กรมทรัพย์สินทางปัญญา นำทีมลงพื้นที่ส่งเสริมสินค้า GI จังหวัดพิษณุโลก เฟ้นหาสินค้า GI ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่ขึ้นทะเบียนแล้ว
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า กรมร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกันคัดสรรสินค้า GI ในจังหวัดเพิ่มเติม โดยมีการนำเสนอสินค้าที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะนำมาขึ้นทะเบียน GI เช่น สับปะรดบ้านแยง แป้งแห้วนาชุมชนหนองกุลา น้ำตาลวัดโบสถ์ ส้มซ่า กระชายดำ เป็นต้น
ซึ่งการลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกในครั้งนี้ ได้มีการประชุมหารือระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าข้างต้นทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ตลอดจนเยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้า ณ แหล่งผลิตสินค้าอีกด้วย
ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยแล้ว 187 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกมีสินค้า GI จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มีมูลค่าทางการตลาดรวมทั้งสองสินค้ากว่า 128,804,490 บาทต่อปี
โดยจังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งผลิตสินค้า กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน จนเป็นของฝากประจำจังหวัด ผลิตจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง พันธุ์นวลจันทร์ พันธุ์ปากช่อง 50 หรือพันธุ์พื้นเมือง มีเนื้อแห้งเนียนละเอียด เหนียวนุ่ม ไม่มีเม็ด รสชาติหวานเป็นธรรมชาติ ผลิตในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งสิ้น 18 ราย ปริมาณการผลิต 971 ตันต่อปี
สร้างรายได้ 83,319,490 บาทต่อปี ส่วนสินค้า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก เป็นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ทรงผลรียาว เปลือกสีเหลืองนวล ไม่ช้ำง่าย ผลสุกเนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น เนียน ไม่มีเสี้ยน เนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ เมล็ดลีบบาง รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม ปลูกในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่
อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์ มีจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งสิ้น 157 ราย ปริมาณการผลิต 2,927 ตันต่อปี สร้างรายได้ 45,485,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตและติดตามสถานการณ์การค้าสินค้า GI กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก ของผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ บริษัท บานาน่าโซไซตี้ จำกัด และร้านกล้วยตากแม่โสม โดยเฉพาะร้านกล้วยตากแม่โสมเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในปี พ.ศ. 2566 นี้
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจด้านการตลาดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญและดำเนินการเพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้า GI ไทยอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการส่งเสริมให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้าผ่านการใช้ตรา GI เพื่อยืนยันถึงคุณภาพในการผลิตและเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตสินค้าที่แท้จริง อันเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย