BGC แพ็กเกจจิ้งขยับใหญ่ ปรับพอร์ตเสริมแกร่ง-ลดเสี่ยง

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิ้ง เป็นธุรกิจรับอานิสงส์จากวิกฤตโควิด สามารถสร้างการเติบโตสวนทางกับธุรกิจอื่น แต่ผู้ผลิตแพ็กเกจจิ้งรายใหญ่ของประเทศ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC บริษัทลูกของ บมจ.บางกอกกล๊าส หรือ BG ยังมุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต และลดความเสี่ยงในอนาคต

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) BGC ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ทั้งแก้ว (glass) และที่ไม่ใช่แก้ว (nonglass) แบบครบวงจร

โควิดไม่กระทบบรรจุภัณฑ์

ในช่วงที่เกิดโควิด ความต้องการอุปโภคบริโภคไม่ได้ลดน้อยลงไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ เช่น เคยไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ให้มาส่งที่บ้านแทน แพ็กเกจจิ้งซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งมอบของจากผู้ผลิตไปถึงผู้ผลิตขั้นต่อไป หรือไปถึงผู้บริโภค จึงยังคงมีความสำคัญอยู่ ตลาดโดยรวมยังเติบโตเพิ่มขึ้น 1-2% จากปกติเติบโต 4-5%

การดูต้องดูแยกเป็นรายการสินค้า จะพบว่าแพ็กเกจจิ้งที่พึ่งธุรกิจร้านอาหาร เช่น ขวดแก้วยอดขายจะตก แต่แพ็กเกจจิ้งที่ขายสำหรับใช้กับออนไลน์ ไม่ว่าเป็นจะกล่องกระดาษ กล่องใส่อาหาร บรรจุภัณฑ์อาหาร รีไซเคิลย่อยสลายได้หรือย่อยสลายไม่ได้ ยอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างกล่องดีลิเวอรี่เพิ่ม 20-30%

“ปีแรกที่มีโควิด ปี 2020 ยอดขายเราลดประมาณ 10% ต่อมาปี 2021 ก็ลดอีกประมาณ 2% แต่ก็เริ่ม recover กลับมาปี 2022 พอโควิดค่อย ๆ หายไป ร้านอาหารเปิดเหมือนเดิม จนตอนนี้เราก็กลับขึ้นมามากกว่าปี 2019 แล้ว”

“ส่วนปีนี้คาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ตั้งเป้าไว้ประมาณ 10% รวมทั้ง organic และ in organi growth โดยเราไปเทกโอเวอร์บริษัท Prime ผู้ผลิตแพ็กเกจจิ้งถุงพลาสติก (เพลาซ์) ซึ่งมียอดขายประมาณ 400 ล้านบาท/ปี มา 9 เดือนน่าจะยอดได้ 300 ล้านบาท เป็นส่วนช่วยส่วนหนึ่งจะช่วยสร้างการเติบโต 10% แต่คิดเป็นสัดส่วนไม่มากหากเทียบยอดขายบริษัทที่มีประมาณ 15,000 ล้านบาท”

จุดเปลี่ยน การปรับ Portfolio

ทุกวันนี้บริษัทเราขายแพ็กเกจจิ้งแก้ว 85% ของรายรับทั้งหมด แต่ในอนาคตอีก 2 ปี เราตั้งเป้าหมายว่าจะปรับสัดส่วนให้เหลือ 60% โดยจะเร่งการขายแพ็กเกจจิ้งที่ไม่ใช่แก้วให้เพิ่มเป็น 40% จากเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท

จุดเปลี่ยน ส่วนหนึ่ง คือ Trend โลกเปลี่ยน การใช้พลาสติกโตขึ้น ส่วนการใช้แก้วแม้ว่าจะไม่ได้แย่ ยังเติบโตปีละ 3-4% แต่ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา แพ็กเกจจิ้งแต่ละชนิดก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน เช่น แก้วสามารถเก็บความเย็นได้นาน เก็บรสชาติได้ดีกว่า ดีต่อสิ่งแวดล้อม รีไซเคิลได้ 100% แต่การขนส่งแพงกว่ายากกว่าพลาสติก

การทรานส์ฟอร์มธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญในหลายมิติ โดยเฉพาะในมิติการเติบโตที่เร็วขึ้นด้านยอดขาย และกำไรเป็นมิติหนึ่ง มิติต่อมาคือมิติเรื่องความเสี่ยง เพราะการใส่ไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าใบเดียว ถ้าตะกร้านั้นเกิดตกขึ้นมา ไข่เราแตกหมด

ซึ่งเหมือน Kodak ขายฟิล์มอย่างเดียว พอฟิล์มกลายเป็นกล้องดิจิทัล Kodak เลยต้องปิด แต่ Fuji ปรับเปลี่ยนแตกไลน์ขายฟิล์ม ขาย X-ray ขายอุปกรณ์การแพทย์จึงยังอยู่ได้ เป็นตัวอย่างว่าทำไมไม่ควรทำธุรกิจด้านเดียวเป็นหลัก

“บางกอกกล๊าสเป็นบริษัทแม่เรา ทุกวันนี้ไม่ได้ดูแลแค่แพ็กเกจจิ้งแล้ว แต่มีหน่วยธุรกิจ (BU) อื่น ๆ ทั้งวัสดุก่อสร้าง พลังงานทดแทน ไม่ได้มีแค่กล๊าส ซึ่ง BGC เป็นส่วนหนึ่งของ BG ก็มีทั้ง glass และ non-glass เช่น กล่องกระดาษ พลาสติก อะลูมิเนียมหรืออย่างบริษัทยาย คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก็ไม่ได้ทำแค่เครื่องดื่ม แต่มีร้านอาหาร มีสแน็ก หรือแม้แต่ตึกออฟฟิศ ฉะนั้น ในอนาคตต้องลืมคำว่า บางกอกกล๊าสคือแก้ว”

แผนลุยธุรกิจ Nonglass

การทรานส์ฟอร์ม คงต้องฟอร์มเรื่อย ๆ คงไม่มีวันจบ เป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นไมล์สโตน ปี ค.ศ. 2026 (2569) ใน portfolio จะมีสัดส่วน 60% มาจากแพ็กเกจจิ้งแก้ว และอีก 40% มาจากธุรกิจที่ไม่ใช่แก้ว และแน่นอนว่าพอถึงปี 2026 ก็คงต้องมีเป้าหมายต่อไป

ส่วนการขับเคลื่อนธุรกิจ nonglass บริษัทวางงบประมาณลงทุนปีละ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเข้าไปขยายกิจการโดยการซื้อและควบรวมธุรกิจ (M&A) และการขยายไซซ์โรงงาน

“ครึ่งหลังของปีนี้ไม่คิดว่าปีนี้จะมีการปิดดีล M&A อีก เพราะต้นปีนี้เราใช้งบฯไป 600 ล้าน ปิดไปแล้ว 1 ดีลเมื่อต้นปี แต่เรายังมองโอกาสลงทุนธุรกิจที่อยู่ไปปไลน์ มีทั้งธุรกิจที่เกี่ยวพลาสติกและไม่เกี่ยว รวมถึงเป็นทั้งแพ็กเกจจิ้งและไม่เป็นแพ็กเกจจิ้ง หรือล่าสุดเราตั้งธุรกิจ BGCS เป็นบริษัททำ supply chain ที่ผ่านมามีหุ้นอยู่ในบริษัททำเศษแก้ว

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain จึงคิดว่าจะเอาอันนี้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของ BGC supply chain นอกจากนี้ ก็ไปซื้อ warehouse เพราะธุรกิจเราใช้แวร์เฮาส์มาก จึงต้องดึงมาเป็นส่วนหนึ่ง BGC supply chain แต่แพ็กเกจจิ้งยังเป็น core business แต่ก็มีอย่างอื่นด้วย”

ส่วนการขยายไซซ์ปีนี้ ขยายกำลังผลิตของโรงงานพลาสติก ตอนนี้กำลังประกอบเครื่องจักร ปลายปีนี้เราน่าจะมีกำลังการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้น 100% เช่นเดียวกับกระดาษจะเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น 30% สองส่วนก็เป็นการใช้เงินทุนส่วนใหญ่ของเรา ขณะที่ธุรกิจแก้ว เรามีเตาหลอมที่ต้องซ่อมทุก 12-15 ปี 10 ตัวจึงต้องหมุนวนซ่อม แต่ปีนี้นอกจากซ่อมก็จะอัพไซซ์ใหญ่ขึ้น 5-10%

เขาเล่าว่าเหตุที่มุ่งขยายพลาสติก เพราะตลาดเติบโตมากกว่า และ BGC ยังเล็กมากในธุรกิจพลาสติกและกระดาษ จึงยังมี opportunity อีกเยอะ แม้ว่าเทรนด์ของโลกมุ่งดูแลสิ่งแวดล้อม แต่พลาสติกมีการพัฒนาตนเองให้การใช้พลาสติกไม่เป็นปัญหาของโลก และการใช้รีไซเคิลต้องอาศัยการพัฒนา และลดต้นทุนอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ในธุรกิจแก้ว BGC ถือเป็น 1 ใน 2 ผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว

ต้นทุนพุ่ง-ความท้าทายใหม่

ต้นทุนปรับขึ้นมาหลายส่วนทั้งวัตถุดิบและพลังงาน ซึ่งเราใช้ก๊าซธรรมชาติในเตาหลอม และใช้ไฟฟ้าในเครื่องจักรคิดเป็นค่าประมาณ 2 พันล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของต้นทุน โดยเฉลี่ยเรามีการปรับราคาขึ้น 5-10%

“จริง ๆ แล้วเราทำธุรกิจ เราไม่ได้เดินหน้าที่ไปปรับราคาลูกค้าเป็นอย่างแรก ทุกครั้งที่ต้นทุนขึ้น เราจะแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการพยายาม ลด waste สมมุติผลิต 100 ชิ้นคุณภาพไม่ได้ต้องทิ้ง 10 ชิ้น ก็ตั้งเป้าหมายทิ้งแค่ 8 ชิ้น เท่ากับได้สินค้าเพิ่มมา 2 ชิ้นแล้ว

อย่างที่ 2 นำเครื่องมือบวกกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ทำโปรแกรมปรับลดใช้พลังงานส่วนเกินน้อยลง ช่วยลดได้หลายสิบล้านบาท ซึ่งถ้าถึงจุดหนึ่งเมื่อลีนแล้ว แต่ไม่ได้กำไรอย่างที่เราตั้งเป้าไว้ ก็ต้องเดินไปบอกลูกค้าว่าขอขึ้นราคา”

แนวโน้มตลาด

แนวโน้มตลาด BGC ตอนนี้ใช้ในประเทศ 90% ส่งออก 10% ในจำนวนนี้ 70% เป็นการส่งออกในเอเชีย และอีก 30% คือ อเมริกา ซึ่งอเมริกาอาจมีปัญหาเรื่องดอกเบี้ย แบงก์ล้ม แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่ายุโรปซึ่งสงครามยังไม่จบ แต่ถ้าดูเทรนด์ตลาดใหม่น่าจะมองแอฟริกา ซาอุดีอาระเบียที่เริ่มเปิดความสัมพันธ์ใหม่มา หรือตะวันออกกลาง แต่ยังคงไม่เกิดขึ้นในปีนี้

ส่วนตลาดภายในยัง “เติบโตได้ดี” หากสถานการณ์การเมืองนิ่ง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา ใครจะเป็นรัฐบาลก็ทำให้ตลาดเติบโต

“นโยบายการปรับค่าแรง 450 บาท มองได้ 2 มุม เช่น ค่าแรงที่แพงขึ้น การใส่เงิน 100 บาทเข้าไปในเศรษฐกิจทุกวัน เงินที่กลับมาอาจจะมากกว่านั้นก็ได้ ส่วนสุราก้าวหน้า ผมไม่พูดถึงมุมการดื่มเหล้าดีไม่ดี แต่ผมคิดว่าสุราก้าวหน้ากระตุ้นตลาด การค้าเสรีทำให้การแข่งขันมากขึ้น ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น”