พิษค่าเงินบาทแข็งค่า-สงครามการค้ายืดเยื้อ ถล่มส่งออก “ของขวัญ-ของชำร่วย” ปี”62 จ่อติดลบ 3% เอกชนพลิกกลยุทธ์ใหม่ ผุด “ฟู้ดกิฟต์” เจาะลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติกู้ยอดขาย
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านปี 2562 คาดว่าจะติดลบ 3% หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท และอาจจะติดลบต่อเนื่องไปถึงปี 2563 จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวรวมไปถึงปัจจัยปัญหาค่าเงินบาทปรับแข็งค่าอย่างต่อเนื่องทำให้แข่งขันลำบาก ซึ่งหากจะแข่งขันได้ค่าบาทควรอยู่ในกรอบ 31-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
“ปัจจุบันสินค้ากลุ่มของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้าน 30% ขายภายในประเทศ และส่งออก 70% ไปตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป เมื่อตลาดมีปัญหาเศรษฐกิจไม่ขยายตัว ส่งออกก็ลดลง และโดยปกติฤดูการซื้อขายก็มีเพียง 3 เดือนสุดท้ายของทุกปี ซึ่งยอดขายเพิ่มขึ้นเพียง 3 เดือนสุดท้ายไม่เทียบเท่ากับการส่งออกทั้งปี”
ล่าสุดทางสมาคมปรับกลยุทธ์ โดยได้หารือกับทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป โดยมีแนวคิดว่าควรจัดทำของที่ระลึกจากสินค้าอาหาร หรือ food gift เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยเป็นหลัก ซึ่งมีมากถึง 40 ล้านคน และมีการซื้อขายสินค้าในกลุ่มนี้สูงถึงประมาณ 7 แสนล้านบาท อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงสินค้าและบริการได้มาก หากกลยุทธ์นี้สำเร็จเชื่อว่ามูลค่าการค้าการซื้อขายจะเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมคัดเลือกว่าของที่ระลึกนั้นจะเป็นสินค้าประเภทใด จำหน่ายอย่างไร ราคาเท่าไร เพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้ามากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ ผลไม้ หรือโอท็อป มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนช่องทางการจำหน่ายควรผ่านห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก เพราะสะดวกและมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมาก ทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในไทยซื้อกลับเป็นของฝาก และยังมีกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศด้วย”
นอกจากนี้ มุ่งหาแนวทางส่งเสริมให้สามารถจำหน่ายสินค้าของขวัญได้ทุกฤดูกาล เช่น อาจมีร้านหรือบูทประจำสำหรับจำหน่ายสินค้านี้ให้ได้ทุกฤดูกาล ไม่เพียงเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น
“หากกลุ่มผู้ประกอบการไม่เร่งปรับตัวจะแข่งขันลำบาก และเลิกกิจการ ปัจจุบันก็เลิกกิจการไปเป็นจำนวนมากแล้ว ขณะนี้สมาชิกของสมาคมมีประมาณ 350 ราย จากจำนวนผู้ประกอบการจริงในตลาดประมาณ 3,000 ราย ซึ่งตัวเลขมีจำนวนมาก เพราะต้องยอมรับว่าตลาดนี้เข้าง่าย แต่ผู้ประกอบการใหม่เข้ามาในตลาดจะอยู่รอดตลอดไปเป็นเรื่องยาก”
นอกจากสงครามการค้า และค่าเงินบาทแล้ว ต้องยอมรับว่าถูกเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์มาเป็นเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีเข้ามาส่งผลให้ไม่ต้องพึ่งพาแรงงาน และที่สำคัญ ผู้ประกอบการสัดส่วนกว่า 80% ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เป็นผู้รับจ้างผลิต มีการพัฒนาแบรนด์ตัวเองน้อยมาก ขณะที่ปัจจัยเรื่องภาษีออนไลน์กำลังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองว่าจะมีผลต่อการซื้อ-ขายออนไลน์ของผู้ประกอบการด้วย