เปิดปัจจัยชี้ขาด วิเคราะห์จุดแข็ง ตัวเต็ง CEO ปตท.

บุรณิน รัตนสมบัติ-ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่-คงกระพัน อินทรแจ้ง-พงษ์พันธ์ อมรวิวัฒน์-วรวัฒน์ พิทยศิริ
บุรณิน รัตนสมบัติ-ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่-คงกระพัน อินทรแจ้ง-พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์-วรวัฒน์ พิทยศิริ

ก่อนที่ “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 10 จะครบวาระในการดำรงตำแหน่งเดือนพฤษภาคม 2567 ได้ปรากฏสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้วว่า จะไม่มีการต่อวาระการดำรงตำแหน่ง CEO ตามมาด้วยการเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด ปตท. พร้อม ๆ กับการปรากฏตัวของบรรดา “แคนดิเดต” ที่พร้อมจะเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไป

ไม่ว่าจะเป็น นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล, นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

โดยบรรดาตัวเต็งเหล่านี้ล้วนได้ยื่น “ใบสมัคร” กับคณะกรรมการสรรหาก่อนที่จะปิดรับสมัครในวันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ADVERTISMENT

กุมเงินลงทุน 1 ล้านล้าน

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไป จักต้องบริหารองค์กรพลังงานอันดับ 1 ของประเทศที่มีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 3.5 ล้านล้านบาทแล้ว CEO คนใหม่ยังต้องบริหารจัดการ “งบฯลงทุน 5 ปี (ปี 2567-2571)” ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงิน 89,203 ล้านบาท ไม่นับรวมงบฯที่ ปตท. ได้จัดเตรียมไว้สำหรับลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 106,932 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวม 2 ก้อนนี้เกือบ 200,000 ล้านบาท

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ปตท.ไม่ได้มีสถานะเพียงเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินเข้ารัฐสูงสุดเป็นอันดับ 5 เท่านั้น (ปตท.นำส่งรายได้ให้รัฐ ปี 2563 อยู่ที่ 36,535 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 82,536 ล้านบาท และปี 2565 อีก 86,395 ล้านบาท และล่าสุด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2566 กลุ่ม ปตท.นำเงินส่งรัฐ 48,268 ล้านบาท) แต่ ปตท.ยังเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐในการดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงาน และยังถูกใช้บริหารจัดการนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไป “อุดหนุน” ราคาพลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านทางมาตรการต่าง ๆ

แต่กระนั้นก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการดำรงตำแหน่ง CEO ของ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ก็ได้เปิดศักราชใหม่ของ ปตท. โดยมุ่งไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Powering Life with Future Energy and Beyond) รวมทั้งการปรับเพิ่มพอร์ตการลงทุนในธุรกิจพลังงานอนาคต (Future Energy) และธุรกิจใหม่ (New Business) โดยมีเป้าหมายจะสร้างกำไรจากธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่มากกว่า 30% ในปี 2573 รวมไปถึงการสนับสนุนงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานจากภาวะวิกฤตให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ใครเป็นใครใน ปตท.

สำหรับ “โปรไฟล์” แคนดิเดตทั้ง 5 คน หากวิเคราะห์ คุณสมบัติและประสบการณ์การทำงาน จะพบว่า ทุกคนเป็น “ลูกหม้อ” ที่มีความรู้ความเข้าใจภาพรวมธุรกิจของ ปตท. เพียงแต่แตกต่างกันที่ความเชี่ยวชาญในแต่ละสายงานที่ดูแลอยู่ ซึ่ง “ผลงาน” ที่ผ่านมาจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่หนุนให้ก้าวสู่การขึ้นรับตำแหน่ง CEO ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 2567 ว่า จะเข้มข้นขึ้นมากเพียงใด

โดยไล่เรียงจากคนแรกที่กระแสมาแรงสุดในนาทีนี้ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล วิศวเคมี เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิษย์พี่ศิษย์น้องกับ CEO คนปัจจุบัน เมื่อพลิกดูประวัติการอบรมปรากฏ จนครบทุกสถาบันที่ระดับผู้นำต้องเรียน

ADVERTISMENT

ไม่ว่าจะเป็น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) 60, วิทยาลัยพลังงาน วพน. 14, วิทยาลัยตลาดเงินตลาดทุน (วตท.) 30 หลักสูตรสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หรือแม้แต่หลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

ขณะที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC บริษัทที่เป็น “คอร์บิสซิเนส” ของ ปตท. ปัจจุบันก็ติดอันดับ “บริษัทโกลบอล” ท็อป 500 ของฟอร์จูนไปเรียบร้อยแล้ว จากความเชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมีกว่า 25 ปี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ 3 Step คือ Step Change มุ่งนำนวัตกรรมมาต่อยอดปิโตรเคมีคุณภาพสูง Step Out ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ วางสหรัฐเป็นบ้านหลังที่ 2 ลุยเข้าซื้อหุ้น บริษัท allnex มูลค่า 1.48 แสนล้านบาท เพื่อผลิตสารเคลือบผิว และสารเติมแต่งสำหรับงานอุตสาหกรรม

และ Step up นำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านการบริหารจัดการ ความยั่งยืน (Sustainability) และยังขับเคลื่อนโปรเจ็กต์นครสวรรค์ไบไอคอมเพล็กซ์ ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ร่วมกับบริษัท น้ำตาล KTIS และ Nature Works Asia Pacific ยักษ์ใหญ่ด้านไบโอพลาสติกจากสหรัฐ หากสำเร็จจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ

ตามมาด้วย นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็น “ลูกไม้ใต้ต้น” ของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และยังเป็นพี่ชาย “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีกด้วย จบการศึกษาวิศวกรรมโยธา จาก Carnegie Mellon University ประเทศสหรัฐ ผ่านการอบรมหลักสูตรสำคัญ ๆ ไม่น้อย ทั้ง วพม. 1, วตท. 29 รวมถึง IOD

เส้นทางการทำงานของนายพงษ์พันธุ์โดดเด่น มาจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทลูกที่แข็งแกร่งในด้านอัพสตรีมของกลุ่ม ปตท. และด้วยประสบการณ์ด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่ต้องทำงานข้ามโลกในการบริหารสำนักงานทั่วโลก 6 แห่ง คือ ไทย สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลอนดอน และฮิวส์ตัน สหรัฐอเมริกา

เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ ปตท. และยังริเริ่มแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยการนำ ปตท.เข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) จากเดิมที่เน้นการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ สร้างอนาคตธุรกิจยั่งยืนตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้บริหารรุ่นใหม่

ส่วนตัวเต็งอีกคนที่เริ่มถูกจับตามองก็คือ ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมด้านปิโตรเลียม จาก The University of Texas at Austin สหรัฐ โดยเริ่มงานใน ปตท. ปี 2557 ในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่าย บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด และอีกหลายตำแหน่งที่น่าสนใจอย่าง กรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เมื่อ 1 ต.ค. 2562-30 ก.ย. 2564 ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท.และกัลฟ์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างมาบตาพุดเฟส 3

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่ง รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด มาจนถึงปัจจุบันก็รวมเวลา 7 ปี นอกจากกลุ่มก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังมีตำแหน่ง กรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ด้วย

ตามติดมาด้วยสายวิชาการอย่าง นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในอีกหมวกคือ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย นับเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้าน New Business มีความพร้อมที่จะนำพาการพัฒนา ปตท. ให้เป็นองค์กรที่เติบโตด้วยนวัตกรรมใหม่

ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้ถูกวางตัวให้ดูแลสายงานธุรกิจใหม่ในกลุ่ม ปตท. ไม่ว่าจะเป็น บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เน้นธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ ได้ลงทุนผลิตยาร่วมกับ บริษัทโลตัส จากไต้หวัน ธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ที่มีการร่วมลงทุนกับ NRF ตั้งโรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท HORIZON PLUS ร่วมกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ที่กำลังจะเริ่มไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 นี้ ธุรกิจที่สร้างเสริมอีโคซิสเต็มยานยนต์ไฟฟ้าทั้งโรงงานแพ็กและประกอบแบตเตอรี่ จุดสวอปแบตอีวี

ที่ผ่านมา นายบุรณิน เคยผ่านประสบการณ์ทำงานใน ปตท.ในหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นของ ปตท. และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยนายบุรณิน จบการศึกษาปริญญาตรีจากวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งยังจบหลักสูตรสำหรับผู้บริหารอย่าง วตอ. 30, วปอ. 64 และ IOD

ส่วนคนสุดท้ายที่ใครก็ไม่เชื่อว่า จะประกาศตัวลงสมัคร CEO ปตท. อย่าง นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัทหัวหอกด้านพลังงานไฟฟ้าของ ปตท. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการต่อยอดการลงทุนไฟฟ้าพลังงานสะอาด 8,000 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 12,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 โดยได้ขยายการลงทุนออกไปยังประเทศอินเดีย

โดย นายวรวัฒน์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารหลายหลักสูตร เช่น IOD เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และได้ร่วมงานกับกลุ่ม ปตท.มากกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกลุ่ม ปตท.

เช่น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แผนกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ปฏิบัติงาน Secondment ตำแหน่ง President บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด

ณ นาทีนี้ หากวัดจาก “ประสบการณ์” ความเป็นลูกหม้อ ปตท.ของผู้สมัคร CEO แต่ละคน อาจเรียกได้ว่า “กินกันไม่ลง” ในแต่ละภาคส่วนของความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารองค์กรที่ตนเองรับผิดชอบ แต่การเป็น CEO ปตท.เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น ที่จะขับเคลื่อน ปตท. ทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจใหม่ ๆ ให้ก้าวไปข้างหน้า รวมไปถึงการรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ

จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาที่จะต้องคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการดำรงตำแหน่ง CEO ปตท. คนต่อไป