อียูเข้ม “มาตรฐานRSPO” สกัดนำเข้าปาล์มรุกที่ป่า

ภาพประกอบข่าว

“เอกชน” แนะ 4 กระทรวงยกเครื่องปลูกปาล์มยั่งยืนเพื่อส่งออกตามมาตรฐาน “RSPO” อย่าใช้แต่ประกันรายได้ หวังผลระยะสั้น

นายธิตินัย พงศ์พิริยะกิจ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (GIZ) กล่าวว่า หลังจากสหภาพยุโรปรณรงค์เรื่องการปลูกปาล์มเพื่อความยั่งยืน โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมตามมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันโลก 3 ประเทศหลัก คือ อินโดนีเซียผลิตได้ 40 ล้านตัน มาเลเซีย 20 ล้านตัน รวมถึงไทยที่ผลิตได้ 3 แสนตัน ซึ่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 90% ของผลผลิตโลก

“แม้ไทยไม่ใช่เป้าหมายเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ด้วย ที่ผ่านมาได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รับรองมาตรฐาน RSPO ทำให้ผู้ผลิตสินค้าจากทั่วโลกหันมานำเข้าปาล์มน้ำมันจากไทย เช่น บอดี้ช็อปซื้อไปเพื่อผลิตเครื่องสำอาง ช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาสูง มีต้นทุนการผลิตลดลง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จากนี้ได้ประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรช่วยผลักดันเกษตรกรไทยปลูกปาล์มภายใต้มาตรฐานนี้มากขึ้น”

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด กล่าวว่า แม้จะมีมาตรการประกันรายได้เกษตรกรปลูกปาล์มแต่เป็นมาตรการระยะสั้นและไม่ยั่งยืน รัฐควรเร่งกำหนดมาตรการระยะยาวแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้ตามทิศทางและกฎระเบียบของตลาดโลก ซึ่งจะเน้นเรื่องความยั่งยืนทั้งห่วงโซ่การผลิตเพื่อผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น

“ปัจจุบันไทยไม่สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มได้ ผู้ประกอบการในประเทศกังวลว่าหากส่งออกมากจะทำให้ขาดวัตถุดิบในการผลิตสินค้า จึงยอมซื้อปาล์มเก็บสต๊อกไว้ส่งผลให้ไทยมีปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจำนวนมาก และยังมีราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย กก.ละ 2 บาท ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ดูแลยังไม่เข้าใจระบบ กลไกอุตสาหกรรม ขาดการบูรณาการ แต่ในอนาคตจำเป็นต้องยกระดับแปลงใหญ่ ผลักดันมาตรฐานความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาสูงและมีรายได้มากขึ้น”

นายดาโต๊ะ ดาร์เรล เวเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ RSPO กล่าวในการประชุมน้ำมันปาล์มยั่งยืนปีนี้ว่า ขณะนี้มีเกษตรกรผ่านมาตรฐาน RSPO เพิ่มขึ้น 52% โดยจำนวนเกษตรกรรายย่อยทั้งหมดเพิ่มขึ้น 165% ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างน่าพอใจในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ ปัจจุบันพื้นที่ที่ผ่านการรับรอง RSPO เพิ่มขึ้น 22% ปีต่อปี หรือประมาณ 24.3 ล้านไร่ ใน 16 ประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองอย่างยั่งยืน (CSPO) 14.29 ล้านตัน และน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดปาล์มที่ได้รับการรับรองอย่างยั่งยืน (CSPK) อีก 3.21 ล้านตัน และปีนี้ RSPO ได้อนุมัติสมาชิกผู้ปลูกน้ำมันปาล์มใหม่อีก 19 ราย ส่งผลให้มีองค์กรเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐานแล้วรวม 71 ราย