วิกฤตราคาไก่ไตรมาส 3 ตกฮวบ ตลาดโลกดีมานด์หด-สต๊อกล้น

เกษตรกรวิกฤตราคาไก่ Q3/2566 ดิ่งเกือบ 10 บ./กก. เหลือ 35-36 บาท เอกชนชี้ดีมานด์ตลาดโลกชะลอตัว-สต๊อกล้น สวนทางเกษตรกรแห่เลี้ยงเพิ่ม หลังยอดส่งออกครึ่งทางโตฉลุย 9% ตลาดจีนฟื้นโควิดนำเข้าเพิ่ม 105% ลุ้นปลายปีดันส่งออก Q4 พลิกกลับได้ตามเป้า 1 ล้านตัน ตั้งรับความท้าทายวิกฤต “เอลนีโญ-ภาษีคาร์บอน”

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาไก่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก่อนที่ราคาอยู่ที่ 40 บาท/กิโลกรัม ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาไก่เป็น (มีชีวิต) ลดลงเหลือ 35-36 บาท/กิโลกรัมแล้ว หากเทียบเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่เคยสูงสุดที่ 43-45 บาท เท่ากับปรับลดลงเกือบ 10 บาทแล้ว

จึงต้องรอดูสถานการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อหรือปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาไก่ลดลงมาจากตลาดส่งออก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของยอดขายไก่ทั้งหมด เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวเงินเฟ้อเพิ่มทำให้กำลังซื้อลดลง จากที่เคยมียอดดีมากช่วงครึ่งปีแรก

“ตอนนี้เริ่มชะลอตัวลงแม้จะยังมีคำสั่งซื้อมาบ้าง แต่จะซื้อเฉพาะสินค้าที่มีราคาถูกลง เช่น ญี่ปุ่นกำลังซื้อน้อย เพราะค่าเงินเยนอ่อน 40 กว่าเยนต่อเหรียญ ขณะที่ตลาดใหม่ ๆ ที่ขยายออกไปอย่างตะวันออกกลาง ก็มีคู่แข่งอย่างบราซิล ไปแข่งขันส่งออกมากขึ้น

ส่วนตลาดในประเทศที่มีสัดส่วนยอดขาย 70% เป็นตลาดชิ้นส่วน (บายโปรดักต์) คนละชิ้นส่วนกับตลาดส่งออก ก็ได้รับผลกระทบชะลอตัวเช่นกัน จากการบริโภคช่วงหน้าฝนลดลง แต่น่าจะดีขึ้นหลังเทศกาลกินเจ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนไก่เถื่อนจากตุรกี หรืออีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น บราซิล เข้ามาเป็นกล่อง ๆ ลักลอบมาจำหน่าย ทำให้ราคาไก่ในประเทศไม่ปรับขึ้น”

ขณะที่ปริมาณผลผลิตไก่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้เลี้ยงเพิ่มปริมาณการเลี้ยง เพราะปีที่ผ่านมาราคาดี นับจากเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ทำให้หมูเสียหาย คนหันมาบริโภคไก่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิต (เชือดไก่) 37-38 ล้านตัวต่อสัปดาห์ แม้ราคาจะลดลง แต่ผู้เลี้ยงไม่สามารถชะลอการเชือดได้ เพราะหากเลี้ยงต่อไปไก่จะกินอาหารทุกวัน ตัวโตขึ้น ดังนั้นต้องเชือดเก็บเข้าห้องเย็นสต๊อกรอไว้

ADVERTISMENT

ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง

นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงยังประสบปัญหาขาดทุนจากต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะต้นทุนข้าวโพดสำหรับผลิตอาหารสัตว์ในขณะนี้ปรับขึ้นไปทรงตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 11 บาท หลังสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนกลับมาตึงเครียดขึ้น โดยรัสเซียยกเลิกสัญญาไม่ให้ยูเครนส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำ

ทำให้ราคาปรับสูงขึ้นไปอีก และมีแนวโน้มว่าราคาอาหารสัตว์จะยังไม่น่าจะปรับลดลงในเร็ว ๆ นี้ จึงคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ราคาขายยังต่ำลงต่อเนื่อง แต่ต้นทุนการเลี้ยงไม่ลดลงเลย อาจส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงในลำดับต่อไป

ADVERTISMENT

“ตอนที่ไก่ราคาเท่านี้ในอดีต ราคาข้าวโพด 9 บาท แต่ตอนนี้ราคาไก่ลดมาอยู่ที่ 35-36 ต่อกิโลกรัม แต่ราคาข้าวโพดไม่ลดลงเลย ยังคงอยู่ที่ 11 บาทกว่า ส่วนกากถั่วเหลืองก็ 23 บาท/กิโลกรัม เท่ากับผู้เลี้ยงขาดทุนแล้ว ถ้าราคาต่ำกว่า 40 บาท/กก. จึงต้องลดการเลี้ยง ปรับสมดุลถ้าราคายังไม่ดีขึ้น

ส่วนกรณีไข้หวัดนกในบราซิล หากรุนแรง ญี่ปุ่นและอียูอาจกลับมาซื้อไทย ก็น่าจะดึงราคาขึ้นได้ ดังนั้นหลังจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์สต๊อกของคู่ค้าด้วยว่าจะเป็นอย่างไร จะกลับมาซื้อเพื่อไว้ใช้ในไตรมาสสุดท้ายที่เป็นช่วงเตรียมสินค้าต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่หรือไม่”

ครึ่งปีแรก “จีน” โตทะลุ 100%

อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งออก สมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทยยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2566 ที่ 1,070,000 ตัน เพิ่มจากปีก่อนที่ 1,040,000 ตัน เพราะภาพรวมในครึ่งปีแรก 2566 ยอดส่งออกไก่ในเชิงปริมาณขยายตัว 9% โดยตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น 224,000 ตัน จากปีก่อนตลาดญี่ปุ่นทำได้ 458,000 ตัน

รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร ส่งออกได้แล้ว 84,000 ตัน จากปีก่อนที่ 150,000-160,000 ตัน ตลาดสหภาพยุโรป 75,000 ตัน จากปีก่อนที่มีปริมาณ 180,000 ตัน เดิมสองตลาดนี้จะรวมกันอยู่ที่ 320,000 ตัน

เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดจีนที่เคยซบเซาในช่วงโควิดปรับตัวดีขึ้นมาก หลังยกเลิกมาตรการโควิด และยกเลิกประกาศแบนโรงงานไทย 9 แห่งเมื่อปีก่อน ทำให้ตัวเลขการส่งออกครึ่งปีแรก 2566 เติบโตถึง 105% ปริมาณ 57,000 ตัน ซึ่งแนวโน้มครึ่งปีหลังอาจแผ่วลงกลับไปเท่าเดิม จากปีก่อนที่โรงงานโดนแบน 84,000 ตัน จากปีปกติอยู่ที่ 100,000 ตัน

ตั้งรับเอลนีโญ-ภาษีคาร์บอน

ขณะเดียวกันในปีหน้ายังต้องติดตามปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเอลนีโญที่จะกระทบ 2 ส่วน คือ กระทบผลผลิตธัญพืชลดลง ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อากาศร้อนมาก ทำให้ไก่กินอาหารได้น้อยลง จึงไม่เติบโตได้ดีเท่าที่ควร

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกไก่ยังต้องเตรียมพร้อมกรณีการใช้มาตรการทางการค้าของตลาดส่งออกสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปที่จะเริ่มใช้มาตรการป้องกันการบุกรุกป่าก่อน จากที่จะบังคับใช้ภาษีคาร์บอนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ดังนั้นหากผู้ส่งออกรายใดใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์จากแหล่งใดก็ต้องเตรียมพร้อม เช่น ขอใบรับรองว่าไม่ได้มีการปลูกพืชอาหาร“เรื่องคาร์บอนฟรุตพรินต์มีแนวโน้มว่าจะนำมาใช้ แต่ยังไม่ได้กำหนด คาดว่าจะเริ่มจากพืชจากอุตสาหกรรมก่อน พวกพืชพวกถั่วเหลืองอาหารสัตว์

แต่ส่วนที่จะเริ่มก่อน คือเรื่องห้ามรุกป่า เราต้องเตรียมตัวกรณีผู้ซื้อต้องขอใบรับรองว่าเป็นถั่วเหลืองที่ไม่ได้ทำลายป่า จะทำให้ราคาแพงขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการต่อรองราคา ตอนนี้อัตราคาร์บอนฟุตพรินต์ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน

แต่หลักการคือ ไก่ไทยมีการปล่อยคาร์บอนเท่าไร มาตรฐานอียูเท่านี้ ถ้าเกินต้องเสียภาษีเพิ่ม ลักษณะเดียวกับ CBAM (ภาษีคาร์บอน) ซึ่งอาจต้องมีบริษัทผู้ตรวจสอบมารับรอง อียูประกาศล่วงหน้าก่อนให้เราเตรียมตัว”