“ไทยซัมมิท” นำร่อง 270 ล้าน ตั้งโรงงานสายไฟนิคมสระแก้ว

แฟ้มภาพประกอบ

“ไทยซัมมิท” ทุ่ม 270 ล้าน นำร่องตั้งโรงงานรายแรกใน “นิคมสระแก้ว” พร้อมวิ่งหา “พาร์ตเนอร์” รับธุรกิจ S-Curve เผยยังไม่มั่นใจบิ๊กต่างชาติ “แอร์บัส” ลงทุนใน EEC จริงหรือไม่

นายสาโรจน์ วสุวานิช รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) เพื่อเตรียมลงทุนโรงงานผลิตชิ้นส่วนสายไฟสำหรับยานยนต์ มูลค่า 270 ล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ 23 ไร่ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 ผลิตสินค้าป้อนให้กับค่ายรถยนต์ในประเทศ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า วอลโว่ มิตซูบิชิ อีซูซุ จีเอ็ม ยามาฮ่า ดูคาติ และคาวาซากิ เป็นต้น และบริษัทยังมุ่งหาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ทั้ง 10 จังหวัดที่รัฐบาลประกาศ เช่น จ.ตาก กาญจนบุรี เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทยอยประกาศยกเลิกการส่งเสริมกิจการประเภทชิ้นส่วนชุดสายไฟ (Wiring Harness) ดังนั้น การขยายลงทุนใหม่ในกิจการเหล่านี้จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ และสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับกำลังจะหมดลงในอีก 5 ปี บริษัทจำเป็นต้องใช้แผนขยายการลงทุนในพื้นที่ที่ให้สิทธิประโยชน์อื่นทดแทน

สำหรับแผนการลงทุนทั้งหมดของกลุ่ม คือ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) ผลิตชุดสายไฟ/ชิ้นส่วนไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์, บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบังโอโตพาร์ท จำกัด ขึ้นรูปโลหะสำหรับยานยนต์, บริษัท ไทยซัมมิท พลาสเทค จำกัด ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์และเครื่องจักรกลอื่น ๆ ในปี 2560 ได้ทยอยใช้เงินลงทุนที่ตั้งไว้ 5,000 ล้านบาท ในการควบรวมกิจการ (M&A) การหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันให้มีการลงทุนในพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องจับมือพาร์ตเนอร์ศึกษาเตรียมแผนลงทุนแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยานระหว่างนี้แม้ว่าโครงการลงทุนใน EEC ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือการลงทุนจากต่างชาติยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่บริษัทจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้เพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในอนาคต เช่น พัฒนาบุคลากร ลงทุนเทคโนโลยีใช้หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตกว่า 2,000 ตัวทดแทนคนได้ถึง 5,000 คน เพื่อให้เกิดความแม่นยำในบางไลน์การผลิต และย้ายพนักงานดังกล่าวไปสู่ไลน์การผลิตอื่นโดยไม่ต้องเลิกจ้าง

“รัฐบาลบอกแค่ว่านักลงทุนรายไหนสนใจมาลงที่ EEC แต่ไม่ได้การันตีว่าลงทุนจริงหรือไม่ และเมื่อไร ขณะที่ พ.ร.บ. EEC ยังไม่ออก ซึ่งเราก็ห่วง เช่น แอร์บัสจะสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภา ถึงลงนามความร่วมมือ (MOU) แล้วก็จริง แต่จะลงทุนจริงหรือไม่ ถ้ารัฐยืนยันว่าจริง เราจะได้เตรียมแผนที่จะซัพพอร์ต แม้ตอนนี้ยังไม่คิดไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีจึงต้องมองหาพาร์ตเนอร์ไปก่อน”

โดยปี 2560 ตั้งเป้ายอดขายทั้งกลุ่มรวม 40 แห่ง แบ่งเป็นอยู่ในไทย30 แห่งและในต่างประเทศอีก 8 แห่งไว้ที่ 79,136 ล้านบาท กลยุทธ์คือการเดินไปตามเทรนด์ของตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้น หาพื้นที่ลงทุนใหม่ ๆ เกาะติดตั้งโรงงานใกล้กับคู่ค้ายานยนต์

นายจุติณัฏฐ์ สิริมังคลกิตติ รองประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า นิคมที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนทั้งหมดคือเป้าหมายการลงทุนของบริษัท พิจารณาจาก 1.สิทธิประโยชน์ ผลิตแล้วซัพพอร์ตให้คู่ค้าคุ้มกว่า 2.ลดต้นทุน สามารถใช้แรงงานทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งเพื่อนบ้านได้ อัตราค่าแรง 300 บาท/วัน ขณะที่ค่าแรงในพื้นที่ตะวันออกต้องจ่ายในอัตราสูงบางราย 500 บาท/วัน และพื้นที่นิคมสระแก้ว กนอ.เริ่มดำเนินการแล้วมีความพร้อมทุกอย่าง