อีอีซีควบคลัง-บีโอไอ-ปตท. ดึงบริษัทระดับโลกลงทุนดันเศรษฐกิจฐานราก

เม็ดเงินลงทุนภาครัฐ คือดัชนีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2563 การปักหมุดโครงการขนาดใหญ่ ทั้งในรูปแบบที่รัฐบาลลงทุนเอง และการร่วมลงทุนกับเอกชนทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นมาตรการหัวหอก-ด่านหน้า นำนโยบายลงสู่การปฏิบัติจริง แต่ไม่ใช่เพียงตัวเลขลงทุนที่เพิ่มขึ้น-ดันตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจส่วนบนอู้ฟู่ ที่มากกว่านั้นรัฐบาลต้องการให้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลผ่านลงสู่รายได้ระดับชุมชนด้วย

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กำกับกระทรวงการคลัง, รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หน่วยงานที่กำเม็ดเงินลงทุน-สางงานใหม่ให้ตอบโจทย์เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ กระจายลงสู่ฐานรากให้เป็นรูปธรรม

ดันอีอีซีจับมือ ปตท.-บีโอไอ เคลื่อนลงทุนสู่ฐานราก

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี คือหนึ่งในเป้าหมายที่ “สมคิด” ต้องการดันเงินลงทุนจากปี 2562 ที่ลงทุนจริงไปแล้ว 404,982 ล้านบาท จาก 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

“แนวทางการดำเนินงานอีอีซี 2563 ต้องเน้นขยายการลงทุนสู่ชุมชนเพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ภายใต้คณะกรรมการพิเศษ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เชื่อมกับเศรษฐกิจระดับเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และจะใช้เครื่องมือของบีโอไอจูงใจให้เอกชนเข้าไปลงทุนอีกทาง”

“นอกจากนี้ จะให้บริษัท ปตท.กำหนดแผนงาน-งบประมาณในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ด้าน CSR ให้เห็นชัดเจนในการลงทุนตอบโจทย์ชุมชน จะบอกให้บริษัท ปตท.เลิกพูดเรื่อง CSR จัดงบประมาณเพียงแค่การสร้างภาพลักษณ์องค์กร แต่ต้องกำหนดเป้าหมายเรื่องช่วยเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสามารถให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษีจากบีโอไอได้”

ผู้มีรายได้น้อยในอีอีซี 3.5 ล้านคนจะหมดไปใน 3 ปี

ทั้งนี้ ตัวเลขเป้าหมายการพัฒนาคนที่ “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการอีอีซี รายงานต่อรองนายกรัฐมนตรี คือ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ 350,000 คน จะลดจำนวนลงและหมดไปภายใน 3 ปีด้วยการพัฒนา SMEs OTOP แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ e-Commerce ขยายการท่องเที่ยวเมืองรอง

บีโอไอรับลูกชงแพ็กเกจให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อนุมัติ

เพื่อให้สอดรับกับนโยบายในการช่วยฐานรากดังกล่าว “นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รับข้อเสนอของ “สมคิด” ปฏิบัติทันทีด้วยการปรับปรุงหลักเกณฑ์สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจฐานรากใหม่ให้จูงใจเอกชนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีเอกชนสนใจยื่นลงทุนน้อยจึงจะเข้าหารือกับ ธ.ก.ส.เพื่อรับโจทย์ความต้องการของชุมชนไปจัดทำแพ็กเกจให้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น และเสนอต่อบอร์ดบีโอไอซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมครั้งต่อไปเดือนกุมภาพันธ์ 2563

เร่งรัดดึงลงทุน “รายมณฑล”

“ดร.คณิศ” กล่าวว่า อีอีซีได้เดินหน้ามาถึงระยะที่ 4 แล้ว ต่อจากนี้จะเร่ง 3 โครงการให้เสร็จภายในไตรมาส 3 ให้ได้ผู้ชนะการประมูลโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในไตรมาส 1 และลงนามในสัญญาให้จบภายในไตรมาส 3 และมีการลงทุนในไตรมาส 4 ให้ได้ตามแผนการลงทุน 650,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2562-2566) เฉลี่ยการลงทุนจากโครงสร้างพื้นฐานปีละกว่า 130,000 ล้านบาท และเป็นการลงทุนรวมจากภาคอุตสาหกรรมตามเป้าอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท/ปี

“ปีนี้จะต้องเร่งรัดขับเคลื่อนการลงทุนรายประเทศ รายมณฑล เป้าหมายคือ มณฑลกวางตุ้ง ที่จะมีความร่วมมือในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเดิมมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันแล้ว เจาะรายบริษัทในกว่างโจว เสิ่นเจิ้น จูไห่ ดึงบริษัทเป้าหมายและเทคโนโลยีจากหัวเว่ย ลงทุน 5G และหัวเว่ย อะคาเดมี, BYD รถไฟฟ้า, BGI การแพทย์จีโนมิกส์, Mindray”

เป้าหมาย “ฮ่องกง” ร่วมมือในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล startup มีลงนามความร่วมมือกับองค์การพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) และสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) มีบริษัทเป้าหมาย เช่น King Wai Group, Hong Kong Science, Technology Parks Corporation

มณฑลเจ้อเจียง (หางโจว) เน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง และ e-Commerce เป้าหมายหลักดึงบริษัทในเครือฟู่ทง กรุ๊ป, กองทุนเกาเผิง, Funs (Beijing) Group เข้ามาลงทุน

มณฑลเหอหนาน มีความร่วมมือในอุตสาหกรรมเมืองการบิน Aerotropolis และโลจิสติกส์ทางอากาศ โดยจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กับสำนักงานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) ด้านมหานครการบิน

อมตะเตรียมที่ 600 ไร่ให้ไต้หวัน

“ไต้หวัน” คืออีกหนึ่งนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจสีเขียว การแพทย์และเภสัชกรรมอัจฉริยะ ในปีนี้เตรียมเดินทางพบปะกับบริษัทเทคโนโลยีระดับสูงของไต้หวันช่วงไตรมาส 2/2563 ขณะที่บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) จัดตั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเฉพาะนักลงทุนไต้หวัน 600 ไร่ไว้รองรับที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้

โดยมีเป้าหมายดึงบริษัท TCI ผู้ผลิตอาหารและเกษตรครบวงจร มุ่งเน้นนําผลผลิตมาแปรรูปกลุ่มอาหาร antiaging และกลุ่ม probiotics, OBI pharma มีความเชี่ยวชาญในการผลิตยากลุ่มโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ ผลิตยาที่ใช้เทคโนโลยี passive glycan ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมีศูนย์วิจัยในอเมริกาและจีน, Pharma Essentia ผู้ผลิตยารักษาโรคทางโลหิตวิทยา โรคติดเชื้อ เนื้องอก โดยมีสำนักงานศูนย์วิจัยหลักที่ญี่ปุ่นและอเมริกา และอีกหนึ่งเป้าหมาย คือ Solomon Technology

ขยายผลเขตเศรษฐกิจพิเศษเหนือ-ใต้


ภายใต้การทำงานร่วมกันครั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะจัดทำยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ “นายทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒน์ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เฉพาะในรูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งภาคเหนือ (NEC) และภาคใต้ (SEC) ภายใต้รูปแบบการบริหารและสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอีอีซี