
สัมภาษณ์พิเศษ
คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ใกล้จะครบกำหนดการพิจารณาอนุญาต “ควบรวม” ระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กับ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอสโซ่ ที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลา 105 วัน ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าปี 2560 มาตรา 51 ที่ระบุ ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดต้องยื่นขออนุญาตควบรวม (ตามมาตรา 50 ผู้มีอำนาจเหนือตลาด ในตลาดที่มีผู้ขายมากกว่า 3 ราย หาก 3 รายแรกมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 75% และมียอดขายในปีที่ผ่านมากกว่า 1,000 ล้านบาท จะถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด) ต่อ กขค.
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางการทำงานครึ่งปีหลังในส่วนของภาพรวมธุรกิจบางจากที่ไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดโลกที่ชะลอตัว อีกทั้งน้ำมันเป็นปัจจัยที่ 5 แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ยังมีลูกค้ากลุ่มมอเตอร์ไซค์เข้ามาเติมมากขึ้น รวมไปถึงผลการพิจารณาของ กขค. ในการอนุญาตให้ควบรวมเอสโซ่ ซึ่งเป็นดีลใหญ่ของบริษัท บางจากฯ
ควบรวมแต่ไม่ผูกขาด
หลักการดูเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดจะมี 2 เงื่อนไข เงื่อนไขแรกก็คือ หลังจากควบรวมแล้ว คุณมีมาร์เก็ตแชร์เกิน 50% หรือไม่ โดยการพิจารณาจะแยกเป็นทีละตลาด ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ หรืออีกวิธีก็คือมองว่า 3 รายแรกรวมกันแล้วเกิน 75% คือ ปตท. พีที และ บางจาก เกิน 75% มียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท
จนถึงวันนี้เราก็ไม่รู้ว่า การควบรวมบางจาก-เอสโซ่มันจะเป็นการผูกขาดการแข่งขันในธุรกิจนี้ได้อย่างไร หากวิเคราะห์จะแตกต่างจากการควบรวมเคสค่ายมือถือ 3 ค่าย คือเมื่อควบรวมแล้ว ธุรกิจนั้นจะเหลือผู้เล่นในตลาดน้อยราย แต่สถานีบริการน้ำมันมีถึง 5-6 ปั๊มที่แข่งขันอยู่ในตลาด มีทางเลือกเยอะมาก แน่นอนโรงกลั่นน้ำมันก็เช่นกันมีเยอะมาก 5-6 โรง นั่นหมายถึงมีเพลเยอร์หลาย ๆ คน
ต่อประเด็นที่ว่า อาจได้รับอนุญาตให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไขหรือไม่นั้น มองว่า สุดท้ายจะเป็นคณะกรรมการที่จะต้องทำหน้าที่และก็ต้องแจ้งว่า การควบรวมจะมีเงื่อนไขอย่างไร แต่จริง ๆ แล้วยังมองว่า ตลาดน้ำมันเป็นตลาดที่มีผู้เล่นมากราย ถึงแม้ว่าจะรวมกันแล้วก็ยังเหลือผู้เล่นอีก 5-6 ราย
นั่นหมายถึง มันยังมีทางเลือก ซึ่งหากดูในต่างประเทศปล่อยผ่านการควบรวมเลย หากดูแล้วว่าไม่มีผลต่อตลาด ตอนนี้สถานะของบางจากก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงคลังถือหุ้นอยู่ 4% กว่าและถือผ่านกองทุนวายุภักษ์ 18-19% และประกันสังคมอีก 14%
เน็กต์สเต็ปหลังควบรวมผ่าน
การพิจารณาของ กขค.จนได้ข้อสรุปจะนับเป็นจุดเริ่มต้นของบางจากในสเต็ปต่อไป เราจะต้องดูผลประกอบการในไตรมาส 2/2566 ของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) ซึ่งจะออกมาประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2566 จากนั้นก็จะมาคำนวณ ซึ่งก็มีสูตรคำนวณอยู่แล้ว อย่างที่ทราบมูลค่าดีล 55,000 ล้านบาท
แต่ถ้าหากเอสโซ่มีหนี้น้อยลง ราคาก็จะขยับขึ้น แต่ถ้ามีน้ำมันในคลังสูงขึ้น ราคาก็จะเพิ่ม แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงก็จะไม่เพิ่ม ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ตัวแปร ซึ่งมีประมาณ 7-8 ตัวแปร หลังจากนั้นจะเข้าซื้อขายและทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์จากผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งตามเป้าหมายคาดว่า เราจะได้ข้อสรุปเพื่อปิดดีลนี้ได้ในปีนี้
สองปีเปลี่ยนปั๊มเอสโซ่เป็นบางจาก
ต่อมาก็จะเป็นกระบวนการหลังการเปลี่ยนผ่านในส่วนของสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ก็จะเปลี่ยนเป็น สถานีบริการน้ำมันบางจาก ประมาณ 700 แห่ง จากเดิมที่บางจากมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน 1,340 แห่ง รวมเข้ากับเอสโซ่ ก็จะเป็น 2,100 แห่ง โดยดีลนี้เราจะซื้อแต่ “สินทรัพย์” ไม่ได้ซื้อ “แบรนด์” ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าแบรนด์ จากนั้นมีเวลา 2 ปีในการเปลี่ยนแปลง
อย่างกรณี ปั๊มบางจาก-เอสโซ่ ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ก็เปลี่ยนมาเป็นบางจาก ซึ่งมองว่าในแต่ละปั๊มมีลูกค้าของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องขยายสาขาปั๊มเพิ่ม ในปั๊มก็มีหลายรูปแบบ อย่างปั๊มเก่า ๆ ในเมืองจะมีถังเก็บน้ำมันอยู่ 3 ถัง ขณะที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายประมาณ 8 ผลิตภัณฑ์ เช่น 95, 91, E20, E85 , B7 บางที่ก็มีแก๊สโซลีน มีพรีเมี่ยมแก๊สโซฮอล์ และดีเซล แต่มี 3-4 หัวจ่าย ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการแยกการจำหน่าย
ส่วนเรื่องของ “คน” นั้น ตัวบริษัทเอสโซ่ยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พนักงานของเขาก็ยังเป็นของเขาอยู่ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนเป็นพนักงานบางจาก ซึ่งจำนวนพนักงานในโรงกลั่นมีประมาณ 600 กว่าคน อยู่ที่โรงกลั่นประมาณ 400 และอยู่ที่คลองเตยอีก 200 กว่าคน
เบื้องหลังดีลประวัติศาสตร์
ย้อนกลับไป 9 ปีที่แล้ว ที่ผมมาทำงานที่บางจากในตำแหน่ง CEO แต่ผมมาอยู่ที่บางจากจริง ๆ ปี 2004 เป็นที่ปรึกษา รวม ๆ ก็ 20 ปีแล้ว จากที่เรามีหนี้อยู่ 20,000 ล้าน กระทั่งปี 2014 -2015 ปตท.จะขายโรงกลั่นบางจาก ทุกคนมองว่า เราไม่น่ารอด เพราะบางจากนอกจากจะเป็นโรงกลั่นที่เล็กที่สุดในระบบแล้ว ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันยังมีข้างบน คือ ปตท. และข้างล่างคือ PT มีบางคนมองว่า ขาย 3 ปีเจ๊งแน่นอน แต่นี่ผ่านมาครบ 1 รอบไปแล้ว
ตอนแรกที่ผมเข้ามาโรงกลั่นบางจากมีกำลังกลั่นได้ 120,000 บาร์เรล แต่กลั่นจริง ๆ เพียง 80,000 บาร์เรล เพราะกลั่นไปแล้วไม่รู้จะขายให้ใคร เราก็เพิ่มปั๊มผ่านมา 8 ปี กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรล แต่เรากลั่นได้ 125,000 บาร์เรล รวมยอดขายได้ 140,000 บาร์เรล ต้องนำเข้าอีก เราเป็นโรงกลั่นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ตามมาตรฐาน TQA ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยากมาก โดยเฉพาะสำหรับโรงกลั่นที่เล็กที่สุด
เหตุผลที่ 2 คือ โรงกลั่นบางจากตั้งอยู่ในเมือง ช่วง 10 ปีก็มีคนถามว่า เมื่อไรจะย้ายออก ผมคิดว่าจะเอาอย่างไรดี เราระหว่างสู้กับทุกคนที่มาถามและยืนยันว่า จะอยู่ที่นี่หรือเราจะโตต่อไปด้วยการขยับขยายธุรกิจ และในที่สุดตัดสินใจว่าจะปรับปรุงคุณภาพและเดินหน้าในธุรกิจอื่น ทั้งสปินออฟ BCPG ทำโซลาร์ ไฟฟ้า BBGI ทำไบโอเบส และยังไปลงทุนต้นน้ำ มีบริษัทขุดเจาะน้ำมันอยู่ที่นอร์เวย์ ทำให้มี EBITDA 15,000-20,000 ล้าน พอแข็งแรงแล้วปรากฏว่า กำลังการกลั่นของเราไม่พอขาย
หลังโควิด-19 เรามีโรงกลั่นในประเทศไทยมาเสนอขายเราถึง 3 แห่ง จากที่เคยเป็นโรงกลั่นที่ทุกคนมองว่า เราจะเจ๊ง ตอนนี้มีคนจะให้ไปบริหารโรงกลั่นน้ำมันเค้า ซึ่งเอสโซ่ก็เข้ามาในตอนนี้ เราคุยกับทีมที่อเมริกาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 เดือน มาถึงวันที่ 5 มกราคม คุยกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 3 ทุ่ม ทีมเอสโซ่ professional มาก
เขาเสนอขาย 6 หมื่นกว่า แต่ผมก็ต่อเหลือ 55,000 ก่อนตัดสินใจ เขาปิดโทรศัพท์ไม่รับสายเลย 24 ชั่วโมง โทร.ไปที่ Houston ไม่ให้ใครรับสายเลย เราได้ราคานี้มา ซึ่งนับไปนับมาแล้วเท่ากับผมซื้อ โดยได้โรงกลั่นฟรี เพราะโรงกลั่นเขาลงทุนมาต้นทุนของเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เราถือว่าเราได้ซื้อสินทรัพย์เป็นของธุรกิจไทย เพราะหากไม่ซื้อ ทางเอสโซ่ก็มีคุยกับจีน และเกาหลีด้วย
ยังต้องอยู่กับน้ำมันไปอีกนาน
รถ EV จะมาตอนไหน 1) ถ้าไม่มีรัฐบาลสนับสนุนจะต้องเป็นคนที่รักโลกจริง ๆ เพราะยกตัวอย่างประเทศจีน ใช้รถ 23-24 ล้านคัน ปีก่อนขายรถ EV ได้ 4 ล้านคัน จากไม่กี่แสนคัน ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก แต่ว่าตั้งแต่ปี 2010-2020 รัฐบาลจีนสนับสนุนรถ EV ไปทั้งหมด 2 ล้านล้านบาทกว่าจะได้ขายรถ EV 4 ล้านคัน 2) การชาร์จไฟแต่ละทีต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่รถน้ำมันแค่ 3 นาทีก็ออกจากปั๊มแล้ว
3) คนที่บอกว่า รถไฟฟ้าชิ้นส่วนน้อย แต่รถน้ำมันชิ้นส่วนเยอะ แต่เวลาชน รถน้ำมันก็เปลี่ยนเป็นชิ้น ๆ แต่ถ้ารถ EV ชนทีต้องเปลี่ยนทั้งชิ้น ค่าซ่อมก็สูง และอายุการใช้งานแบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ 1,000 ครั้ง เหมือนมือถือเข้าปีที่ 4 แบตก็เริ่มเสื่อมแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ธรรมดาลูกละไม่กี่พันบาท แต่แบตเตอรี่ EV ราคามันเป็นครึ่งหนึ่งของราคารถ ตอนนี้รถ EV จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ
ในแง่ประชากรรถยนต์ทั่วโลกมี 1,300 ล้านคัน ทุกปีเกิดรถยนต์เพิ่มอีก 80 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถ EV 10 ล้านคัน จาก 1,300 ล้านคัน ถ้ารถ EV จะมาแทนรถที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันก็ต้อง 130 ปี แต่ถ้าขายได้ปีละ 20 ล้านคันก็จะใช้เวลา 20 ปี เราเคยไปลงทุนเหมืองลิเทียมเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นราคาลิเทียม 1,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปีก่อนขยับขึ้นเป็น 80,000 เหรียญ/ตัน ราคามันขึ้นเยอะกว่าน้ำมันอีก
แต่เราขายเหมืองไปตอนราคาลิเทียม 30,000-40,000 เหรียญ/ตัน ก็ได้กำไร 4 เท่าจากที่ลงทุน 1,000 ล้านเหรียญ ได้กลับมา 5,000 ล้านเหรียญ ในส่วนประเทศไทยมีรถ 10 ล้านคัน ปีหนึ่งขายรถ 800,000 คัน ปีก่อนมีรถ EV 20,000 คัน มาปีนี้ครึ่งปีมีรถ EV 30,000 คัน ทั้งปี 60,000 คัน บนประชากรรถยนต์ทั้งหมด 10 ล้านคัน ผมถามว่าต้องใช้เวลากี่ปีจะแทนกันได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่บางจากไม่สนใจรถ EV เพราะบางจากก็ได้มีการลงทุนสถานีชาร์จ EV จนมีจำนวนมากที่สุด หรือมากกว่า 200 ชาร์จ เราก็บาลานซ์ ซึ่งข้อมูลมีคาดการณ์ว่า ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรเลย รถยนต์พาสเซนเจอร์คาร์ 70-80% ในปี 2050 ส่วนรถบรรทุกยังใช้แบตเตอรี่ไม่ได้มันยังต้องแบกน้ำหนัก เช่น บรรทุกเติมน้ำมัน 200 ลิตร แบก 200 กก. (2 ตัน) แต่ถ้าเป็นแบตเตอรี่ 2.5 ตันก็จะขนของไม่ได้ ขึ้นเขาอีก และยังต้องคำนวณเวลาชาร์จอีกจะนานขนาดไหน ฉะนั้น รถใหญ่จึงยังไม่น่าจะได้ ยังต้องใช้เวลา