
เชื่อว่าสังคมคงสงสัยไม่ต่างกันว่า “ปลาหมอสีคางดำ” มีต้นตอการแพร่ระบาดมาจากเหตุใด โดย 1 ในข้อสงสัยนั้นถูกชี้ไปที่ “ผู้ขออนุญาต” นำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียวเมื่อปี 2553 นั่นคือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF พร้อมด้วยผู้บริหาร ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศูนย์วิจัยการเลี้ยงกุ้งและเทคโนโลยีชีวภาพ ต.ยี่สาร จ.สมุทรสงคราม หรือ “ฟาร์มยี่สาร” ซึ่งในอดีตย้อนกลับไปปี 2553 ฟาร์มขนาด 485 ไร่แห่งนี้เป็น “ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร” ซึ่งเป็นฟาร์มวิจัยพันธุ์ปลา ทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด รวมถึงปลาหมอคางดำของ CPF แต่ปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปเป็นฟาร์มวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งระบบปิดไปแล้ว
ผู้บริหารซีพีเอฟได้นำชมพร้อมนำแผนผังของฟาร์ม ปี 2553 เทียบกับสภาพฟาร์มในปัจจุบันปี 2567 (ตามภาพ) และอธิบายขั้นตอนการทำงานวิจัยพันธุ์ทุกขั้นตอนอย่างละเอียดในทุกคำถาม
ขั้นตอนการขนส่งปลา
ลูกปลาหมอคางดำที่ CPF นำเข้ามาจากประเทศกานา เกิดจากไอเดียใน World Fish Conference ที่จัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนกันว่าการแก้ปัญหาเลือดชิดในปลานิล (เหมือนการแต่งงานในคนครอบครัวเดียวกันที่ให้ปลาอ่อนแอ) มีวิธีการหนึ่ง คือ นำปลาจากแหล่งอื่นเข้ามาผสม CPF จึงเลือกกานา โดยขออนุญาตเมื่อปี 2549 แต่ปลายทาง (กานา) ยังหาปลาให้ไม่ได้ จึงต้องเลื่อนมาปี 2553 นำเข้าลูกปลาน้ำหนัก 1 กรัม ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อปลานิล จำนวน 2,000 ตัว
แต่ลูกปลาตายระหว่างทาง 1,400 ตัวเหลือ 600 ตัว ผลการขนส่งจากประเทศต้นทาง กานา-ด่านกักสัตว์น้ำสุวรรณภูมิ ใช้เวลา 35 ชั่วโมงถึงไทยวันที่ 24 ธ.ค. 2553 เวลา 20.00 น.
โดยเหตุที่ CPF นำเข้าลูกปลา แทนที่จะนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” เพราะการขนส่งใช้ถุงพลาสติกอัดออกซิเจนข้างใน หากใช้ปลาใหญ่อาจจะต้องอัดออกซิเจนปริมาณมาก และอาจทำให้ครีบปลาไปโดนบรรจุภัณฑ์เสียหายระหว่างทางได้
การขนส่งปลา
กระบวนการขนส่งไปที่ถึงฟาร์มยี่สารเวลา 23.00 น.ของวันเดียวกัน จากนั้นได้นำปลาส่วนที่รอดตายไปปล่อยในบ่อซีเมนต์รูปทรงกลมที่มีความจุในการจุน้ำได้ 8 ตันที่อยู่ในอาคารโรงเรือน เพื่อเป็นการกักตัวป้องกันโรคจากปลานำเข้า ที่อาจจะติดมาจากปลานำเข้าไม่ให้นำมาเผยแพร่สู่ปลาในประเทศที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม ซึ่งมีทั้งปลาทับทิมและปลาทะเล เหมือนการกักตัวของคนที่เดินทางในช่วงโควิด โดยการเก็บในบ่อซีเมนต์กำหนดจะใช้เวลา 60 วัน หรือจนกว่าปลาจะโตน้ำหนัก 3 กรัม
หากปลาสุขภาพแข็งแรงแล้วจะนำไปปล่อยในกระชังที่อยู่ในบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลา แต่อาจจะเรียกว่าโชคดีที่ปลาตายไปเสียก่อนในเวลาเพียง 16 วัน จึงทำให้ไม่ได้ย้ายปลาไปสู่บ่อเพาะเลี้ยง หรือเท่ากับว่าการวิจัยยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น
ซึ่งกระบวนการนี้เป็น Normal Practice ของการนำเข้าปลาจากต่างประเทศของฟาร์มของเรา ซึ่งเป็นในรูปแบบเดียวกับการวิจัยของหน่วยราชการก็จะใช้รูปแบบเดียวกัน แต่ระยะเวลาอาจจะต่างกันไป มีตั้งแต่ 1 เดือน 45 วัน หรือ 2 เดือน
ทำไมหยุดวิจัย
“การปรับปรุงพันธุ์ปลาไม่ว่าจะเป็นปลาเล็กหรือปลาใหญ่ จะถูกเลี้ยงอยู่ในกระชังเท่านั้น เพราะในการวิจัยและทดลองงานจะละเอียดมาก ไม่เหมือนกับการเลี้ยงแบบ Commercial ปลาที่นำมาวิจัยทุกตัวจะต้องถูกนับจำนวนทั้งหมด ในเงื่อนไขของการวิจัยจะต้องมีการกำหนดจำนวนปลากระชังจะรั่วออกไปด้านนอกไม่ได้ หากปลาหายไปจะมีผลต่อผลการวิจัย โดยปกติจำนวนที่ถูกปล่อยลงไปในบ่อจะมีสัดส่วนเป็นปลาตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 3 ตัว หรือเป็น 1 ต่อ 1 รวม 250 คู่ หรือ 500 ตัว จนได้ตัวที่แข็งแรงที่สุดก็จะถูกนำเอาไปใช้ต่อไป ฉะนั้น ผู้วิจัยต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาหลุดออกไปจากบ่อ”
และเมื่อจำนวนปลาหมอคางดำที่นำเข้าตายไป 2 ใน 3 เหลือ 600 ตัว ก็ยังพอมีหวังว่าจะวิจัยสำคัญ แต่พอทยอยตายจนลดลงต่ำกว่า 500 ตัว ทำให้บริษัทตัดสินใจ “ยุติการทำวิจัย” และแจ้งไปที่กรมประมง ไม่มีประโยชน์ที่จะทำอีก เพราะกระบวนการวิจัยจะใช้เวลากว่า 3 ปี มีต้นทุนการวิจัย และตอนนี้โรคดังกล่าวสามารถใช้เทคโนโลยีด้านพันธุกรรมเลือกยีนได้แล้ว
ไม่ได้ตัดครีบ ปลา 3 ตัว
แน่นอนว่า การที่ลูกปลาตายไปก่อนที่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถตัดครีบปลาโดยที่ยังมีชีวิตตามเงื่อนไขการนำเข้าได้ จากที่กำหนดให้ตัดปลาที่ยังมีชีวิต 3 ตัวแล้ว “ดอง” ได้
ประกอบกับความสับสนของเงื่อนไขนี้ที่มีข้อความไม่ตรงกันระหว่างหนังสือของกรมประมง กับมติของคณะกรรมการหลากหลายทางชีวภาพ (IBC) ที่กำหนดให้ “กรมประมง” เป็นผู้ที่มีหน้าที่ตัดครีบเอง เพราะหากปล่อยให้เอกชนตัดครีบไปส่งก็อาจจะกังวลว่า อาจจะตัดครีบปลาคนละชนิดกับที่นำเข้าก็จะกลายเป็นปัญหา แต่ในหนังสือของกรมประมง เลขที่ กษ 0510.2/3835 วันที่ 28 เมษายน 2553 ในข้อ 1) ระบุว่า “เก็บตัวอย่างครีบดอง ในน้ำยาเก็บตัวอย่าง ส่งมาที่กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำ และให้แจ้งที่หมายเลขโทรศัพท์ 2-5558-XXXX”
ส่วนการฝังทำลาย “ซากปลา” ได้ทยอยฝังเป็นลอต โดยลอตแรก 1,400 ตัว แช่ฟอร์มาลินและฝังในบริเวณพื้นที่ว่างข้างจุดที่เป็นบ่อกักกันโรคภายใน 24 ชม. ขุดหลุมลึก 50 ซม. โรยปูนขาวก่อนฝัง และโรยกลบทับซากปลาอีกครั้ง การฝังซากปลานั้นได้มีการแจ้งกรม แต่ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในปี 2554 แต่มีการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในภายหลังเมื่อปี 2560 ที่มีการร้องเรียน ซึ่งบริเวณกำลังก่อสร้างเป็นอาคาร
ปมส่งโหลปลาดอง 50 ตัว
บริษัท CPF ยืนยันกระบวนการส่งซากปลาดองฟอร์มาลินเข้มข้น ลอตสุดท้าย 50 ตัวไปให้กับกรมประมง ตามแนวทางปฏิบัติ ที่ได้รับแจ้งให้ดำเนินการ ที่ระบุในหนังสือ กษ 0510.2/3835 วันที่ 28 เมษายน 2553 ในข้อ 2) ว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้รายงานผลการศึกษา หากผลการศึกษาไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่ประสงค์จะทำการศึกษาต่อ ให้ทำลายปลาชุดดังกล่าวทั้งหมด โดยการแจ้งกรมประมง เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบการทำลาย แต่ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในเวลานั้น แต่มาตรวจสอบในภายหลังคือปี 2560
“บริษัทได้โทร.ปรึกษากรมประมงตลอด ตั้งแต่ปลาทยอยตาย จนวีกที่ 2 ปลาตายไปมากจนเหลือ 150 ตัว และตายไปอีก 100 ตัว เหลือ 50 ตัวสุดท้ายเราจึงดอง ก็โทร.คุยกันตลอด ปรึกษาถึงขนาดว่าจะใช้โหลของใครดองปลา จากนั้นเราทำหนังสือขอยุติการดำเนินโครงการ พร้อมกับส่งโหลปลาไปให้กรมในวันที่ 6 ม.ค. 2554 รวมเวลา 16 วัน”
ขณะที่ประเด็นที่สังคมกังวลว่า ลูกปลาหมอคางดำดังกล่าว “อมไข่มาบ้วนไข่ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดหรือไม่ ทางบริษัท CPF อธิบายว่า ปลาอายุ 16 วัน น้ำหนัก 1 กรัม ยังไข่ไม่ได้ เหมือนทารก กรณีถ้าจะมีไข่ได้ต้องอายุน้อยสุด คือ 4-6 เดือน
จับปลาหมอได้ในบ่อพักน้ำ
ส่วนประเด็นที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่ปี 2560 และมีการจับ “ปลาหมอคางดำได้ในบ่อของ CPF”
สำหรับบ่อพักน้ำเป็นบ่อขนาดใหญ่เดียวขนาด 30 ไร่ (แต่ในภายหลังได้ถูกกั้นให้มีคันตรงกลาง หลังจากปรับเปลี่ยนเป็นฟาร์มกุ้ง ทำให้บ่อนี้ถูกดัดแปลงเป็นบ่อบำบัดของฟาร์มกุ้ง) อยู่ติดกับคลองธรรมชาติที่อยู่ด้านนอกคั่นด้วยป่า “บ่อพักน้ำทำหน้าที่สำรองน้ำที่ดูดมาจากข้างนอก ปีละ 3 เดือนในช่วงหน้าฝน เพื่อไว้ใช้ในบางช่วงเวลา โดยจะมีเครื่องสูบน้ำและมีที่กรองน้ำที่จะนำเข้าไปในฟาร์ม ยืนยันได้ว่าไม่ได้มีการปล่อยน้ำจากบ่อเลี้ยงมาที่บ่อพักน้ำ”
“ปี 2560 ตอนนั้นฟาร์มเราได้หยุดปรับปรุงเพื่อแปลงเป็นบ่อกุ้ง จึงไม่สามารถเข้าไปได้ ทางกรมประมงเลยขอทอดแหที่บ่อพักน้ำ นอกจากกรมก็มี กสม. ซึ่งเราบอกเขาไปว่า บ่อนี้ไม่ใช่บ่อน้ำในฟาร์มแต่ก็ยังทอดแห ซึ่งตอนนั้นโดยรอบมีปลาแพร่ระบาดอยู่แล้ว จนพอเจอก็พูดมาตลอดว่าเจอปลาหมอคางดำในบ่อที่ฟาร์มยี่สาร โดยละไว้ไม่บอกว่าเป็นบ่อพักน้ำ ทำให้ยิ่งงง ให้ไปตรวจดีเอ็นเออีก”
ขณะที่กระบวนการหมุนเวียนน้ำในฟาร์ม สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาแล้วจะถูกปล่อยมาที่ “บ่อบำบัดน้ำเสีย” จะอยู่อีกโซนหนึ่ง ถัดเข้ามาด้านในจากบ่อกักโรค มีอยู่หลายบ่อ ในแต่ละบ่อจะมีการผสมคลอรีนเข้มข้นระดับเข้มขึ้น ชั้นแรก 100 ppm และปล่อยมาบ่อที่สอง 50 ppm ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่มีความเข้มข้นแบบที่สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้ จากนั้นจะถ่ายน้ำจากฟาร์มมาพักในบ่อพักอีกบ่อใช้เวลา 20-30 วัน จนตกตะกอนคลอรีน ก่อนที่จะมีการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
การเลี้ยงปลาเพื่อทำพันธุ์
ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ จะทำหลังจากปลาผ่านบ่อกักโรคแล้ว โดยเราจะใส่ปลาตัวผู้ตัวเมียในกระชังขนาด 1 x 1 ม. ให้ผสมกัน เรโชอาจจะเป็น 1 ต่อ 3 หรือ 3 ต่อ 1 หรือ 1 ต่อ 1 แบบเป็นครอบครัวครอบครัวหนึ่ง เมื่อได้ครอบครัวที่ดีที่สุด เราจะนำมาสร้างพ่อแม่พันธุ์ เมื่อเราเอาพันธุ์กลุ่มนี้มาทดสอบ ประมาณ 1 x 1 ม. เอาลูกปลาใส่เข้าไปอนุบาลปลาเล็ก
“เวลาจะสร้างพ่อแม่พันธุ์จำนวนมากขึ้น หลังจากที่เราได้พันธุ์ที่ต้องการแล้ว ก็จะเอาลูกจากครอบครัวนั้นมาอนุบาล ในบ่อกระชังขนาดอาจจะเป็น 2 x 4 หรือ 5 x 7 เมตร เพื่อให้มีจำนวนที่มากพอ”
หากปลามีไข่ พนักงานต้องลงไปช้อนดูปลาตัวเมียว่ามีไข่อยู่ในปากหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องมาฟัก จะไม่ปล่อยให้มันฟักในปาก แต่ต้องมีระยะเวลาว่าต้องอยู่ในปากนานแค่ไหน คือ จะมีกะละมังพร้อมสวิง ยืนอยู่ในบ่อเลย พอเคาะเอาไข่ออกมา เราก็มีระบบไซฟอนไข่ ให้ไข่มีออกซิเจนตลอดเวลา เมื่อลูกปลาฟักออกมาเป็นตัว ก็จะไหลออกมาสู่ถาด เราก็จะเก็บลูกปลาขึ้นมา แต่ลูกปลาจะอยู่ในถาดระยะหนึ่งก่อน
“กระบวนการนี้คือกระบวนการที่ทำในอดีต ซึ่งไม่มีทางว่าจะอยู่ในบ่อดินอะไร ไม่มีทาง ทุกอย่างจะอยู่ในกระชังหมด จะเป็นปลานิล ปลาทับทิม ก็อยู่ในระบบกระชังทั้งสิ้น สามารถชี้แจงได้ 100% ว่าดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม เรามั่นใจในโปรเซสของเรา”