ร้อนแล้งขาดน้ำยาวถึงปี’67 เอลนีโญ ถล่มผลผลิตเกษตร

ภัยแล้ง

ภัยแล้งมาเยือนตั้งแต่เข้าสู่ฤดูฝนเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ “ฝนน้อยน้ำน้อย” ลากยาวไปจนถึงต้นปี 2567 ปริมาณฝนทั้งประเทศน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 พายุเข้าไทยน้อยลง TEAM GROUP ทำนายแล้งปี 2567 ถึงขั้นน้ำไม่พอใช้ ผลผลิตข้าว-ผลไม้ลดลง 20-40% แนะเกษตรกร-โรงงานอุตสาหกรรมเร่งขุดสระรองรับน้ำฝนไว้ตั้งแต่บัดนี้ รับมือภัยแล้งยาวนานเหมือนปี 2558

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM GROUP ได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งถัดไป (2567) หลังจากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศให้ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเตือนด้วยว่า ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 และน้อยกว่าปี 2565 โดยช่วงกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมจะเกิดสภาวะ “ฝนทิ้งช่วง” จะเกิดการขาดแคลนน้ำด้านเกษตรในหลายพื้นที่ของประเทศ

จากสถานการณ์ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศสูงเกินกว่า 40 องศาขึ้นไปในหลายพื้นที่ หรือ “มันร้อนยาวขึ้น” ตามปกติในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเมษายนจะเกิดพายุฤดูร้อน “แต่ปีนี้ไม่มีฝนตก” แม้ปริมาณฝนปี 2565 จะสูงเกินกว่าเส้นเฉลี่ยที่ 1,848 มม. (เส้นเฉลี่ย 1,500 มม.) ก็ตาม แต่มี 2 ปัจจัยหลักที่แสดงให้เห็นว่า ฤดูแล้งหน้าของปี 2567 ประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ทั้งจากฝนที่จะตกในฤดูฝนน้อยลงและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะต่ำกว่าร้อยละ 20

ล่าสุด NOAA หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration ในวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เผยแพร่รายงานการเกิดภาวะเอลนีโญ (El Nino) หรือฝนน้อย น้ำน้อย จากการนำข้อมูลการวัดอุณหภูมิของทะเลกว่า 200 จุด ใช้มากกว่า 20 แบบจำลองในการพยากรณ์ลักษณะภูมิอากาศของภูมิภาค พบว่า สภาพภูมิอากาศที่อยู่ในสภาวะปกติ-เป็นกลาง (neutral) จะเปลี่ยนไปเป็นสถาวะ El Nino ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ (เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) และมีโอกาสมากกว่า 90% ที่สภาวะฝนน้อย น้ำน้อย หรือ El Nino จะเกิดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2567 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” เข้ามาเติมเชื้อ ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยจะ “เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ร้อนยาวขึ้น ถี่ขึ้น และปริมาณน้ำจะระเหยไปมากขึ้น”

นอกจากนี้ ในแบบจำลองของ WMO หรือ World Meteorological Organization ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ได้แสดงผลกระทบของการเกิดปรากฏการณ์ El Nino ของโลกเฉพาะส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดสภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก (dry) กินเข้ามาในภาคตะวันออกทั้งภาค รวมถึงภาคใต้ของประเทศตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงมาอีกด้วย

“ฤดูฝนปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในภาคตะวันออกและภาคใต้ ประมาณ 20-30% หรือประมาณ 1,000-1,100 มม. แต่ถ้าดูปริมาณฝนโดยรวมทั้งประเทศก็จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน หรือประมาณ 1,200 มม. นั้นหมายถึงฝนน้อยแน่ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณฝนรายปีน่าจะใกล้เคียงกับปี 2558 กับปี 2562 มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,247-1,218 มม. ตามลำดับ ทั้ง ๆ ที่ใน 2 ปีนั้นประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ฝนมาก น้ำมาก หรือ La Nina ซึ่งดีกว่าปีนี้ที่เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ฝนน้อย น้ำน้อย หรือ El Nino” นายชวลิตกล่าว

Advertisment

พายุเข้าประเทศไทยน้อยลง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ปรากฏ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างรวมกัน 12,282 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่าง ขณะที่ปริมาตรน้ำใช้การได้อยู่ที่ 5,586 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31 โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งจะส่งผลต่อการปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง รวมไปถึงน้ำอุปโภค-บริโภคในจังหวัดติดลำน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร

“แม้ปริมาณน้ำในอ่างทั่วประเทศก่อนเริ่มต้นฤดูฝนจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยระหว่าง 55-60% แต่ก็มีอ่างเก็บน้ำหลักหลายอ่างมีปริมาตรน้ำใช้การได้จริงต่ำกว่าร้อยละ 20 อาทิ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ร้อยละ 17) เขื่อนขุนด่านปราการชล (ร้อยละ 18) เขื่อนอุบลรัตน์ (ร้อยละ 9) เขื่อนจุฬาภรณ์ (ร้อยละ 13) เขื่อนสิรินธร (ร้อยละ 12) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนในภาคตะวันตกที่เคยเก็บกักน้ำในปริมาณมากมาโดยตลอด แต่ตอนนี้เขื่อนศรีนครินทร์เหลือแค่ร้อยละ 17 เขื่อนวชิราลงกรณร้อยละ 13 ยิ่งฤดูฝนปีนี้มาเจอสถานการณ์ El Nino ซ้ำเติมเข้าไปอีก จะทำให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ ของประเทศสำหรับช่วงฤดูแล้งหน้าจะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรมและการอุปโภค-บริโภคได้” นายชวลิตกล่าว

Advertisment

ส่วนพายุที่จะเข้าสู่ประเทศในช่วงฤดูฝนนี้ นายชวลิตกล่าวว่า เมื่อเทียบเคียงสถิติจำนวนพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงฤดูฝนที่ผ่าน ๆ มาในสถานการณ์การเกิด La Nina กับสถานการณ์ El Nino ในปีนี้ พบว่าจำนวนพายุที่คาดการณ์จะพัดเข้าสู่ประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาไม่มีพายุพัดเข้าไทยเลย ช่วงเดือนสิงหาคมมีพายุเข้ามาที่บริเวณประเทศเวียดนาม แต่สลายไปก่อนที่จะถึงประเทศไทย เดือนกันยายนเคยมีพายุเข้ามา 2 ลูก มีเพียงลูกเดียวที่พัดเข้ามาถึงไทย แต่ก็สลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ส่วนเดือนตุลาคมเคยมีพายุเข้ามาถึงไทย แต่สลายตัวไปตามแนวชายแดนไทย-ลาว ส่วนพายุลูกอื่น ๆ พัดขึ้นไปทางเหนือของประเทศเวียดนามหมด

“ขณะปีที่เกิด La Nina ฝนมาก น้ำมาก ปริมาณพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยก็ลดลง ยิ่งมาปีนี้เกิด El Nino ฝนน้อย น้ำน้อย เราคงจะไปหวังเก็บน้ำจากพายุที่จะเข้ามาในช่วงฤดูฝนได้ยาก ดังนั้นปลายปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูแล้งปี 2567 เราจะมีปัญหาเรื่องน้ำ-ภัยแล้งรุนแรง น้ำไม่พอใช้ สภาพการณ์จะใกล้เคียงกับการเกิดภัยแล้งปี 2558 กับปี 2562 จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการเก็บน้ำฝนของปี 2566 ไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้เพียงพอไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2567 ทุกฝ่ายทั้งภาคเกษตรกรรม-ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเร่งสำรองน้ำด้วยการขุดสระเก็บกักน้ำของตนเองเสียตั้งแต่บัดนี้ เพราะในฤดูแล้งปี 2567 เห็นชัดแล้วว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภัยแล้งยาวนาน” นายชวลิตกล่าว

ด้านผลผลิตทางการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Nino มากที่สุด จะได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดหวาน, สับปะรด, ไม้ผล มีการคาดการณ์ผลผลิตจะลดลงระหว่าง 20-40% โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในครอปต่อไป จากที่เคยปลูกกันถึง 8.66 ล้านไร่ ก็จะลดลงเหลือ 2 ล้านไร่ จากการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานที่ประกาศออกมาแล้วว่า จะให้ปลูกข้าวตามฤดูฝนเท่านั้น นั้นหมายถึงปีนี้จะไม่สามารถปลูกข้าวได้ในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เนื่องจากฝนทิ้งช่วง จะไปปลูกได้อีกทีในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

หวั่นไม่มีข้าวส่งมอบ

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า การส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้พุ่งไปถึง 3.05 ล้านตัน ตลอดทั้งปีน่าจะส่งออกไปได้ 7.5 ล้านตัน ตอนนี้ห่วงเรื่องของ El Nino จะเกิดในครอปฤดูการผลิตที่กำลังจะปลูกและจะต้องเก็บเกี่ยวในเดือนกรกฎาคมปีนี้ “มีสินค้าแน่” แต่พอปลูกและเก็บเกี่ยวครอปปลายปีจะมีปัญหาทันทีเลยถ้ามี El Nino เพราะถ้าถึงเวลานั้นแล้วไม่มีข้าวมาส่งมอบในช่วงนาปี ตัวเลขการส่งออกข้าวก็จะหายไป ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตข้าวนาปี

ด้าน น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ SAICO ผู้ผลิตผลไม้และผักบรรจุกระป๋องส่งออก กล่าวว่า จากการติดตามผลผลิตคาดการณ์ว่า ผลผลิตสับปะรดหวั่นจะลดลง 20% จากปกติปริมาณ 1.2-1.5 ล้านตัน จะเหลือไม่ถึง 1 ล้านตันในปีนี้ และตอนนี้เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว เพราะผลผลิตหายไปจากตลาดและมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น 7-8 บาท/กก. ทำให้ผู้ผลิตต้องแย่งกันซื้อวัตถุดิบแล้ว

สำหรับผลผลิตทุเรียนภาคใต้มีรายงานข่าวจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เข้ามาว่า ทุเรียนภาคใต้ในปี 2566 จะมีปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่อง คือ 1) เรื่องระบบน้ำจากการเข้าสู่สถานการณ์ฝนน้อย น้ำน้อย หรือ El Nino ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2) พายุฤดูร้อนส่งผลให้ลูกทุเรียนที่แขวนอยู่บนต้นอายุ 80-90 วัน จะมีน้ำหนักมาก เมื่อถูกพายุกรรโชกแรง กิ่งจะหักร่วงหล่น และ 3) อาจจะเกิดปรากฏการณ์ “ดอกบานแล้วต่อยอด” เพราะทุเรียนมี 3 รุ่น รุ่นแรกจะออกผลผลิตประมาณเดือนมิถุนายน 2566 “การเกิด El Nino เกษตรกรจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของน้ำ ดอกทุเรียนขาดน้ำกระทบแล้งอาจร่วงได้”

จันทบุรีตั้งรับ El Nino

นายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ได้สู้กับปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด เพราะจันทบุรีมีผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ อบจ.ทำได้แค่ขุดสระและมีงบประมาณน้อย ถ้าเป็นงานโครงการขนาดใหญ่ต้องประสานกับ กรมชลประทาน โดยขณะนี้ได้ผลักดันให้สร้าง อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนที่เก็บกักน้ำไว้ใช้จำนวนมากถึง 99.5 ล้าน ลบ.ม. “ปีที่ผ่านมา อบจ.ใช้งบประมาณ 50-60 ล้านบาท ป้องกันปัญหาภัยแล้ง การใช้เครื่องจักรกล วางท่อส่งน้ำ พีอี (HDPE) ในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง บรรเทาการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตรและการอุปโภค-บริโภค และเป็นการเตรียมการรองรับปัญหา El Nino ในระยะอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย”

ด้าน นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผอ.โครงการชลประทานจันทบุรี กล่าวว่า เบื้องต้นจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 22-27 พ.ค. 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โครงการชลประทานจันทบุรีได้ติดตามสภาพอากาศและสภาพฝนอย่างใกล้ชิด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสั่งการให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี พ.ศ. 2566 ตามที่กรมชลประทานกำหนดไว้ คือ

1) จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2) บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3) ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก 4) กักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุด 5) วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี พ.ศ. 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ El Nino ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าเกณฑ์ และอาจเกิดฝนทิ้งช่วง