
กก.นโยบายข้าว ถกช่วยเหลือชาวนา หลังส่งออกข้าวหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านราคาข้าวนาปรังปีการผลิต 2568 จากมติของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ได้เสนอ 3 มาตรการด้วยกันคือ
1) การให้สินเชื่อชะลอข้าวนาปรังปี 2568 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน มีระยะเวลาในการจัดเก็บ 1-5 เดือน แบ่งเป็น ค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ใช้วงเงิน 1,219 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเกษตรกรเก็บข้าวในยุ้งฉางตัวเองจะได้รับค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน แต่หากเก็บกับสหกรณ์ สหกรณ์จะได้ค่าฝากเก็บ 500 บาท/ตัน และเกษตรกรได้รับ 1,000 บาท/ตัน
2) การชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าวในอัตรา 6% เพื่อเก็บสต๊อกข้าวนาน 2-6 เดือน มีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวรับซื้อข้าวเปลือกในราคา “สูงกว่า” ราคาตลาด 200 บาท/ตันขึ้นไป เป้าหมายเพื่อเก็บสต๊อกข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ใช้วงเงิน 524 ล้านบาท
และ 3) การเปิดจุดรับซื้อข้าว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาท/ตัน มีเงื่อนไขผู้ประกอบการจะต้องรับซื้อข้าวในราคาที่ “สูงกว่า” ราคาตลาด 300 บาทต่อตันขึ้นไป มีเป้าหมายรับซื้อข้าว 300,000 ตัน ใช้วงเงิน 150 ล้านบาท รวมวงเงินที่จะช่วยเหลือราคาข้าวนาปรัง 1,893 ล้านบาท
นายสมชัย ไตรถาวร ตัวแทนชาวนาภาคกลาง กล่าวว่า จากการหารือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในเบื้องต้น ชาวนาภาคกลางยอมรับ 3 มาตรการที่รัฐบาลออกมา แม้ข้อเรียกร้องของชาวนาที่ต้องการการประกันราคาข้าวความชื้นที่ 15% ที่ราคา 10,000-12,000 บาทต่อตัน “จะไม่ได้รับการพิจารณา” เนื่องจากปัจจัยด้านของตลาด เช่น อินเดียกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง และเวียดนามระบายข้าวออกสู่ตลาด
“พวกเราเข้าใจและยอมรับ แต่สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตและฝากไปยังหน่วยงานรัฐบาลเรื่องของการรับซื้อและฝากเก็บข้าวที่ให้สหกรณ์เข้ามารับซื้อ ต้องบอกว่า สหกรณ์ในภาคกลางส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ฝากเก็บและศักยภาพยังไม่เพียงพอ เรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว จะต้องให้โรงสีเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งต้องเร่งทำรายละเอียดออกมา นอกจากนี้ ยังต้องการให้หามาตรการดูแลคนที่ขายข้าวนาปรังออกไปแล้วด้วย” นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ มาตรการที่ภาครัฐจะดำเนินการช่วยเหลือราคาข้าวเปลือกนาปรังจะต้องเร่งก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จในปลายเดือนมีนาคม 2568 หากมาตรการยังไม่ออก ไม่สามารถยกระดับราคาข้าวนาปรังได้ ”ผมและชาวนาภาคกลางพร้อมจะยกระดับความเข้มข้นในทันที“
ด้านนายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในวันที่ 1-2 มีนาคม 2568 สมาคมจะมีการประชุมหารือถึงมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาช่วยเหลือชาวนาในฤดูข้าวนาปรัง ซึ่งต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ก่อนว่า จะมีมาตรการและเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการอย่างไร ทั้งเรื่องกฎระเบียบ ระยะเวลา การชดเชยดอกเบี้ย ซึ่งต้องมีการตีความในรายละเอียดทั้งหมด ส่วนความพร้อมของโรงสีนั้นมีความพร้อมอยู่แล้ว
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกสินค้าข้าวของไทยในเดือนมกราคม 2568 หดตัว 32.4% ต่อเนื่อง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งหดตัว 20% ธันวาคม 2567 หดตัว 8.5%
สำหรับตลาดที่ส่งออกข้าวหดตัว ได้แก่ ตลาดแคนาดา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เยเมน และจีน ส่วนตลาดที่ขยายตัวตลาด เช่น สหรัฐ อิรัก แอฟริกาใต้ เซเนกัล และญี่ปุ่น ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกข้าวไทย คือ ประเทศอินเดียกลับมาส่งออกข้าว ประกอบกับผลผลิตข้าวในปี 2568 ทั่วโลกดีขึ้น โดยไทยคาดว่าผลผลิตทั้งปีอยู่ที่ 34 ล้านตันข้าวเปลือก
ดังนั้นจำเป็นจะต้องหามาตรการเข้ามาดูแลและนำเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาช่วยเหลือด้านผลผลิตข้าว ปรับปรุงพันธุ์ข้าว การดูแลต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ทางผู้ส่งออกข้าวไทยยังระบุว่า ราคาข้าวไทยขณะนี้สูงกว่าหลายประเทศที่ส่งออกข้าวด้วย