อัครา รมช.เกษตรฯสั่งกรมชลประทานเร่งระบายน้ำลงกว๊านพะเยา เตรียมรับมือ พายุ “ดีเปรสชั่น” ฝนตกหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย. 67 กระทบไทย คาดน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก
วันที่ 17 กันยายน 2567 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวพะเยาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานพะเยาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปสำรวจพื้นที่ พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เศษกิ่งไม้และวัชพืชที่ลอยมาตามน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเดิมก่อนระบายลงสู่กว๊านพะเยา เพื่อช่วยเหลือชาวพะเยาเป็นการด่วน ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
โดยหลังจากนี้ ทางโครงการชลประทานพะเยา จะนำเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูบ้านเรือนและถนนสัญจร
พร้อมกันนี้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยจากร่องมรสุม และพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ คาดว่าจะทวีกำลังเป็นพายุโซนร้อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ส่งผลกระทบประเทศไทย ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย. 67
โดยในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกระลอก
กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ที่อยู่ทางตอนบนของเขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำเข้าไปตามศักยภาพของคลอง รวมทั้งควบคุมการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำท่าและฝนที่ตกทางตอนบน ด้วยการปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันได ในอัตราไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, แม่น้ำน้อยบริเวณตำบลหัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดน อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60-100 เซนติเมตร
โดย ล่าสุดช่วงเช้า วันที่ 17 ก.ย. 67 เขื่อนเจ้าพระยา เพิ่งปรับลดการระบายเหลือ 1,099 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดผลกระทบด้านท้ายเขื่อน
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วน กรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
พะเยา ท่วม 5 อำเภอ อ่วม 36,033 ไร่
ด้าน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากภาพจากดาวเทียม Sentinel-1A เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 พบพื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพะเยา ใน 5 อำเภอ ได้แก่ #เชียงคำ 14,514 ไร่ #ดอกคำใต้ 10,245 ไร่ #ภูกามยาว 5,230 ไร่ #จุน 3,763 ไร่ และ #เมืองพะเยา 2,281 ไร่ รวมพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งหมด 36,033 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบ้านเรือนประชาชน
5 จังหวัดภาคอีสานท่วมขังกว่า 4 แสนไร่
ขณะเดียวกัน GISTDAได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมด้วยข้อมูลภาพจากดาวเทียม Radarsat-2 ของวันที่ 17 กันยายน 2567 เวลา 18.11 น. พบน้ำท่วมขังบริเวณ #หนองคาย 120,429 ไร่, #นครพนม 110,377 ไร่, #สกลนคร 107,085 ไร่, #บึงกาฬ 73,730 ไร่ และ #อุดรธานี 64,148 ไร่ รวมพื้นที่ประมาณ 475,769 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 334,019 ไร่ (ข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวจากดาวเทียม ณ วันที่ 13 กันยายน 2567) รวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคม
ทั้งนี้ การประเมินพื้นที่น้ำท่วมขังได้จาก การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยประมาณ
สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป
สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง