เหมืองทองอัครา: ชาวเน็ตถาม “ประยุทธ์” รับผิดชอบเอง ทำไมใช้เงินภาษีสู้คดี

เหมืองทองอัครา

ชาวเน็ตเปิดประเด็น งบประมาณระงับข้อพิพาทปม “เหมืองทองอัครา” ใช้งบกว่า 111 ล้านบาท จี้ถามนายกฯ หลังเคยประกาศว่าจะรับผิดชอบด้วยตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ส.ค.) #เหมืองทองอัครา ติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมในประเทศไทย หลังผู้ใช้งานทวิตเตอร์ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับ เอกสารงบประมาณปี 2564 ซึ่งระบุถึง ค่าใช้จ่ายราว 111 ล้านบาทสำหรับดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัท คิงส์เกต จากประเทศออสเตรเลีย จากกรณีข้อพิพาท “เหมืองทองอัครา”

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลายคนได้วิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณสำหรับการระงับข้อพิพาทดังกล่าว โดยย้อนกลับไปถึงการใช้มาตรา 44 สั่งระงับการทำเหมืองทองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยรัฐบาล คสช. ที่นำมาสู่ข้อพิพาทนี้ รวมถึงคำกล่าวเมื่อปี 2562 ว่า “ผมรับผิดชอบเอง”

นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใชงบประมาณสำหรับระงับข้อพิพาทเดียวกันนี้ในปี 2561-62 จำนวน 217 ล้านบาท และ 60 ล้านบาท ตามลำดับ ยังไม่นับรวมถึงกรณีแพ้คดีที่ประเทศไทยอาจต้องจ่ายเงินค่าเสียหายสูงถึงราว 3 หมื่นล้านบาท

คดีเหมืองทองอัครา

ปัญหาเกี่ยวกับเหมืองทองชาตรี เริ่มต้นในช่วงเดือน ส.ค. 2557 หลัง ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงเหมืองดังกล่าวจำนวนกว่า 1 พันคน ซึ่งพบว่ามีสารแมงกานีสและไซยาไนต์ในร่างกายสูงเกินมาตรฐาน

ต่อมาในเดือน ม.ค. 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ (กพร.) ได้สุ่มตรวจเลือดชาวบ้านและพบว่ามีโลหะหนักในกระแสเลือด จึงได้ออกคำสั่งให้ บริษัท อัคราฯ หยุดประกอบกิจการ เป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย. ปีเดียวกัน กพร. ได้ว่าจ้างให้ บริษัท แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำมาตรวจสอบสารพิษบริเวณเหมืองชาตรี ซึ่งได้ผลสรุปว่าไม่พบสารไซยาไนต์รั่วไหล

ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านการทำเหมืองทองคำ เริ่มมีความขัดแย้งกันที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่ง รัฐบาล คสช. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยให้ระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

คำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ชนะประมูล ที่ได้สิทธิสัมปทานการขุดเหมืองชาตรีใต้ บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร, จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ รวม 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ที่มีบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกในประเทศไทย ที่ดำเนินการขุดเหมือง ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด

บริษัท คิงส์เกตฯ เจ้าของสัมปทาน จึงได้นำเรื่องสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามข้อบังคับ UNCITRAL Arbitration Rules ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลีย (TAFTA) เพื่อให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายจากการปิดเหมืองเป็นจำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาท หลังจากเจรจากับรัฐบาลไทยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยได้เคยวินิจฉัยกรณีความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้ระบุไว้ว่า ตำแหน่ง หัวหน้า คสช. ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คำสั่งปิดเหมืองดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตัวเองหรือไม่

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

เมื่อเดือน พ.ย. 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงแนวทางการเจรจาข้อยุติกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งรวมถึงการยื่นข้อเสนอให้ดำเนินการต่อได้แต่ต้องปฏิบัติตาม “พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560” ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ 29 ส.ค. 2560 เท่านั้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน แหล่งข่าวจากวงการเหมืองแร่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางออกที่ยื่นข้อเสนอให้อัคราฯ สามารถกลับมาสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ได้อีกครั้ง ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นั้น ถือว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแต่ละมาตรามีรายละเอียดค่อนข้างยากมากในทางปฏิบัติ และไม่คุ้มค่ากับการประกอบธุรกิจทำเหมืองต่อเกือบทุกประเภท