
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพติดตามมาตรการเข้มงวด นำเข้าวัตถุอันตรายผ่านด่านตรวจพืช สั่งพักใบอนุญาต อายัด และตรวจสอบ การสำแดงเท็จ ผู้ลักลอบนำเข้าไกลโฟเซต 2 บริษัท ใน จ.ปทุมธานีและสมุทรปราการ
วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ พร้อมด้วย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง หัวหน้าด่านตรวจพืชลาดกระบัง สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน ควบคุม ตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก สินค้าพืชและวัสดุการเกษตร ตามนโยบาย
โดยได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย ของบริษัทหนึ่งย่านปทุมธานี ที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ ตรวจพบการนำเข้าสินค้าวัตถุอันตรายสารไกลโฟเซต ที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีความผิดตามมาตรา 45 (1) ประกอบ มาตรา 47 (1) (5) นำเข้าและครอบครองวัตถุอันตรายปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งกรณีนี้พบว่ามูลค่าการกระทำความผิดมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท เข้าลักษณะคดีพิเศษ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ประสาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าร่วมการสืบสวน ซึ่งจากการตรวจสอบพบของเหลวสีเหลือง ที่ผลตรวจพบว่าเป็นสารไกลโฟเซต จำนวน 721 ถัง ถังละ 200 ลิตร
ปริมาณรวมทั้งสิ้น 144,200 ลิตร จึงสั่งอายัดไว้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และขอให้ริบของไว้เพื่อดำเนินการทำลายต่อไป นอกจากมีความผิดทางอาญาแล้ว ผู้ประกอบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเชิญกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มาบรรยายให้ความรู้แนวทางและกรรมวิธีในการสอบสวนที่เข้มข้นแก่เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร
นอกจากนี้ ได้สั่งอายัดและสั่งขยายมาตรการเข้มงวด ในการนำเข้าวัตถุอันตราย ผ่านด่านตรวจพืช เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตราย อีก 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 66-15 ก.ย. 66 สืบเนื่องจากการที่กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการดังกล่าว มาแล้ว 60 วัน
และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจพบว่า บริษัทแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ ได้ยื่นใบแจ้ง (การนำเข้าราชอาณาจักร/ส่งออกนอกราชอาณาจักร และนำเข้าออกจากด่านศุลกากร) แจ้งนำเข้าวัตถุอันตรายสาร Validamycin 3% W/V SL ปริมาณการนำเข้า 48,000 ลิตร ว่ามีลักษณะของภาชนะบรรจุ 2 ลักษณะ เมื่อเปิดตรวจสอบพบสารที่เป็นของเหลวที่บรรจุ
ในภาชนะถังพลาสติก 200 ลิตร มีสีแตกต่างกัน คือ ตรวจพบสารของเหลวสีเหลืองจำนวน 49 ถัง และของเหลวสีเขียวจำนวน 191 ถัง ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สารสีเหลืองเป็นสารไกลโฟเซตเป็นการลักลอบนำเข้าไกลโฟเซต โดยการสำแดงเท็จ ในเอกสารประกอบการนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยง
การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตามมาตรการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง
กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พักใช้ใบอนุญาตนำเข้า ดำเนินคดีอาญาตาม พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แจ้งศุลกากรดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และแจ้งความคดีอาญาในการสำแดงเอกสารเท็จต่อเจ้าหน้าที่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ในขณะนี้ มีเพจปลอมแอบอ้างใช้ชื่อ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เพื่อจำหน่ายสินค้าในกรณีดังกล่าว อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้สารวัตรเกษตร ร่วมกักองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าดำเนินการตรวจสอบทันที โดยซื้อสินค้าเพื่อส่งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ว่าเป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือไม่
หากพบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะขยายผลการจับกุมและดำเนินคดีต่อไป ซึ่งหากเกษตรกรท่านใดซื้อสินค้ามาแล้ว สามารถประสาน ทางสารวัตรเกษตรไซเบอร์ของกรมวิชาการเกษตร ที่เบอร์ 06-3210-6252 เพื่อให้ข้อมูลดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ได้กำชับให้นายตรวจพืชต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้า ในคู่มือการปฏิบัติงานของพระราชบัญญัติกักพืชฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เต็มความสามารถ โดยเฉพาะสินค้าที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค และที่เป็นวัตถุดิบในโรงงานผลิต เช่น
มะพร้าวแก่ปอกเปลือก และกระเทียม รวมถึงการเฝ้าระวังโรคและศัตรูพืชที่อาจติดมากับสินค้าจนนำมาสู่การแพร่ระบาดของศัตรูพืชต่างถิ่นที่เข้ามาระบาด จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงระบบการผลิตพืชภายในประเทศไทย
“การลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพในวันนี้ ได้สั่งการให้เข้มงวดในการควบคุมการนำเข้า และส่งออกสินค้า ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริโภคต้องได้รับความปลอดภัยทางอาหาร เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะวัตถุอันตรายทางการเกษตร ในกลุ่มสารกำจัดโรค แมลงศัตรูพืช และสารกำจัดวัชพืช”
“นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้หารือกับ หอการค้าไทย-อิสราเอล และบริษัท Seetrue ประเทศอิสราเอล ในความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีระดับสูง (AI) มาใช้ X-Ray ตรวจสอบสินค้าพืช ณ ด่านตรวจพืช”