“อภิรดี”ปัดถกUSTRนำเข้าหมู เดินหน้าดึง2แบรนด์ดังกระเป๋าลงทุนไทย

“พาณิชย์” ถก USTR สหรัฐ 12-17 ก.ย. ปัดหารือเรื่องเปิดตลาดนำเข้าสุกร แง้มอาจจะมีข่าวดี หวังดึงผู้ผลิตแบรนด์เนมกระเป๋า 2 รายดังลงทุนไทย รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP 0%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสนำคณะผู้บริหารเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.นี้ เพื่อพบและหารือกับหน่วยงานสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการเตรียมการก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ และเป็นการติดตามผลการดำเนินงานตามที่หารือ ในกรอบความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ (TIFA)

“ประเด็นเรื่องการเจรจาเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐไม่ได้มีการหารือกันในรอบนี้ เพราะหลังจากรับทราบข้อกังวลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติถึงเรื่องผลกระทบหากไทยเปิดตลาด ต้องไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคปศุสัตว์ เพื่อขอทราบท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อน กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถเดินหน้าเจรจาโดยลำพังได้ แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เจรจาแต่ต้องขอความเห็นจากทุกภาคส่วน”

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปครั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือถึงความคืบหน้าในหลายประเด็น อาทิ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐ (USPTO) เรื่องการสร้างความร่วมมือเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกัน โดยไทยหวังว่า MOU จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อีกทั้งไทยเพิ่งประกาศเข้าร่วมการเป็นสมาชิกภายใต้พิธีสารมาดริด เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศสมาชิก 98 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

พร้อมกันนี้ยังมีแผนจะหารือกับภาคเอกชนสหรัฐ ผู้ผลิตกระเป๋าและเครื่องเดินทาง 2 ราย ที่เคยได้ไปพบเมื่อเดือนเมษายน 2560 (Coach และ Tumi) ซึ่งทั้ง 2 รายให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนผลิตในไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากสหรัฐ (GSP) เป็น 0% จากก่อนหน้านี้ที่มีอัตราอากรนำเข้าถึง 4.5-20%

โดยในปี 2559 สหรัฐนำเข้าสินค้านี้จากทั่วโลกประมาณ 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการนำเข้าจากไทยเพียง 46 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วน 0.67% ขณะที่นำเข้าจากจีน 65% และเวียดนาม 30%

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นการเปิดเสรีนำเข้าเนื้อสุกรและเครื่องในสุกร ที่เลี้ยงโดยการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรกโตพามีน) ของสหรัฐนั้น ข้อเท็จจริงคือ สหรัฐอ้างว่าต้องการให้ไทยทำตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex ซึ่งอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวได้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมู เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อเรียกร้องที่มีการหารือกันมาเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาเคยเกิดข้อพิพาทลักษณะนี้จนมีการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป จีน ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าสหรัฐอาจจะกดดันไทย โดยอ้างมาตรฐาน Codex และนำไปสู่การฟ้องร้อง

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเปิดตลาดอาจจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้า เช่น การบังคับให้ผู้ผลิตต้อง “ติดฉลากเป็นภาษาไทย” บนผลิตภัณฑ์ว่าใช้สารเร่งเนื้อแดงปริมาณเท่าไร เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ ซึ่งแนวทางนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานต้นทาง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เคยทำหนังสือสอบถามไปแต่ไม่ได้รับคำตอบ

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรแสดงความกังวลว่าหากไทยยอมนำเข้าตามที่สหรัฐเรียกร้อง จะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้รับผลกระทบ และที่สำคัญต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยยังสูงกว่าสหรัฐ จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไทยไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าในการเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะมีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์แล้ว ยังปรากฏว่ามีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมด้วย อาจมีการหารือเรื่องหลักเกณฑ์กำกับดูแลธุรกิจบริการสื่อสาร และแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ซึ่งผู้ประกอบการสหรัฐ เช่น เฟซบุ๊กยูทูบ ต้องการให้ไทยหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนมีผลบังคับใช้ด้วย