SMEs ไทยรับมือโควิดไม่ไหว เข้าขั้นโคม่าร้องตู่เหลือเงินหมุนแค่ 27 วัน

เปิดผลสำรวจธุรกิจ SMEs ใกล้ตาย มีเงินสดสำรองประคองธุรกิจได้เพียง 27 วัน สะเทือนเศรษฐกิจกว่า 11,000 ล้านบาท การจ้างแรงงาน 10,000 คน หวั่นเชื้อไวรัสโควิด-19 ลากยาว ชง 4 ข้อเสนอถึง “นายกรัฐมนตรี” ด่วน ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมส่งมาตรการเยียวยาพักชำระหนี้ช่วยบรรเทา

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภา SMEs) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2562 บวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจ SMEs อย่างมาก ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือโดยตรงและชัดเจนออกมาช่วย นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีข้อมูลในเชิงลึกที่จะเป็นตัวประเมินสถานะ SMEs เพื่อนำมาวิเคราะห์และหามาตรการช่วยเหลือได้ตรงจุด

“ทางสภาทำแบบสำรวจปัญหาและแนวทางแก้ไขจากภาคีเครือข่าย 170 องค์กร ซึ่งประกอบด้วย สมาคม มูลนิธิ ชมรม และชุมชน ผลการสำรวจเพียงระยะเวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่รัฐบาลประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ พบว่า SMEs เริ่มที่จะไม่มีเงินสดหมุนเวียน หรือมีเงินสดหมุนเวียนได้เพียง 27 วันเท่านั้น ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาวทันที”

สำหรับข้อเสนอแนะ คือ 1.ขอให้ปลดล็อกเงื่อนไขเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ 2.ขอให้รัฐนำมาตรการทางด้านภาษีเข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดภาระ 3.รัฐต้องช่วยหาตลาด เนื่องจากสินค้าที่ผลิตออกมายังมีช่องทางระบาย 4.รัฐต้องสนับสนุนเรื่องการนำเข้า-ส่งออกรองรับหลังวิกฤตยุติลงโดยเร็ว

“เราสำรวจเพียงแค่ 7 วัน ยังพบว่า SMEs ที่ตอบกลับเข้ามามีมูลค่าตลาดถึง 11,000 ล้านบาท มีแรงงานกว่า 10,000 คน ที่กำลังเรียกร้องและขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วย ส่วนเงินสดสำรอง 27 วันนี้ รัฐไม่เคยมีข้อมูล เราจึงต้องนำข้อมูลเหล่านี้รวบรวมให้รัฐทราบ เพราะเงินสำรองตรงนี้สำคัญ ซึ่งเราอ้างอิงจากสหรัฐ ที่สถานการณ์ SMEs อยู่ในสถานะใกล้เคียงกับไทย ต่างกันที่ SMEs ไทยไม่ได้โตขึ้นเป็นไซซ์ M แต่กลับมีรายได้ลดลงมากกว่า”

และเพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด สภาได้ขยายเวลาสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SMEs อีก 1 เดือน เพื่อให้ทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะมาตรการในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อยื่นต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเร็วที่สุด

สำหรับภาพรวมของ SMEs ปี 2563 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบัน SMEs ประมาณ 3 ล้านราย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ภาคการผลิต ที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมดูแล ส่วนการค้า บริการ มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล เข้าถึงสถาบันการเงินเพียง 4 แสนราย และได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่อยู่บนสุด อยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้ดี (ready to go) ระดับกลาง ดำเนินธุรกิจได้เพื่อความอยู่รอด (survivor) ระดับล่าง กลุ่มที่ต้องดิ้นรน (structure)

ขณะที่สัดส่วนรายได้ของ SMEs ต่อเศรษฐกิจไทย (GDP SMEs) อยู่ที่ 42% แต่ในส่วนนี้กำลังจะลดลง โดยปี 2562 มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 37% เหตุจาก SMEs มีรายได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มกลางและล่าง ดังนั้น รัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างการพึ่งพาในประเทศ (local demand consumption) ให้มากกว่าการส่งออก ด้วยการสนับสนุน SMEs ในประเทศ ในท้องถิ่นให้มากกว่านี้ เพราะปัจจุบันไทยพึ่งพาในประเทศเพียง 30% เท่านั้น ขณะเดียวกัน ต้องมีมาตรการเยียวยาในช่วงที่เกิดวิกฤตโดยเร็ว

ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรการเยียวยา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และภัยแล้ง โดยการพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ให้กับลูกหนี้สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท) โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (Non NPL) หรือไม่อยู่ในระหว่างที่ถูกกองทุนดำเนินคดี ก่อนวันที่ 29 ก.พ. 2563 ยื่นความประสงค์ได้ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.-30 ม.ย. 2563

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ยังเปิดให้ลูกหนี้ที่ไม่มีหนี้ค้างชำระ ยื่นพักชำระหนี้เงินต้นได้ไม่เกิน 12 เดือน หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้จากสัญญากู้เงินเดิมได้ไม่เกิน12 เดือน และลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 งวด ต้องนำเงินมาชำระดอกเบี้ย และหรือดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด (เบี้ยปรับ) ที่ค้างชำระก่อนเข้าร่วมมาตรการ สามารถยื่นพักชำระหนี้เงินต้นได้ไม่เกิน 6 เดือน และขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้จากสัญญากู้เงินเดิมได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยทั้ง 2 กรณีชำระเพียงแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งได้เปิดให้ยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ม.ย. 2563 เป็นการบรรเทาภาระ SMEs ก่อนที่มาตรการของรัฐจะทยอยออกมาช่วยเหลือต่อไป