ยกใบเหลือง IUU ชาวประมงควรจะดีใจหรือเสียใจ ?

วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
อดีตประธาน ส.การประมงแห่งประเทศไทย

มีหลายคนถามมาว่า เมื่อ EU ยกเลิก “ใบเหลือง” ให้กับประเทศไทยแล้ว ชาวประมงดีใจมั้ย ? ถ้าถามผม ผมก็คงจะตอบว่า “ไม่ดีใจเลย” และถ้าถามว่า “ทำไม” คำตอบ ของผมก็คือ

1) ทุกคนควรจะเข้าใจเสียก่อนว่า เหตุที่ EU ให้ใบเหลืองกับประเทศไทยก็เพราะ EU เห็นว่า การประมงของไทยไม่มีศักยภาพในการจัดการประมงของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ตามหลักการของอนุสัญญากฎหมายทะเลฯ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ตอบสนองต่อการจัดการการประมงแบบ IUU, ไม่มีแผนการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการประมง, ไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบและควบคุมเรือ, ไม่มีระบบการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำ (ที่มีอยู่ก็ดำเนินการแบบมั่ว ๆ)

ดังนั้น EU จึงให้ “ใบเหลือง” กับไทย และต้องการเพียงให้ไทยจัดทำ “แผนในการแก้ไขปัญหาให้เสร็จภายใน 6 เดือน” ไม่ใช่ต้องการให้ไทย “แก้ไขปัญหาทั้งหมดให้เสร็จภายใน 6 เดือน” เพราะ EU รู้ว่า การแก้ไขปัญหา IUU Fishing ต้องใช้เวลา ผู้รู้ และงบประมาณในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง EU ใช้เวลาถึงเกือบ 20 ปี หมดงบประมาณไปกว่า 700,000 ล้านบาท

2) ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไทยตีโจทย์ผิด เข้าใจว่า IUU Fishing เป็นของ EU เราจึงเริ่มต้นด้วยการทำตาม EU ทั้งหมด EU “ให้เราเลี้ยวซ้าย เราก็เลี้ยวซ้าย ให้เราเลี้ยวขวา เราก็เลี้ยวขวา ให้เราตีลังกา เราก็ตีลังกา” เพราะหวังจะทำให้ EU พอใจ โดยไม่มีใครโต้แย้ง และซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ คำตอบ “ยกใบเหลือง” ให้กับประเทศไทย ซึ่งคนที่ดีใจก็คือ “รัฐบาล” มิใช่ “ชาวประมง”

วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตประธาน ส.การประมงแห่งประเทศไทย

3) เหตุที่ “ชาวประมง” ไม่ดีใจ เพราะในช่วงเวลา 3 ปี 8 เดือนเศษ (1,356 วัน หรือ 44 เดือน) ที่ชาวประมงต้องทนทุกข์กับสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ ทั้งการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ขัดกับอนุสัญญากฎหมายทะเล ด้วยความอคติ ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ มีการกำหนดโทษที่รุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย มีการออกกฎหมายในระดับรองถึงกว่า 200 ฉบับ ที่ไม่เคยมีอาชีพใดในโลกต้องปฏิบัติตาม มีการบังคับใช้ที่จ้องจับผิดด้วยความอคติ ไม่ให้ความเป็นธรรม ไม่ยอมรับเหตุผล ไม่ใช้หลักรัฐศาสตร์ในการดำเนินการ จนพี่น้องชาวประมงต้องถูกจับดำเนินคดีนับ 10,000 ราย เสียค่าปรับนับล้านบาท ต้องติดคุก ต้องเจ็บป่วยเสียชีวิต ต้องทำอัตวิบาตกรรม ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว เรือที่เป็นทรัพย์สินกลายเป็นเศษไม้เศษเหล็ก จอดจมกันนับ 100 ลำ กลายเป็นสิ่งไร้ค่าทุกข์เหล่านี้ไม่มีชาวประมงประเทศไหนในโลกเผชิญชะตากรรม บนความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่รับฟังข้อโต้แย้งของรัฐบาล เช่น ชาวประมงไทย แล้วอย่างนี้ “เราจะดีใจได้อย่างไร” ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เมื่อ EU ปลดใบเหลืองให้ประเทศไทยแล้ว อนาคตของชาวประมงที่สูญเสียจะกลับมาอย่างไร และคนที่ยังอยู่จะมีอนาคตอย่างไร จะต้องทนทุกข์กับสิ่งที่มีอยู่นี้ต่อไปอย่างไร

4) ในส่วนของการส่งออกที่ประเทศไทยเกรงว่า จะกระทบทำให้ไทยไม่สามารถส่งสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ประเด็นนี้เราลองกลับไปดูตัวเลขกันจะพบว่า สัตว์น้ำที่ชาวประมงไทยจับได้และเคยส่งออกไปขายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึงปีละกว่า 50,000 ล้านบาท วันนี้เหลือเพียงไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ปัญหาไม่ใช่ว่าเพราะไทยเป็นประเทศ IUU Fishing แล้วผู้ซื้อไม่ซื้อเรา อย่างที่รัฐบาลกลัว แต่เป็นเพราะ “ไทยไม่มีสัตว์น้ำจะขายให้กับผู้ซื้อ” เพราะชาวประมงถูกบังคับให้ต้องจอดเรือนั่นเอง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับประมงทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำที่ตั้งอยู่เรียงรายในจังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด ที่ต้อง “เลิกกิจการ” และได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ที่เดินมาผิดทางด้วย

5) ในส่วนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของ IUU คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ในรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลสั่งให้จอดเรือและเลิกทำการประมงไปกว่า 3,000 ลำแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยกลับฟื้นคืนมาอุดมสมบูรณ์หรือไม่ ? ซึ่งข้อเท็จจริงจากสถิติที่เก็บมาได้นั้น “ไม่ได้บ่งบอกว่าเมื่อรัฐได้ดำเนินการทุกอย่างข้างต้นแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำจะมีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลานตามที่มุ่งหวังเลย”

เมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่เราคาดหวัง มิได้เป็นอย่างที่หวัง ชีวิตและอนาคตที่สูญเสียไปไม่สามารถกลับฟื้นคืน หรือได้รับการดูแลแก้ไขให้ถูกทางแล้ว เราจะดีใจไปได้อย่างไรกัน

กว่าจะถูกยกใบเหลือง

คำประกาศเพิกถอนสถานะ “ใบเหลือง” หรือ Lift Yellow Card ประเทศไทยหลังจากที่ถูกสหภาพยุโรปกล่าวหาว่ามีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) มาตั้งแต่ปี 2558 นั้น ได้แลกมาด้วย การปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรปอย่างไร้การ “ต่อรอง” จาก “คำขู่” ที่ว่า หากไทยไม่ปฏิบัติตาม “ข้อแนะนำ” ของสหภาพยุโรปก็จะถูกตอบโต้ด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญ

ท่ามกลางคำขู่จะถูกตอบโต้ด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ รัฐบาลเลือกที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผ่านทางศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. โดยมุ่งไปที่การควบคุมเรือประมง-การจัดทำรายงาน และระบบติดตามเรือประมง (VMS) การค้ามนุษย์

ตามมาด้วยการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การประมง ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การจัดทำแผนการปฏิบัติการแห่งชาติที่สอดคล้องกับ IUU Fishing การตรวจสอบ-ควบคุม-ติดตามเฝ้าระวัง (MCS) กองเรือประมงของไทยและกองเรือประมงประเทศที่ 3 และการบังคับใช้กฎหมาย-มาตรการใหม่ ๆ ที่กำหนดมาอย่างเคร่งครัด
ผลการปฏิบัติการ “จัดระเบียบ” เรือประมงข้างต้นในระยะเวลา 4 ปีก่อให้เกิดสถิติใหม่ในการยกใบเหลืองอย่างรวดเร็วจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ท่ามกลางข้อเรียกร้องของชาวประมงที่ต้องการให้ผ่อนคลาย หรือต่อรองมาตรการต่าง ๆ กับสหภาพยุโรป “แต่ไร้ผล”

สะท้อนออกมาจาก “คำชมเชย” ในแถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปด้วยถ้อยคำ “การอภิบาลการประมงไทยครั้งใหญ่” จากปฏิบัติการ 1) แก้ไขกฎหมายด้านการประมงในประเทศให้สอดคล้องกับตราสารกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ 2) กำหนดบทลงโทษในกฎหมายประมงไทยที่สามารถยับยั้งการกระทำผิด IUU Fishing การติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังกิจกรรมการทำประมง 3) การควบคุมการเทียบท่าเรือของเรือประมงต่างประเทศ

4) การต่อต้านการค้ามนุษย์และการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานภาคการประมงในไทย แม้ว่าการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในเรือประมงนี้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ IUU Fishing ก็ตาม และ 5) การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง หรือ C188 เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในโลกนี้

ทว่า สถานะการถูก “ยกใบเหลือง” หรือยกเลิกคำขู่ที่จะห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทยจะยั่งยืนหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติของประเทศไทย 6 ประการ คือ 1) ด้านกฎหมาย 2) ด้านบริหารจัดการทำการประมง 3) ด้านบริหารจัดการกองเรือประมง 4) การติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง (MCS) 5) การตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสินค้าประมงผลิตภัณฑ์ 6) การบังคับใช้กฎหมายที่ออกมาแล้ว

โดยสหภาพยุโรปจะประชุมและทำงานร่วมกับฝ่ายไทยปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามการดำเนินการของฝ่ายไทยใน 6 ประเด็นข้างต้นต่อไป