ข้าวไทยเนื้อหอม คาดจะมีคำสั่งเพิ่มขึ้นจากการล็อกดาวน์ของประเทศผู้ส่งออก

สนค.เผยจับตามาตรการล็อกดาวน์ของต่างประเทศ ส่งผลข้าวไทยเนื้อหอม ทั่วโลกแห่ซื้อ แนะผู้ส่งออกบริหารจัดการสต๊อกให้สมดุล ไทยเป็นประเทศที่มีสต๊อกข้าวมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และอินเดีย มั่นใจปริมาณข้าวเพียงพอเพื่อใช้บริโภคในประเทศ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงผลการศึกษาข้าวไทยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า จากการศึกษาและรายงานสถานการณ์ตลาดข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น อินเดีย จีน และเวียดนาม ต่างหันมาใช้มาตรการปิดประเทศ (Lockdown) และเน้นการผลิตอาหารเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก และอาจทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งต้องการนำเข้าข้าว หันมาสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนของไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และคำนึงถึงการบริหารจัดการสต๊อกข้าวสำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกข้าวอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุด ประเทศต่างๆ น่าจะมีความต้องการบริโภคข้าวและสินค้าอาหารที่ได้คุณภาพและมีมาตรฐานสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะเป็นโอกาสทองของไทยในการผลักดันการส่งออกข้าวไทยไปยังทั่วโลก

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอกสารรายงานของ World Agricultural Supply and Demand Estimates ของ United States Department of Agriculture (USDA) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 ได้รายงานปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคข้าวของโลก พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวอันดับ 5 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม การผลิตข้าวของไทยคิดเป็น 4.07% ของผลผลิตข้าวของโลก และในปีการผลิตข้าว 2562/2563 คาดว่ามีปริมาณสต๊อกข้าวต้นปี (คงเหลือจากปี 2562) ประมาณ 4.24 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าทั้งปีการผลิต 2562/2563 จะมีผลผลิตออกมาประมาณ 18.50 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศ 11.70 ล้านตัน และส่งออกไปยังโลกจำนวน 7.50 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปลายปีจะมีปริมาณข้าวคงเหลือในสต๊อกอีก 3.79 ล้านตัน ซึ่งถือว่าไทยเป็นประเทศที่มีสต๊อกข้าวปลายปีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และอินเดีย

“หากพิจารณาจากรูปแบบการบริหารจัดการผลผลิตข้าวของไทย พบว่าความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 50% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของไทย ในขณะที่ไทยส่งออกในสัดส่วน 32.03% และอีก 17.97% เป็นปริมาณคงเหลือในแต่ละปี แสดงว่าไทยมีการแบ่งสัดส่วนสำหรับการบริโภคภายในประเทศก่อนการส่งออกเสมอ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมาก คาดว่าจะทำให้การบริโภคข้าวในของนักท่องเที่ยวในไทยลดลงไปด้วย โดยสถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้มีปริมาณข้าวสำหรับประชาชนไทยในประเทศเพิ่มขึ้น”

สำหรับสถานการณ์ข้าวในประเทศในปีการผลิต 2562/2563 ผลผลิตข้าวเปลือกจากเกษตรกรทั่วประเทศมีปริมาณ 28.44 ล้านตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% ปริมาณ 11.04 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย 9.43 ล้านต้น ข้าวเหนียว 6.43 ล้านตัน และข้าวอื่น ๆ 1.58 ล้านตัน เมื่อแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วมีปริมาณ 18.80 ล้านตัน ส่งออก (ปี 2562) 7.58 ล้านตัน จึงมีส่วนเกินเหลือใช้ในประเทศได้ 11.22 ล้านตัน เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนได้ถึง 6-7 เดือน