ม.หอการค้า ชี้จัดตั้งรัฐบาลช้า เสี่ยงส่งออกไทยทั้งปี 2566 หดตัว 2.5%

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ม.หอการค้าไทย ชี้ส่งออกไทยทั้งปี 2566 เสี่ยงหนัก หากจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเกินสิงหาคม คาดหดตัวถึง 2.5% พร้อมเจอปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เปิดผลการ “วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2566 ภายใต้การเมืองไทยที่ยังไม่แน่นอน” ระบุว่า ม.หอการค้าฯวิเคราะห์การส่งออกไทยทั้งปี 2566 และครึ่งปีหลัง ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง โดยตั้งสมมุติฐานไว้ 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 : ตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือน สิงหาคม 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 283,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ หดตัว 1.2% (ช่วงคาดการณ์ระหว่าง -1.8 ถึง 0.8% หรือ มีมูลค่า 282,038-289,422 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 142,244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 140,545 ถึง 147,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือขยายตัว 3.1% (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 1.9% ถึง 7.2%)

กรณีที่ 2 : กรณีที่ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือนสิงหาคม 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าเท่ากับ 279,891 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 278,169 ถึง 281,614 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือหดตัว -2.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง -1.9% ถึง
-3.1%)

สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 138,398 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 136,675 ถึง 140,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือขยายตัว 0.3% (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง -0.9% ถึง 1.6%) สำหรับปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยที่ต้องติดตามที่สำคัญมีดังนี้

ทั้งนี้ หากภายในเดือนสิงหาคม 2566 นี้ สามารถตั้งรัฐบาลได้ ก็คาดว่าการส่งออกไทยจะ หดตัว 1.2% ซึ่งถือว่าการส่งออกไทย ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี แต่หากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ภายในเดือนสิงหาคม การส่งออกไทยก็จะหดตัวมากขึ้นอยู่ที่ หดตัว 2.5%

นายอัทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการส่งออกของไทย ได้แก่

1. เศรษฐกิจโลก และคู่ค้าสำคัญชะลอตัว
2. เศรษฐกิจจีนอาจโตไม่ถึง 5%
3. การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า
4. อัตราการว่างงานของประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น
5. ค่าเงินที่ผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐที่ทรงตัวในระดับสูง และมีโอกาสปรับขึ้น
6. ภาวะเอลนีโญส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร
7. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจปรับตัวสูงขึ้น จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามที่กระทบส่งออกของไทย ได้แก่

1. ต้นทุนการผลิตที่สูง เช่น ค่าไฟฟ้า พลังงาน และค่าจ้าง
2. Inflation หรือ Disinflation
3. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
4. สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ
5. การลดการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์ (De-Dollarization)

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบคือ ต้องกระจายความเสี่ยงในการส่งออกจากตลาดจีน เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ การว่างงาน รวมถึงความขัดแย้งกับสหรัฐ จึงควรหันไปยังตลาดอื่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่ยังมีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่า 5% เช่น ตลาดตะวันออกกลาง, แอฟริกา, บราซิล, รัสเซีย, เอเชียกลาง และอินเดีย เพื่อช่วยลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีน

เอลนีโญ กระทบส่งออก

สำหรับปัญหา เอลนีโญ ที่ประเมินว่าจะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรภาพรวม หดตัว -2.7 ถึง -11% นั้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสินค้าข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ ส่งออกจะลดลงราว -2.7 ถึง -11% ซึ่งขึ้นกับปริมาณน้ำฝนที่ลดลงจะส่งผลกระทยมากน้อยแค่ไหน

โดยหากปริมาณน้ำฝนลดลง 10-40% การส่งออกสินค้าเกษตรไทยจะลดลงราว 25,000 ล้านบาท แต่หากปริมาณน้ำฝนลดลงมากกว่า 40% ก็คาดว่าจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้ลดลงราว 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น ตึงต้องการให้รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาดูแลว่าจะมีนโยบาย มาตรการใดเข้ามาช่วยเหลือ ขณะนี้ รัฐบาลเวียดนาม มีนโยบายลดการส่งออกข้าวแล้ว เพื่อรองรับเรื่องความมั่นคงอาหารของประเทศ