
“ธนวรรธน์” เผยไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เหตุดอกเบี้ยปัจจุบันยังเอื้อต่อการรักษาระดับเงินเฟ้อ พร้อมชี้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีนี้คือ ชำระคืนหนี้ในตลาดตราสารต่าง ๆ มูลค่าหลายแสนล้านบาท ที่เริ่มเห็นหลายบริษัทผิดนัดชำระ หรือเลื่อนชำระแล้ว
วันที่ 11 มกราคม 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของไทยอยู่จุดสมดุล เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบที่มีการประเมินไว้ 1-3% โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก ซึ่งเหมาะสมกับประเทศที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการมีเงินออมมากกว่าเงินลงทุนจะถือว่าประเทศไม่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ถือว่ามีเสถียรภาพทางการเงิน และมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการใช้นโยบายลดค่าครองชีพที่ช่วยเหลือในด้านราคาค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่รัฐบาลเข้ามา ดังนั้น การที่ราคาพลังงานลดลงมาจากการแทรกแซงกลไกราคาผ่านนโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาล ไม่ได้มาจากกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง จึงไม่ถือว่าเศรษฐกิจซึมตัวลง เพราะเงินเฟ้อติดลบ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันยังเอื้อต่อการรักษาระดับเงินเฟ้อ ไม่จำเป็นต้องขยับขึ้น
อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ ยังมีโอกาสจะเห็นเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เนื่องจากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายแทรกแซงกลไกราคาพลังงานต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อเป็นบวกได้ เช่น มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากโครงการ Easy E-Receipt, ราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลแดงที่อาจส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่ง และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเหล่านี้จะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อระยะปานกลางปรับตัวสูงขึ้นได้
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่วิกฤต จากอัตราการขยายตัวจีดีพีของไทยไม่ได้ติดลบ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง มีแค่ปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้ในบางบริษัทเท่านั้น ไม่ได้ลุกลามจนสั่นคลอนระบบการเงิน ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในมุมมองทางวิชาการจึงไม่เข้าเงื่อนไขของวิกฤตเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ 1.ปัญหาสงครามอิสราเอล-ฮามาส, รัสเซีย-ยูเครน และความไม่สงบในทะเลแดง 2.สถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะมีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และ 3.ปัญหาการเลื่อนชำระตราสารหนี้ของหลายบริษัทในไทย ที่เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากหลายบริษัทมีการผิดนัด หรือเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้มากขึ้น จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดทุน ซึ่งอาจจะมีผลต่อมุมมองความมั่นคงในระบบการเงินไทย