ธุรกิจเอสเอ็มอีกระดูกสันหลังของประเทศ บอบช้ำจากการเผชิญวิกฤตโควิดยาวนาน 3 ปี เมื่อกำลังจะเริ่มฟื้นต้องมาเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น สภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อชะลอตัว ทำให้หลายรายต้องแบกภาระหนี้สิน และยังต้องดูแลแรงงานในภาคธุรกิจอีกหลายล้านคน
รัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้ขับเคลื่อนนโยบายที่เรียกว่า “การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากเอสเอ็มอี” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า SMEs-GP เมื่อปี 2563 เพิ่มแต้มต่อให้เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มูลค่านับล้านล้านบาท
ด้วยเหตุที่เงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่ทุกคนต่างรู้ว่า ต้องอิงเรื่องราคาต่ำสุดและประโยชน์สูงสุดเป็นเกณฑ์ ทำให้ราคาสินค้าและบริการของเอสเอ็มอีเสียเปรียบและยากจะเข้าถึง แต่หากปล่อยเอสเอ็มอีล้มย่อมกระทบลามไปถึงเศรษฐกิจฐานราก
ส.อ.ท.หนุนอีกทาง
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ SMEs-GP ได้รับความช่วยเหลือทั้งจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
รวมถึงสำนักงบประมาณ ทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 481,831 ล้านบาท คิดเป็น 41% จากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างรัฐ 1.16 ล้านล้านบาท
โดยมี 41,860 หน่วยงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากเอสเอ็มอี (ตามกราฟิก) สินค้าหลักที่ได้รับความนิยม คือ บริการเกี่ยวกับก่อสร้าง เครื่องเขียน และอุปกรณ์สำนักงาน ยูนิฟอร์ม และเครื่องมือแพทย์
“เป้าหมายปี 2566 จะผลักดันให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยเอสเอ็มอีให้ได้เกิน 50% ในสัดส่วนของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งโดยปกติการจัดซื้อจัดจ้างจะมีเงื่อนไขในการกำหนดราคาที่ถูกที่สุดจึงจะชนะ โครงการนี้ให้แต้มต่อเอสเอ็มอีประมาณ 10% เช่น ราคาสินค้ารายใหญ่เสนอ 100 บาท เอสเอ็มอีเสนอราคา 110 บาท ก็ยังมีโอกาสแข่งขันได้ และหากขึ้นทะเบียน made in Thailand หรือ MIT กับ ส.อ.ท.จะได้แต้มต่อเพิ่มอีก 5% ด้วย”
1.5 แสนรายได้ประโยชน์
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ SMEs-GP ถึง 154,328 ราย และได้รับอนุมัติ 119,086 ราย หากพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนกับจำนวนเอสเอ็มอีทั้งประเทศที่มี 3,198,484 ราย คิดเป็นผู้สนใจลงทะเบียนเพียง 5% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศ
ซึ่งในกลุ่มนี้เป็น นิติบุคคล 77,354 ราย หรือคิดเป็น 65% บุคคลธรรมดา 39,868 ราย 33.5% และวิสาหกิจชุมชน 1,864 ราย หรือ 1.5%
ทั้งนี้ ธุรกิจที่เข้าร่วมเป็นภาคบริการ 47% ภาคการค้า 42% ภาคการผลิต 10% และภาคธุรกิจเกษตร 2% โดยจะมีทั้งสินค้ากลุ่มก่อสร้าง 40% กลุ่มสินค้า 37% กลุ่มบริการจ้างทำ-เหมา 19% กลุ่มเช่า 3% และจ้างที่ปรึกษา 1%
“สมาพันธ์ขอให้รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้มาตรการ SMEs-GP เป็นมาตรการยั่งยืนที่มุ่งเป้าไม่เป็นโครงการเฉพาะกิจ สร้างการตระหนักรู้ และความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมในการเข้าไปได้รับสิทธิประโยชน์แต้มต่อ ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์เชิงรุก”
ลดเงื่อนไขชำระเงินให้เร็ว
แนวทางในการส่งเสริมโครงการนี้ ขอให้ปรับเงื่อนไขระยะเวลาชำระเงิน (credit term SMEs) ให้มีระยะสั้น ระบบชำระเงิน e-Payment และคืนค้ำประกันสัญญาที่รวดเร็ว ซึ่งในบางประเภทอย่าง สหรัฐอเมริกามี US Federal Prompt Payment Act (PPA) กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจ่ายเงินให้แก่คู่สัญญาหลักเอสเอ็มอีภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งให้ชำระหนี้ (invoice)
โดยงวดสุดท้ายต้องจ่ายภายใน 30 วัน กำหนดให้การจ่ายเงินของคู่สัญญาหลัก (prime contractor) ไปสู่ผู้รับจ้างช่วง (subcontractor) และผู้ขายสินค้า (suppliers) ในลำดับต่อ ๆ ไปต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับชำระจากคู่สัญญาของตนเองในลำดับก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ มีกลไกการติดตามและรายงานผล โดย small business administration (SBA) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ให้ SMEs โดยรับปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบภาครัฐไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือกับผู้ประกอบการ SMEs จัดทำข้อเสนอการปรับปรุงกฎระเบียบของภาครัฐ เพื่อลดภาระให้แก่ SMEs
รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าของการผลักดันข้อเสนอ ให้หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งนำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญมีหน้าที่ต้องรายงานผลการดำเนินงานให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกาทราบทุกปี
เพิ่มสัดส่วนจัดจ้าง SMEs 50%
“อยากให้รัฐบาลใหม่พิจารณากำหนดสัดส่วน SMEs-GP ซื้อสินค้าเอสเอ็มอีตามโมเดลที่เคยทำเมื่อปี 2564 ซึ่งกำหนดสัดส่วนการจัดจ้างเอสเอ็มอีไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ของการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละหน่วยงาน ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถทำได้ถึง 44% แต่มาตรการนั้นได้ถูกยกเลิกไป ดังนั้น ควรนำกลับมาแก้ไข ปรับปรุง และกำหนดให้ไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อให้เกิดความตื่นตัวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพิ่มแรงกระเพื่อมให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและเอสเอ็มอี”
ทั้งนี้ แนวทางการเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างเอสเอ็มอีนั้น มีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศ ที่กำหนดไว้ในอัตราต่าง ๆ กัน เช่น เม็กซิโก กำหนดเป้าไม่น้อยกว่า 50% จีน 30% อินเดีย 25% และสหรัฐอเมริกา 23%
ขณะเดียวกัน ขอให้พัฒนาระบบ digital blockchain SMEs-GP ที่มีระบบบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ คือกระบวนการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไข (TOR) ให้ความคิดเห็น การประกาศทั้งรูปแบบ on-site และ online วงกว้าง สามารถเข้าถึงได้ ในแต่ละพื้นที่ใช้ AI ช่วย
และให้สามารถติดตามสถานะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบบ digital footprint SMEs-GP ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
“ที่สำคัญต้องมีการวางระบบตรวจสอบนอมินีแฝงจากบริษัทใหญ่แตกเป็นบริษัทเล็ก ซึ่งต้องเข้าระบบ มีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ว่ามีการจดทะเบียนใหม่จากหุ้นส่วนเชื่อมโยงรายใหญ่หรือไม่ เพราะจะทำให้มาตรการดังกล่าวไม่ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการช่วยรายย่อย”
กลไกขับเคลื่อนจีดีพี SMEs
ที่ผ่านมามาตรการ SMEs-GP เป็นกลไกสำคัญในการกระจายโอกาสและกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและท้องถิ่น เพื่อให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทำให้จีดีพีเอสเอ็มอี ปี 2565 มีมูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35% ของจีดีพีทั้งประเทศ ที่มูลค่า 17.3 ล้านล้านบาท
โดยเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออก มีเพียงราว 22,000 ราย มูลค่าการส่งออกปี 2565 เพียง 1.09 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 13.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์ส่งออกไทยยังมีปัจจัยลบมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน จึงทำให้ต้องพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลักต่อไป
โครงสร้าง GDP SMEs ไทยมีสัดส่วนภาคการบริการ 43.6% ภาคการผลิต 35.4% ภาคการค้า 20.5% และภาคธุรกิจเกษตร 0.5% ขณะที่ รายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดามีมากถึง 2.742,416 ราย คิดเป็นสัดส่วน GDP เพียง 3% หรือ 449,046 ล้านบาทเท่านั้น
“มาตรการ SMEs-GP จึงควรให้โอกาสดึงดูดรายย่อยเข้ามาให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เพื่อการกระจายรายได้ให้ท้องถิ่นฟื้นตัว และจูงใจเข้าสู่ระบบการพัฒนาผู้ประกอบการของภาครัฐให้ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคือกระดูกสันหลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”