จับตาเหมืองทองอัคราได้ไปต่อ ชี้ช่องประทานบัตรยังอยู่-รอรัฐไฟเขียว

เหมืองทองอัครา

“ประทานบัตรเหมืองทองอัคราฯ”ยังอยู่ พ.ร.บ.แร่ 2560 เปิดช่องให้ไปต่อ”กพร.” ชี้ไม่ต้องขออนุญาตใหม่ แต่ใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมยังไม่ต่ออายุก็ถลุงไม่ได้ ส่วนเหตุปลดล็อกขายกากแร่ได้ตามเงื่อนไขให้ส่งรีไฟน์ในประเทศ ย้ำรัฐยังไม่อนุมัติอาชญาบัตรเหมืองทองให้ทั้ง “อัคราฯ-ริชภูมิฯ”

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยเอกสารปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมีบางส่วนที่ระบุเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกตคอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ผู้ประกอบกิจการ”เหมืองทองอัคราฯ” 111 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์และจันทบุรีติดประกาศเพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงการยื่นขออาชญาบัตรสำรวจพิเศษของบริษัทอัคราฯ และบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออัครา และในสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) อนุญาตให้อัคราฯสามารถขายกากแร่ทองคำและแร่เงินที่ค้าในกระบวนการผลิตได้ถึง 320 ล้านบาท ทั้งหมดนี้จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าไทย “ผ่อนปรน” เพื่อยุติปัญหาหรือไม่

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีอัคราฯนั้นสามารถดำเนินการขุดทองต่อได้ เนื่องจากประทานบัตรยังมีอายุถึงปี 2571 แต่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่) ปี 2560 และตามนโยบายทองคำซึ่งมีผลบังคับใช้ไล่เลี่ยกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 72/2559

ทั้งนี้ พ.ร.บ.แร่ใหม่ ระบุว่า ประทานบัตรที่ยังไม่หมดอายุก็สามารถดำเนินการต่อได้, กรณีประทานบัตรเดิมที่หมดอายุ แต่สามารถต่ออายุได้ก็ต้องต่ออายุ,กรณีประทานบัตรเดิมที่หมดอายุแล้วต่ออายุไม่ได้ ก็ต้องขอประทานบัตรใหม่ กรณีนี้อัคราฯจึงดำเนินการต่อได้เลยแต่ประทานบัตรของอัคราฯมีหลายแปลงแต่ละแปลงเริ่มต้นและสิ้นสุดไม่พร้อมกันจึงมีความซับซ้อนพอสมควร

อย่างไรก็ตาม แม้ประทานบัตรไม่หมดอายุ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่โรงประกอบโลหกรรม “ถ้าไม่มี” ใบอนุญาตนี้ก็ไม่สามารถทำเหมืองได้ ขุดแร่ขึ้นมาแล้วก็ถลุงและสกัดไม่ได้ ซึ่งทางอัคราฯขอต่ออายุใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมแต่ กพร.ยังไม่ต่ออายุให้ เนื่องจากขณะนั้นชุมชนรอบเหมืองทองร้องเรียนถึงผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ส่วนการปิดประกาศการขออาชญาบัตรพิเศษในพื้นที่ในเพชรบูรณ์และจันทบุรี ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่) เช่นกัน แต่คำขอยังอยู่ที่อุตสาหกรรมจังหวัด ยังไม่ส่งมาที่ส่วนกลางและยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติ

“ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าข้อพิพาทที่คิงส์เกตฯนำไปร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ไม่ใช่ศาลโลก ซึ่งการอนุญาตให้ทำเหมืองทองคำต่อได้หรือไม่นั้น มิได้ขึ้นกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแต่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ และนโยบายทองคำ”

ส่วนการอนุญาตให้อัคราฯขายกากแร่ทองและแร่เงินนั้น เป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งเดิมอัคราฯ ขอนำกากไปขายโดยการส่งรีไฟน์ในต่างประเทศ ทาง กพร.ไม่อนุญาตจนในที่สุดอัคราฯยอมรีไฟน์ในประเทศเพราะเป็นช่วงราคาทองคำกำลังขึ้น เมื่อทำตามข้อกำหนดของ กพร.จึงสามารถอนุญาตได้

ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 อัครา รีซอร์สเซสระบุว่า มีปริมาณแร่พร้อมขุด 35.4 ล้านตันสามารถผลิตทองได้ 890,000 ออนซ์ และผลิตเงินได้ 8,300,000 ออนซ์ หากเทียบกับกำลังการผลิตของอัคราฯ 120,000 ตัน/ปีและระยะเวลาประทานบัตรต่อได้อีก 10 ปีเท่ากับขณะนี้มีปริมาณที่สามารถผลิตได้ 890,000 ออนซ์