“ล้งไทย” เร่งซื้อผลไม้ช่วยชาวสวนเพิ่ม-หวั่นสินค้าล้นตลาด

ล้งไทย

“มาตา ฟรุ๊ตแลนด์” ล้งไทยรับซื้อผลไม้เกรดส่งออกจากเกษตรกร หวังช่วยชาวสวน ขณะที่คณะกรรมแข่งขันเตรียมออกประกาศคุมการรับซื้อผลไม้ต่อไป

นางจิตตรา ปัญญาชัย เจ้าของกิจการมาตา ฟรุ๊ตแลนด์ ผู้ดำเนินธุรกิจคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการล้ง ต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ต่างชะลอการรับซื้อจากเกษตรกร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 จนทำให้การส่งออกไปยังต่างประเทศไม่สะดวก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด โดยเฉพาะผลไม้ฤดูกาลซึ่งมีผลผลิตเหลือเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง ลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ และ สับปะรดภูแล เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรจากบริษัท ซึ่งเป็นล้งไทยได้รับซื้อผลไม้จากชาวสวนเพิ่มจากปีก่อน 30% เพื่อช่วยเหลือเกษตรให้มีรายได้เน้นการกระจายผลไม้เกรดส่งออกในประเทศเป็นหลัก จึงอยากรณรงค์ให้ผู้บริโภคคนไทยช่วยสนับสนุนผลไม้ไทย

“ผลไม้ตามฤดูกาลยังมีผลไม้เกรดส่งออกซึ่งมีความพิเศษ เป็นผลไม้ที่สามารถปลูกได้ในโซนภาคเหนือเท่านั้น เช่น มะม่วงงาช้างแดง รูปทรงของผลใหญ่สวยงาม ปลายผลงอน ดูคล้ายกับงาช้าง ผลสุกจะมีเนื้อในสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานหอม เม็ดเล็ก ไม่มีเสี้ยน และ มะม่วงแดงจักรพรรดิ์ ผลมีขนาดใหญ่สีม่วงแดง ผลดิบหรือห่าม รสจะมันอมเปรี้ยวนิดๆ ผลสุกเนื้อในจะเป็นสีเหลืองเข้ม เนื้อไม่เละ ไม่มีเสี้ยน รสชาติหวานหอม เป็นต้น จึงอยากให้คนไทยช่วยกันสนับสนุน”

ทั้งนี้ ยอมรับว่าผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาผลไม้หน้าสวนในปี 63 ปรับลดลงจากปีก่อนอย่างมาก เช่น ราคาทุเรียนหน้าสวนปีนี้เฉลี่ยที่ 90-100 บาท ต่อ กก. ลดลงจากปีก่อน 30% หรือราคารับซื้อหน้าสวนปีก่อนอยู่ที่ 130-140 บาท ต่อ กก. และมะม่วงปีหน้าราคาหน้าสวนอยู่ที่ 15-20 บาท ต่อ กก. ลดลงจากปีก่อน 50% หรือราคาปีก่อนรับซื้ออยู่ที่ 20-50 บาท ต่อ กก. เป็นต้น

นางจิตตรากล่าวว่า ในภาวะเช่นนี้ต้องช่วยกัน ทางบริษัทขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจในการสนับสนุนชาวสวน ด้วยการรับซื้อผลไม้ และกระจายผลผลิตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาด ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ หวังจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทยในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ให้มีรายได้ และมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม ซึ่งทางบริษัทพร้อมเป็นตัวกลางในการจำหน่ายผลไม้ไปทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยช่วยกันอุดหนุนผลผลิตของชาวสวน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อกลุ่มเกษตรกรไทย สอบถามโทร 088-269-1596, 063-532-1058, 081-530-6583, 084-948-9722 Line : Khwanofficial และ https://www.facebook.com/matafruitsland/ โดยสามารถสั่งซื้อแล้วมารับสินค้าได้ตนเองที่ MATA Fruitland เลขที่ 88/8 ม.1 ต.สันทราย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 50140 รวมทั้งบริการส่งเดลิเวอรี่ทั่วประเทศ

บอร์ดแข่งขันออกไกด์ไลน์คุมรับซื้อ

ขณะที่ทางด้านนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และโฆษกคณะกรรมการ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้รับซื้อผลไม้ (ล้ง) เสร็จแล้ว และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้เห็นชอบให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

“การออกประกาศดังกล่าว มีเป้าหมาย เพื่อคุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายผลผลิต โดยจะเริ่มจากธุรกิจการรับซื้อผลไม้ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ได้ร้องเรียนว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากล้งเป็นประจำ ซึ่งผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง ทั้งเกษตรกร และล้ง สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นที่ เว็บไซต์ www.otcc.or.th เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่ 8 พ.ค.-6 มิ.ย.2563 จากนั้นจะนำความคิดเห็นมาปรับปรุงก่อนประกาศบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานทางกาค้าระหว่างเกษตรกรและล้งได้ดีขึ้น”

สำหรับร่างแนวปฏิบัติทางการค้าในธุรกิจรับซื้อผลไม้ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นฉบับนี้ มีประเด็นและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1.การกำหนดเงื่อนไข หรือละเว้นการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การไม่ระบุวัน หรือช่วงเวลาในการเข้าเก็บผลไม้ รวมทั้งไม่ระบุวันสิ้นสุดของสัญญา ทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลไม้ให้ผู้ซื้อรายอื่นได้ เป็นต้น

2.การปรับลดราคารับซื้อ หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใด ทั้งทางตรงและทางอ้อมภายหลังการทำสัญญา ซึ่งส่งผลต่อการปรับลดราคารับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม 3.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การชะลอการเข้าเก็บผลไม้ การเก็บผลไม้ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ในสัญญา เป็นต้น

4.การปฏิบัติทางการค้าเพื่อผูกขาดหรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดเดียวกัน เช่น การร่วมกันกำหนดราคาซื้อ หรือจำกัดปริมาณซื้อการร่วมกันแบ่งท้องที่ในการรับซื้อ เป็นต้น