
โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ออกโรงตอบ 5 ข้อกังวลนโยบายพลังงาน 3 ผู้ทรงคุณวุฒิ
วันที่ 2 มีนาคม 2567 นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า รับทราบ “5 ข้อกังวลนโยบายพลังงาน” จากท่าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร, ท่านณรงค์ชัย และท่านคุรุจิต 3 ผู้ทรงคุณวุฒิเบอร์ต้น ๆ ในประเทศ ต่อการบริหารนโยบายกระทรวงพลังงาน
ผมลอรี่ ในฐานะโฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน พอทราบว่ามีงานตั้งโต๊ะแถลง ก็อยากไปร่วมนั่งฟังในงานด้วยตัวเอง แต่ติดภารกิจที่สภา ได้ฟังย้อนหลัง ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นส่วนตัวไว้ดังนี้
[ประเด็น 1-2 เรื่องความเป็นห่วงเรื่องหนี้กองทุนที่เกิดจากการพยุงราคาดีเซล และเรื่องลดค่าไฟ]
⬛ เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้ชื่นชอบแนวทาง “จ่ายก่อนคืนทีหลัง” เท่าไหร่นัก แต่เป็นมาตรการเดียวที่ลดความเดือดร้อนประชาชนได้ในระยะสั้น ภายใต้โครงสร้างพลังงานเดิมที่มีอยู่
ระยะยาวกระทรวงมีการผลักดันโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ปลดข้อจำกัดให้ประชาชนมีไฟฟ้าที่พึ่งพาตัวเองได้, กฎหมายน้ำมันสำหรับเกษตรกร และผู้มีรายได้ต่ำกำลังร่างกฎหมายกันอยู่, รื้อระบบกองทุนน้ำมันที่ทำให้ภาระหนี้ตกอยู่กับรัฐ
สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนฉากทัศน์โครงสร้างพลังงานไทยถาวรแน่นอน
[ประเด็น3-4 เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ที่ว่ากระทรวงเอาจริงขนาดไหนเกี่ยวกับการลดควัน PM 2.5]
⬛ ตอบในฐานะหนึ่งใน “กรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ก็ต้องเรียนว่าทางกระทรวงพลังงานจริงจังมาก ได้ประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ลดการปล่อย PM 2.5 ตั้งแต่ต้น ม.ค. 67 เป็นที่เรียบร้อย (ส่วนเรื่องราคาที่พรีเมี่ยมขึ้น น่าจะอยู่ในช่วงที่กระทรวงกำลังหารือเจรจากับผู้กลั่นน้ำมัน)
นอกจากนั้น ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมเรื่องยานยนต์ EV 3.5 ลดการใช้รถพลังงานสันดาบ และส่งเสริม Utility Green Tariff ไฟฟ้าสีเขียวให้ใช้แพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นที่เรียบร้อย
อย่าตัดสินว่าลดราคาน้ำมันแล้วจะไม่จริงจังปัญหาสิ่งแวดล้อม คนละส่วนครับ
[ประเด็นสุดท้ายข้อ 5 เรื่องสูตรราคาPool Gas]
⬛ พูดว่าพูลแก๊ส (ราคาก๊าซเฉลี่ย+นำเข้า) คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินนัก ผมต้องบอกประชาชนผู้ใช้พลังงานทุกท่านว่า สูตรที่รัฐมนตรีพีระพันธ์ได้ปรับผ่านมติเห็นชอบจาก กกพ.เมื่อปลาย ธ.ค. 66 ได้สร้างประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้ไฟทั้งประเทศมหาศาล เพราะการนำเอาโควตาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยราคาถูก ที่เคยให้กับบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ไปให้การใช้กับก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนก่อน.. เอกชนจะต้องไปซื้อราคา Pool Gas แพงขึ้น แต่ราคาต้นทุนผลิตไฟฟ้าคนไทยถูกลงถาวร 18 สตางค์/หน่วย
หากคิดถึงคนทั้งชาติ กับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย ผมว่าเรื่องนี้ยกประโยชน์ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง ดีกว่าเอื้อเอกชนรายใหญ่ไม่กี่ราย จึงไม่ควรต้องปรับเปลี่ยนสูตรกลับไป
ขอบคุณสำหรับข้อแนะนำอันเป็นประโยชน์ เข้าใจว่าทั้ง 3 ท่านต่างมีเจตนาดีต่อการบริหารงานประเทศ เข้าใจว่าทางรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สร้างผลงานให้โครงสร้างพลังงานเป็นธรรม-ยั่งยืน-มั่นคง ให้เป็นที่ประจักษ์