
สภาหอการค้าเดินเครื่องยื่นข้อเสนอกระทุ้ง ธปท.ต่ออายุมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “สีฟ้า” ช่วยอุ้มลูกหนี้ที่ประสบปัญหากลายเป็นหนี้เสียช่วงโควิด หรือ “ลูกหนี้รหัส 21” ที่ยังไม่ฟื้น เผยเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีกว่า 1.1 หมื่นบริษัท และบุคคลธรรมดากว่า 3 ล้านคน รวมมูลหนี้กว่า 3.5 แสนล้านบาท หวั่นแบงก์ไม่ช่วยแก้หนี้ทำผู้ประกอบการฟื้นตัวสะดุด กระทบจ้างงาน ขณะที่แบงก์ชาติส่งสัญญาณไม่ต่อมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “ฟ้า-ส้ม”
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะทำงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2566ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานย่อย ของหอการค้าฯ ถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปลดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “ฟ้า-ส้ม” ในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้เอสเอ็มอี ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จนทำให้กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งข้อมูลเครดิตเรียกชื่อว่ากลุ่มลูกหนี้ รหัส 21
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
เนื่องจากมาตรการแก้หนี้ “ฟ้า-ส้ม” ของ ธปท.เป็นมาตรการผ่อนปรน และจูงใจแบงก์ให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ไปต่อได้ ซึ่งขณะนี้ยังมีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่กลายเป็นหนี้เสียและยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกมาก ที่ประชุมหารือของหอการค้าฯ จึงต้องการให้ ธปท.คงมาตรการแก้หนี้สีฟ้าเอาไว้ เพื่อจูงใจให้แบงก์ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ต่อ
“มาตรการสีฟ้ายังจำเป็น เพราะมีแรงจูงใจเรื่องการตั้งสำรองหนี้ให้กับแบงก์ แบงก์จะได้ช่วยลูกหนี้ต่อ จึงไม่อยากให้ ธปท.ปลดในสิ้นปีนี้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน เพราะ ธปท.ก็ระบุเองว่าเงินเฟ้อยังอาจจะกลับมา การขึ้นดอกเบี้ยยังไม่จบ รัฐบาลก็มาช้า การลงทุนของรัฐก็มาช้า ดังนั้น อยากให้คงมาตรการสีฟ้าไว้ โดยเฉพาะสีฟ้า ข้อ 6 คือปรับโครงสร้างหนี้และใส่เงินใหม่ ส่วนมาตรการสีส้มเป็นเรื่องที่แบงก์ทำกันปกติอยู่แล้ว เอาออกได้”
ลูกหนี้ SMEs หมื่นรายอ่วม
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอีรหัส 21 (ข้อมูล ณ มี.ค. 2566) ที่เป็นนิติบุคคลมีจำนวน 11,357 บริษัท (จำนวน 20,152 บัญชี) มูลหนี้ 54,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็น “นายจ้าง” มีความสำคัญทั้งในแง่การจ้างงาน และการเป็นแรงหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดามีอยู่ 3.1 ล้านคน (จำนวน 4.4 ล้านบัญชี) มูลหนี้ 3.1 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้วเป็นหนี้คนละประมาณ 1 แสนบาท ถือว่าไม่ได้มากบางรายก็เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในนามบุคคล ดังนั้น หากเข้ามาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องก็น่าจะฟื้นตัวได้
“อย่าลืมว่ากลุ่มนิติบุคคล รหัส 21 นี้ก่อนปี 2562 เขาเป็นลูกหนี้เกรดเอมาก่อน บางรายก็อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังฟื้นตัว เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนั้น จึงอยากให้รีบแก้ปัญหาให้กลุ่มนี้ โดยปรับโครงสร้างหนี้ ใส่เงินใหม่ หรือให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันให้ เพื่อช่วยให้กลุ่มนี้ฟื้นเร็วที่สุด”
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ทางคณะทำงานย่อยหอการค้าฯ จะรวบรวมข้อเสนอ รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ด้วย ส่งไปให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อผลักดันนำเสนอ ธปท.ต่อไป เพราะเกรงว่าถ้าไม่มีมาตรการช่วยลูกหนี้แล้วจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่มีโอกาสฟื้นตัว
นอกจากนี้ ต้องจับตาลูกหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน หรือกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีมูลหนี้คงค้างอยู่ทั้งสิ้น 6 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะตกชั้นทะลักเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น
ธปท.ส่งสัญญาณเลิกมาตรการ
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในเวทีพบปะสื่อมวลชนว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มองไปข้างหน้า หลังหมดมาตรการฟ้า-ส้มของ ธปท. เชื่อว่าจะไม่เห็นหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL cliff) แม้ว่าทิศทางจะขยับเพิ่มขึ้นบ้าง ธปท.ไม่ได้ชะล่าใจ เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ระดับสูงเกิน 90% ของ GDP ซึ่งเกินระดับความยั่งยืนที่กำหนดเพียง 80%
โดยที่ผ่านมา ธปท.พยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดอยู่ระหว่างการออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม ภายใต้การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 และมาตรการช่วยลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) กลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายได้ปกติ แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ ซึ่งจะบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2567 โดย ธปท.จะออก consultation paper ในไตรมาสที่ 3 นี้
“แม้ว่าทิศทางหนี้เสียจะขยับเพิ่มขึ้นบ้างในระยะข้างหน้า แต่เชื่อว่า จะไม่เห็น NPL cliff แบบสึนามิ เพราะถ้าหากดูสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) โอกาสไหลเป็นไปหนี้เสียมีสัญญาณลดลง เช่น สินเชื่อรถเพียง 12% บ้าน 22% บัตรเครดิต 57% และสินเชื่อส่วนบุคคล 54% ซึ่งบ้านเคยสูงสุด 33% และหากดูกลุ่ม SM ที่มีโอกาสกลับมาเป็นหนี้ปกติ มีสัญญาณเพิ่มมากขึ้นเช่น สินเชื่อบ้านมีโอกาสกลับมาเป็นหนี้ดี 30%” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ออมสินมองหนี้เสียไม่รุนแรง
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของธนาคารออมสิน ตอนนี้ไม่มีปัญหา แม้ว่ามาตรการสินเชื่อรายย่อยของ ธปท.จะหมดลงไปแล้ว โดยปัจจุบันธนาคารยังรักษาระดับเอ็นพีแอลไว้ที่ 2.63% ได้ ถือว่าค่อนข้างต่ำ และอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยยังไม่เห็นปัญหาที่เกี่ยวกับหนี้เสียที่รุนแรง เพราะธนาคารได้ผ่านจุดที่บริหารจัดการหนี้เสียที่รุนแรงมาแล้วในช่วงปี 2564-2565
นอกจากนี้ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratios) ยังอยู่ที่ระดับ 172.10% และมีเงินตั้งสำรองแตะระดับ 106,595 ล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคาร และคาดว่าสิ้นปีเงินตั้งสำรองน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 ล้านบาท
“การที่ธนาคารสามารถรักษาระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับต่ำได้ เกิดจากการที่ธนาคารทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเอ็นพีแอล และนำกำไรที่ได้มาเป็นเงินอุดหนุนให้ธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งจะเน้นไปที่ปริมาณผู้ขอสินเชื่อ มากกว่าที่จะเน้นที่มูลค่าการปล่อยกู้ และเอาฐานสินเชื่อที่ได้มาละลายเอ็นพีแอล ทำให้เอ็นพีแอลรวมลดลง ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ธนาคารใช้ในการบริหารความเสี่ยงของพอร์ต” นายวิทัยกล่าว
แบงก์ชาติไม่ต่ออายุ
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ ธปท.ยังไม่มีแนวคิดที่จะต่อมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ (มาตรการฟ้า-ส้ม) ที่จะครบอายุภายในสิ้นปี 2566 เนื่องจาก ธปท.กำลังปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ (normalize) และมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนที่จะทยอยมีผลบังคับใช้ออกมาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ธปท.ไม่ได้ต่ออายุมาตรการฟ้า-ส้ม แต่สถาบันการเงินยังคงช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง เพียงแต่มาตรการฟ้า-ส้ม เป็นมาตรการที่จูงใจ (incentive) ให้กับสถาบันการเงินเท่านั้น
“ตอนนี้เราคิดว่าจะไม่ต่อมาตรการ เพราะสถานการณ์ทยอยฟื้นตัว และนโยบายเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
เอสเอ็มอี 2.1 ล้านรายรอลุ้น
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย (สมาพันธ์ SME) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาเรื่องรหัส 21 มีการหยิบยกมาหารือเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งหากหอการค้านำมาพิจารณาเตรียมมาตรการช่วยเหลือให้กับเอสเอ็มอีจะมีประโยชน์มาก เพราะรหัส 21 NPL ช่วงโควิด มีทั้งหมด 2.1 ล้านราย ซึ่งมี SME รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย
“ธปท.พยายามแก้ปัญหาหนี้เสียที่ผ่านมาได้ในระดับหนึ่ง แต่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้เคยเสนอกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา SME ซึ่งโมเดลนี้ขอให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดตั้งกองทุน คอนเซ็ปต์คือกลุ่มที่มีหนี้ NPL รวมถึงหนี้นอกระบบให้มีโอกาสไปต่อ โดยมีสถาบันการเงินเป็นผู้ดูแล โครงสร้างการบริหาร มีสถาบันพัฒนาสินทรัพย์ NPL เพื่อการฟื้นฟู ดึงสินทรัพย์ของเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่มีมาบริหารจัดการให้เกิดมูลค่า ตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินขึ้นมา เพื่อดูระบบบัญชี และการประนอมหนี้”