“สุริยะ”ขอแจมพรก.เงินกู้ ฟื้นฟูโควิด 1.5 หมื่นล้าน

“สุริยะ” ชงขอ 15,250 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 4 แสนล้าน ช่วยอุตสาหกรรมเยียวยาโควิด-19 พร้อมถกกรรมาธิการอุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลเสริมแกร่ง-กู้สภาพคล่องเอกชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอขอรับจัดสรรเงินตามมาตรการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสังคม ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาท วงเงินรวม 15,250 ล้านบาท เพื่อเตรียมดำเนินงานฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ใน 3 ส่วน คือ 1.พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วงเงิน 13,018 ล้านบาท เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อรองรับ new normal การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอาหาร การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE) การยกระดับผู้ประกอบการด้านการมาตรฐาน และการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเป็นทุน

2.ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงิน 1,653 ล้านบาท เช่น การพัฒนาตลาดและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนววิถีใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง การส่งเสริมผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยจากภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในขุมเหมืองแก้ไขภัยแล้ง

3.สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต วงเงิน 579 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบโครงข่ายยกระดับทักษะบุคลากรแห่งชาติ การยกระดับอุตสาหกรรมด้วย SmartTech ระบบดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรม การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมศักยภาพสู่วิถีใหม่ และการจัดทำคลังข้อมูลอัจฉริยะด้านอาหาร

พร้อมกันนี้ ได้หารือร่วมกับนายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมถึงแนวทางช่วยเหลือและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยจากผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทรวงได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการทั่วประเทศ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานได้จัดทำมาตรการทั้งการช่วยเหลือ เพิ่มโอกาสด้านการตลาดให้ SMEs สร้างรายได้จากแพลตฟอร์ม Cloud Kitchen Food Truck ร่วมกับ Big Brother


การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานอุตสาหกรรม และค่าธรรมเนียมบริการด้านมาตรฐาน การชดเชยค่าตรวจประเมินและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การยกเว้นค่าเช่า/ค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม การยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ การผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ด้านการเงิน ดำเนินการขอให้มีการพักชำระหนี้เสริมสภาพคล่องจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ไปกว่า 6,250 ล้านบาท การพักชำระ/ขยายการผ่อนชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียนฯ 18 ล้านบาท การพักชำระหนี้และขยายระยะเวลาชำระคืนหนี้สินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และการพักชำระหนี้ ขยายเวลาลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนเงื่อนไขและเสริมสภาพคล่อง ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) 30,000 ล้านบาท และด้านการช่วยเหลือประชาชน แจกหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้น อุปกรณ์ป้องกันโควิด และจัดทำตู้ปันสุข