ผวาแล้งหนักลามทั่วประเทศ พื้นที่นาปรัง-นิคมอุตสาหกรรมเสี่ยง

แฟ้มภาพ

เขื่อนขนาดใหญ่-กลาง 447 แห่งทั่วประเทศน้ำลดฮวบเกือบ 50% ผวาแล้งหนัก สทนช.ถกรับมือด่วน 11 ธ.ค.นี้ ภาคตะวันออก-ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงสุด สั่งงดทำนาปรัง เน้นจัดสรรอุปโภคบริโภค งัดแผนสำรองผันน้ำจากแม่กลองช่วย ชี้น้ำเค็มทะลัก หวั่นลามผลิตประปา ภาคตะวันออก-อีสานวิกฤตหนัก กระทบน้ำกินน้ำใช้-โรงงานอุตสาหกรรม

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 มีสัญญาณว่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศที่ลดลงมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ต้องปรับลดลงตามไปด้วย

แล้ง 1 เดือน น้ำใช้ลด 50%

ข้อมูลกรมชลประทาน ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2562 มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 447 แห่ง รวม 49,078 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 60,141 ล้าน ลบ.ม. หรือหายไปเกือบ 20,000 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 25,193 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ 36,211 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ลดลง 11,063 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เป็นการปรับลดลงเกือบทุกพื้นที่ แต่พื้นที่เสี่ยงที่ปริมาณน้ำลดลงมากที่สุดคือ ภาคกลาง ลดลง 43% จาก 1,023 ล้าน ลบ.ม. เหลือเพียง 588 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35%และหากดูตัวเลขปริมาณน้ำที่ใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 11,633 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุ มีน้ำใช้การได้ 4,937 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 27% ของความจุ ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 19,012 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 76% ของความจุ และใช้การได้ 12,316 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของความจุ เท่ากับน้ำใช้การได้หายไปเกินกว่าครึ่งจากปีก่อน ทั้งที่ฤดูแล้งเพิ่งผ่านไปเพียง 1 เดือน (พ.ย.) ยังเหลืออีก 5 เดือน ถึงเดือน เม.ย. 2563

ก๊อก 2 รับมือลุ่มเจ้าพระยาขาดน้ำ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/2563 ในลุ่มเจ้าพระยาล่วงหน้าแล้ว คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ 5,377 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ก้อนแรก 4,000 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 65%) จะถูกจัดสรรช่วงเดือน พ.ย. 62-เม.ย. 63 สำหรับรักษาระบบนิเวศ 2,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ของน้ำต้นทุน รองลงมาใช้อุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% ปลูกพืชต่อเนื่องและอื่น ๆ อีก 515 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% และใช้ในภาคอุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3% หากไม่เพียงพอจะต้องผันน้ำจากกลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามารวม 500 ล้าน ลบ.ม. ส่วนน้ำต้นทุนก้อนที่ 2 ปริมาณ 2,227 ล้าน ลบ.ม. หรือสัดส่วน 35% ของน้ำต้นทุน จะจัดสรรใช้ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 63 แบ่งเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 1,845 ล้าน ลบ.ม. หรือ 83% ปริมาณน้ำสำรองกรณีฝนทิ้งช่วง 386 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17% หากไม่เพียงพอจะจัดสรรน้ำแม่กลองมาช่วยอีก 350 ล้าน ลบ.ม.

น้ำเค็มจ่อเข้าสำแลอีก 40 กม.

ปริมาณน้ำต้นทุนที่ปรับลดลงนี้ ไม่เพียงสร้างความกังวลต่อการจัดการน้ำในฤดูแล้ง แต่น่าห่วงปัญหาน้ำเค็มที่จะทะลักเข้ามาด้วย เนื่องจากขณะนี้ค่าความเค็มทะลักเข้ามาแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้ค่าความเค็มบางพื้นที่สูงเกินมาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่กำหนดไว้ 0.25-0.50 กรัม/ลิตร โดยเฉพาะบริเวณด่านจุดวัดค่าความเค็ม 3 จุด จากทั้งหมด 4 จุด คือ จุดที่ 1.กรมชลประทานสามเสน ห่างจากปากน้ำ 58 กม. ค่าความเค็ม 2.54 กรัม/ลิตร ไล่มาสู่จุดที่ 2 ท่าน้ำนนท์ ห่างจากปากน้ำ 65.6 กม. ค่าความเค็ม 1.73 กรัม/ลิตร จุดที่ 3 สะพานพระนั่งเกล้า ห่างจากปากน้ำ 69. กม. ค่าความเค็ม 0.92 กรัม/ลิตร จากจุดนี้ระยะทางไม่ถึง 40 กม. จะเข้าสู่จุดวัดที่ 4 สถานีน้ำประปาสำแล ซึ่งห่างจากปากน้ำ 100 กม. ขณะนี้ค่าความเค็มอยู่ที่ 0.16 กรัม/ลิตร หมายความว่าน้ำเค็มทะลักจากปากน้ำเข้ามาใกล้จุดที่ใช้เป็นแหล่งน้ำผลิตน้ำประปาหลัก คือ สำแล อีกเพียง 31 กม.เท่านั้น

สทนช.เรียกถกด่วนรับมือแล้ง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยราชการแต่ละพื้นที่ไปสำรวจสถานการณ์ภัยแล้ง และจัดเตรียมแผนปฏิบัติการบริหารจัดการปัญหาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562-เม.ย. 2563 เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพออุปโภคบริโภค โดยจะประชุมประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง วันที่ 11 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ สทนช.จะนำข้อมูลที่ได้มากำหนดมาตรการเสริม ของบประมาณฉุกเฉินเพิ่ม ต้องยอมรับว่าช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 2563 ต้องเฝ้าระวังเต็มที่ หากไม่มีปริมาณน้ำสำรองมาเติมจะมีความเสี่ยงสูง

“พื้นที่ต้องเฝ้าระวังคือภาคตะวันออก และจังหวัดแถบลุ่มเจ้าพระยา เพราะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ลดลง น้ำเค็มหนุนสูงเร็วขึ้น ได้ขอให้การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และประปาท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมน้ำ กรมน้ำบาดาล ร่วมประเมินสถานการณ์ และหาทางรับมือ ส่วนปัญหาน้ำเค็มหนุน เบื้องต้นมีแผนให้กรมชลฯปล่อยน้ำจากเขื่อนผลักดัน และนำน้ำบาดาลมาใช้มากขึ้น รวมถึงผันน้ำจากโรงงานประปาฝั่งวันตะวันตกมาช่วย หลัก ๆ คือผู้บริโภคต้องไม่ขาดแคลนน้ำ”

ฐานรากอ่วมแล้งสุดรอบ 10 ปี

สำหรับแผนการปลูกพืชช่วงหน้าแล้งปี 2562/2563 ประกอบด้วย 1)ไม่ส่งเสริมการทำนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เท่าที่สำรวจพบว่าเกษตรกรขยายพื้นที่ทำนาปรังเพิ่มทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ ในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค. จะประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาลุ่มแม่น้ำโขง จะจัดสรรน้ำบาดาลให้เพียงพออุปโภคบริโภค และใช้ในโรงพยาบาล 2) รอข้อมูลมหาดไทยสำรวจประปาท้องถิ่น 3) ข้อมูลกระทรวงเกษตรฯวางแผนการผลิตพืช จะเน้นปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้น

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกร กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรงสุดในรอบหลาย 10 ปี เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนปรับลดลงทั้งหมด เบื้องต้นสภาเกษตรกรได้แจ้งเตือนสมาชิกแล้ว คาดว่าปีนี้ชาวนาจะไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังปี 2562 ได้ จะทำให้ปริมาณการผลิตพืชสวนหลายชนิด รวมถึงผลไม้ลดลง โรงงาน ผู้บริโภคอาจต้องซื้อสินค้ากลุ่มนี้ในราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันได้เร่งรัดภาครัฐจัดทำมาตรการรับมือ รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยา

ระยอง-ชลบุรีรับวิกฤตน้ำแล้ง

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในต่างจังหวัด นายนพดล ตั้วทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ปีหน้าภาคตะวันออกโดยเฉพาะระยอง ชลบุรี จะมีปัญหาน้ำแล้งรุนแรงเหมือนกับ 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากอ่างเก็บน้ำหลักในระยอง ซึ่งต้องส่งน้ำไปให้ชลบุรีด้วย ได้แก่ ประแสร์, คลองใหญ่, หนองปลาไหล, ดอกกราย ปริมาณน้ำต้นทุนเหลือเพียง 50% ซึ่งไม่เพียงพอ เนื่องน้ำฝนน้อยไม่ถึง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณการใช้น้ำทั้งหมดในภาคตะวันออก แบ่งเป็นใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม 60-70% ภาคเอกชนจึงได้นำเรื่องนี้หารือผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และได้เร่งรัดกรมชลฯแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่ทำได้เพียงรณรงค์ประหยัดน้ำ เพื่อยืดเวลาใช้น้ำไปใช้ถึงเดือน มิ.ย. 2563 รวมถึงเจาะบ่อบาดาลช่วย

เขื่อนอุบลรัตน์น้ำต่ำรอบ 53 ปี

ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขอนแก่นประสบภัยแล้งหนักสุดใน อ.หนองเรือ อ.มัญจาคีรี อ.ชุมแพ อ.ภูผาม่าน อ.สีชมพู ถัดมาเป็นอำเภอที่อยู่รอบเขื่อนอุบลรัตน์ ส่วน อ.บ้านไผ่กระทบน้อย เพราะหลังน้ำท่วมได้ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเต็มความจุ และยังมีบริมาณสูง สถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ล่าสุดอยู่ที่ 22% หรือ 535 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่า dead storage ซึ่งได้ปรับการระบายน้ำเพื่อใช้ในการประปา อุปโภคบริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงพอทำการเกษตร

“ได้แจ้งประชาชนล่วงหน้าตั้งแต่เดือน ต.ค. ว่าจะเกิดภัยแล้ง ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ต่ำที่สุดในรอบ 53 ปี ตั้งแต่ก่อสร้างเขื่อน วันที่ 9 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมลุ่มน้ำโดยมีตัวแทนจาก จ.หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ประเมินสถานการณ์เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา”

โรงงานแปรรูปเดี้ยงวัตถุดิบหด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ปัจจัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโพดหวาน 11 เดือนแรกลดลง 8% ขณะที่การผลิตสับปะรดลดลง 38% โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนลดลงอย่างมาก จากที่คาดว่าจะมีวัตถุดิบ 110,000 ตัน เหลือเพียง 80,000 ตัน ส่งผลกระทบต่อโรงงานแปรรูปผักและผลไม้กระป๋อง ทำให้มีวัตถุดิบไม่เพียงพอและมีแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้น เช่น สับปะรดราคา กก.ละ 7.3-8.7 บาท ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออก 10 เดือนแรกกลุ่มข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง อยู่ที่ประมาณ 5,094 ล้านบาท ลดลง 12.1% กลุ่มข้าวโพดหวานแช่แข็ง มี 647 ล้านบาท ลดลง 5.7% ขณะที่สับปะรดกระป๋องมูลค่า 407,112 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 503,403 ล้านบาท