อุตฯป้องกันประเทศ S-curve ลำดับที่ 11

อุตตม สาวนาย

พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะทำงานได้ทำการศึกษาและวางกรอบการทำงานของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-curve 11) ด้วยการกำหนดเป้าหมายไว้ที่การผลิตยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันประเทศใน 3 ด้าน คือ 1) ด้านอธิปไตยและดินแดน เช่น รถถัง โดรน 2) ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ/ยาเสพติด/ไซเบอร์ เช่น จมูกไฟฟ้า เซ็นเซอร์ตรวจจับ และ 3) ด้านความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ข้อมูลบิ๊กดาต้าการเงิน ประวัติคนเข้าออกประเทศ ใบหน้า

“อย่างการผลิตโดรนจะเอาไปลงทุนในพื้นที่ EECi ไซเบอร์ก็จะลงทุนใน EECd ส่วนที่เป็นจรวด กระสุน จะต้องลงทุนในพื้นที่ที่มีสถานที่ทดสอบของกองทัพ เช่น ลพบุรี นครสวรรค์ เพราะการทดสอบบางอย่างถือเป็นความลับทางการทหาร โดยเราจะขอเป็นพื้นที่เขตลงทุนพิเศษและได้รับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์เฉพาะ” พล.อ.นาวินกล่าว

ขณะที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม EEC เร็ว ๆ นี้ โดยจะเข้าที่ประชุมบอร์ดชุดเล็กที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ขณะที่บอร์ดใหญ่จะจัดประชุมในเดือนมิถุนายน

ด้าน นางสาวอัจฉรา สุนทรครุธ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงการส่งเสริมการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาBOI ได้พิจารณาให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นประเภทกิจการใหม่ที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งมีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ 1) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมยานพาหนะ และระบบอาวุธเพื่อการป้องกันประเทศ ได้แก่ รถถัง รถเกราะ หรือยานพาหนะรบ ยานพาหนะช่วยรบ ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม ได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A2 “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ, ยกเว้นอากรเครื่องจักร, ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี

2) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมยานไร้คนขับเพื่อการป้องกันประเทศและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม ได้แก่ ระบบยานภาคพื้นไร้คนขับ เช่น หุ่นยนต์สำหรับการปฏิบัติการทางทหาร, ระบบยานทางน้ำไร้คนขับ เช่น ยานผิวน้ำ/ใต้น้ำไร้คนขับ, ระบบอากาศยานไร้คนขับเช่น อากาศยานไร้คนขับแบบปีกติดลำตัว/ปีกหมุน/ผสม, ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม เช่น ตัวโครงสร้างหลัก แขนกล มือจับ ระบบติดต่อสื่อสาร ระบบกล้อง ระบบสมองกล ระบบไฟฟ้า และแบตเตอรี่ จะได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A1 “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่ cap วงเงิน) บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ, ยกเว้นอากรเครื่องจักร, ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี

3) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมอาวุธและเครื่องช่วยฝึกเพื่อการป้องกันประเทศและชิ้นส่วน ด้านการผลิตและ/หรือซ่อมอาวุธ เช่น อาวุธปืน กระสุนปืนระบบจรวด รวมทั้งระบบควบคุม รถยิงหรือสิ่งนำพาไปของระบบจรวด, ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม ได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A2, ระบบจำลองยุทธ์และการฝึกเสมือนจริง เช่น ระบบเครื่องช่วยฝึกยานรบเสมือนจริง ระบบเครื่องช่วยฝึกใช้อาวุธเสมือนจริง ระบบสนามฝึกยิงอาวุธประจำกายและอาวุธประจำหน่วย ระบบจำลองยุทธ์ปฏิบัติการร่วม จะได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A1และ 4) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมอุปกรณ์ช่วยรบ ได้แก่ เสื้อเกราะกันกระสุนและสะเก็ดระเบิด แผ่นเกราะหรือโล่ป้องกันกระสุนและสะเก็ดระเบิด ได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A2

นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ หัวหน้าสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า สำนักงาน BOI ที่ปารีส ได้นำ บริษัท ACG AVATION ซึ่งเป็น startup รายแรกในการผลิตเทคโนโลยีอากาศยานและรถยนต์บินได้จากฝรั่งเศส เข้าหารือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม เพื่อร่วมศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และทำการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (business matching)กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้ผลิตชิ้นส่วนส่งไปยังผู้ผลิตในฝรั่งเศส