. จะเดินหน้าดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เพื่อเตรียมความพร้อมต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในตลาดโลกต่อไป

ชาวนานำร่องก่อน

“อ.เดิมบางนางบวช และ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี” เป็นอำเภอนำร่องที่สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าวได้ เข้าไปให้การส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนา สร้างคาร์บอนเครดิต โดยใช้การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ภายใต้โครงการ Thai Rice NAMA ทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาใช้ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบช่วยลดการปล่อย “ก๊าซมีเทน”  ทั้งยังให้ลดการเผาตอซังข้าว ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกหายไป 70% และเพิ่มผลผลิตได้ 20-30%

ผลสำเร็จการดำเนินการครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตอีกทางหนึ่ง โดยระดับราคาที่ขายได้ 250 บาทต่อไร่ หากปลูกปีละ 2 รอบ ชาวนาได้เงิน 500 บาทต่อไร่ เรื่องนี้ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป และในอนาคต หากมีการขยายการฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องคาร์บอนเครดิตให้ศูนย์ข้าวชุมชนและชาวนาอาสาในเขตจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น