ปลัดพลังงาน กุลิศ สมบัติศิริ ปิดช่องนายทุน ‘ฮุบ’ โรงไฟฟ้าชุมชน

ในแวดวงพลังงานคงไม่มีเรื่องไหนที่จะร้อนแรงไปกว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ตลอดโครงการรวม 1,933 เมกะวัตต์ (MW) ที่ค้างคาจากสมัย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ยังไม่สามารถผลักดันให้ “เกิด” ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ ท่ามกลางการจับจ้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน เจ้าของพื้นที่ที่จะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานของประเทศที่ลงไปจัดตั้ง “บริษัท” ระดับอำเภอเป็นร้อย ๆ บริษัท เพื่อรองรับโครงการนี้

จากข้อเท็จจริงที่ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยแทบจะไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เกิดขึ้นจากปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชน ไม่ว่าจะเป็น IPP-SPP-VSPP รวมไปถึงโรงไฟฟ้าชีวมวล-ไบโอก๊าซ ต่างก็หมายปองที่จะ “คว้า” โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่รับนโยบายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ให้ทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการนี้ใหม่

จาก 1,933 เหลือ 100 MW

โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นนโยบายของรัฐบาล คอนเซ็ปต์นี้เกิดมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มารับตำแหน่ง ก็หยิบโครงการนี้้ขึ้นมาประกาศใช้เมื่อปี 2562 ด้วยคอนเซ็ปตั้งโรงไฟฟ้าในชุมชน ก็จะใช้พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าปลูกพืชพลังงาน และรับซื้อเป็นเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้า เกษตรกรก็จะมีรายได้ โดยจะให้เกษตรกรมีส่วนร่วมด้วยการถือหุ้นในโรงไฟฟ้า เพื่อให้ชุมชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของ ลดการต่อต้านลง

ต่อมาก็เสนอโครงการนี้เข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า จะมีการทำโครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ แล้วให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำโครงการนำร่องที่โรงไฟฟ้าชุมชนที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กับที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 3 MW ซึ่งดำเนินการไปแล้ว แล้วก็จะสร้างอีก 100 MW (quick win) ส่วนที่เหลืออีก 600 MW ให้เป็นโครงการทั่วไปสำหรับโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว แต่ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ หรือสายส่งเต็ม ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากน้ำเสีย-กากของเสียต่าง ๆ (VSPP) เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

ตลอดทั้งโครงการเดิมจะรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 1,933 MW ซึ่งมาจากการลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ลงมา 1,000 MW เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ไม่จูงใจ

กระทรวงพลังงานก็เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ทางสภาพัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า นำร่อง 1,933 MW เยอะไปไหม ให้กลับมาทบทวน แล้วก็มีสื่อโซเชียลบอกมาว่า โครงการนี้จะช่วยผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีกำลังการผลิตอยู่แล้ว แต่ขายไฟฟ้าไม่ได้ แทนที่จะขายไฟฟ้าในราคา feed in tariff ถูก ๆ แต่มาเอาราคาโรงไฟฟ้าชุมชนที่ต้องรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 4.80-5 บาท แพงไหม เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่

ลด MW-หุ้นเกษตรกร

เมื่อท่านสุพัฒนพงษ์เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็ให้นโยบายว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเดินต่อ แต่ต้องฟังความเห็นต่าง ๆ ให้รอบด้าน กระทรวงพลังงานก็มาดูว่า จำนวนที่จะรับซื้อไฟฟ้า 100+600 MW เหมาะสมหรือไม่ ขณะเดียวกันหากขยายโครงการสู่การรับซื้อไฟฟ้าที่ 1,933 MW จะยั่งยืนไหม นำร่องก่อนหรือไม่ ท่าน รมว.ให้มาทบทวนว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าเก่าที่ขายไฟฟ้าไม่ได้ ควรแยกมาทำเป็น VSPP ไปเลย แล้วแก้ไขระบบ ทำแยกออกมาต่างหาก ทำคู่ขนานกัน แต่อย่าเอาไปรวมให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง ให้เกษตรกรได้ประโยชน์จริง เราก็มาทบทวนกัน และจะนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนก่อน 100 MW

ส่วนการพิจารณาทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์นั้น เดิมโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะอนุมัติ กำหนดไว้ไม่เกินโรงละ 10 MW ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ จะใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อป้อนเข้าโรงไฟฟ้าเยอะมาก เราก็มาดูว่าควรลดขนาดโรงไฟฟ้าชุมชนให้เหลือโรงละไม่เกิน 3-5 MW ดีไหม

ดูเรื่องการช่วยเหลือชุมชนระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จะใช้เวลา 1-2 ปี ชุมชนจะต้องปลูกพืชพลังงานประเภทไหนที่จะเหมาะสมกับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ยกตัวอย่าง หญ้าเนเปียร์ จะใช้น้ำมากเหมาะกับพื้นที่รึเปล่า ตรงนี้เราจะเข้าไปดูความเหมาะสมด้วย เราจะลงไปดูพื้นที่ปลูกที่ตั้งโรงไฟฟ้าจริง ๆ ก่อนที่จะอนุมัติโครงการให้

จะทำอย่างไรให้ชุมชน โดยเฉพาะเกษตรกรได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ส่วนราคารับซื้อยังเหมือนเดิม ขณะที่สัดส่วนถือหุ้นนั้น เดิมกำหนดให้ชุมชนถือ 10% ไม่เกิน 40% ซึ่งสัดส่วน 40% ถือว่าเยอะไปหรือไม่ และหากสัดส่วนที่ชุมชนถือนั้นเป็นหุ้นบุริมสิทธิ ไม่ได้ลงทุนจริง ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าอาจมีปัญหาเรื่องการขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน ดังนั้น สัดส่วนเท่าไรถึงจะเหมาะสมให้สมดุล ถ้าจะลดสัดส่วนหุ้นบุริมสิทธิเหลือ 10% แต่หลังจากดำเนินการไปแล้ว ชุมชนมีเงินก็สามารถไปซื้อหุ้นสามัญต่อไปได้ ประเด็นนี้ต้องนำหารือท่านรัฐมนตรีก่อน รวมถึงการลดขนาดโรงไฟฟ้าเหลือ 3-5 MW ด้วย

ประมูลให้ประโยชน์ชุมชน

ก็ต้องแข่งขันกัน ถ้าตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนแล้วกลายเป็นธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไม่ได้ช่วยเหลือชุมชน โครงการมันก็ผิดคอนเซ็ปต์ เราจะทำโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสนับสนุนสร้างรายได้ ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ส่วนการเดินหน้าโครงการไปสู่ 1,933 MW หรือไม่นั้น ต้องรอผลศึกษาในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022) ก่อน

ส่วนหลักเกณฑ์ในการแข่งขันนั้นก็ต้องมาคัดเลือกว่า ใครให้ผลประโยชน์ชุมชนมากกว่ากัน มีการประมูลกันให้ผลประโยชน์ต่อชุมชน (fix ผลประโยชน์) ดูผลกระทบราคาค่าไฟ ราคาค่าไฟก็กำลังดูเกณฑ์กันอยู่ การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนถ้ากำหนด MW เยอะ ก็ใช้พื้นที่เยอะ อาจจะเป็น “นอมินี” ไม่ใช่เกษตรกร-ชุมชน

ดังนั้น ผูู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเสนอแผนการจัดหาเชื้อเพลิงใน 1 ปี จะปลูกพืชพลังงานทดแทนอะไร ยกตัวอย่าง เดือนที่ 1-3 ปลูกหญ้าเนเปียร์ เดือนที่ 4-6 ปลูกไผ่ เดือนที่ 7-9 กลับมาปลูกหญ้าเนเปียร์อีก เดือนที่ 10-12 จะปลูกอะไร ต้องให้มั่นใจได้ว่า จะมีเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าได้ตลอดปี เนื่องจากเชื้อเพลิงมีผลต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนไฟฟ้าเข้าระบบและมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าด้วย

นอกจากนี้แล้ว กระทรวงพลังงานกำลังประสานไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเตรียมสินเชื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรระหว่างรอพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน โรงไฟฟ้าสร้างเสร็จก็ต้องมีสินเชื่อมาช่วย เรามองครบวงจร และยังจะมีปัจจัยการผลิตเครื่องมือ-ปุ๋ยให้ด้วย มีคน-ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรเข้ามาแนะนำเกษตรกรในเรื่องการเพาะปลูกพืชพลังงาน ไม่ให้ล้ม ต้องมีผลผลิตเพียงพอ ทำให้ครบวงจรตรงนี้เหมือนอย่างการประกันรายได้

และกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมที่จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับการใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. … หรือ contract farming ก็จะมาหารือกัน จะประกันราคากันอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรที่จะเอามาใช้กับชุมชนเพื่อผลิตพืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้าได้บ้าง ตอนนี้ก็ติดต่อหารือกันอยู่ เราต้องเอามาปรับใช้ให้กับเกษตรกร

ท่านรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ต้องการให้เกิดความรอบคอบ ชุมชน-เกษตรกรได้ประโยชน์


โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ได้ยกเลิก แต่เป็นการถอยออกมา เติมรายละเอียดปิดช่องโหว่ที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีรายละเอียด ก็แน่นอนว่าจะมีคนตั้งบริษัทรอ ซึ่งเป็นนายทุน-นักธุรกิจ มากกว่าเกษตรกร