กมธ. ฟันธงไทยไม่เข้า CPTPP

ขนส่งสินค้าทางเรือ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) ในประเด็นการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งมี นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน ร่วมด้วยกรรมการ 49 คน

หลังจากได้ใช้เวลาศึกษา 120 วัน (11 มิถุนายน-8 ตุลาคม 2563) โดย กมธ.ได้แต่งตั้ง 3 คณะอนุกรรมาธิการ พร้อมทั้งเชิญหน่วยงาน 103 หน่วยงาน มาให้ข้อมูล ประกอบการศึกษาทั้ง 3 ประเด็น คือ ผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ผลกระทบด้านการแพทย์ และสาธารณสุข และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

นำมาสู่ข้อเสนอรัฐบาลว่า ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม CPTPP และยังต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อม อุดจุดอ่อนด้านต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนทั้งด้านนโยบาย งบประมาณ และบุคลากร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหากจะตัดสินใจเข้าร่วม

นายวีระกรกล่าวว่า ทางประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา เพราะถ้าไม่ร่วมไทยจะเสียโอกาสในเวทีโลก หากเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามที่เข้าร่วม CPTPP ไปแล้ว เวียดนามมีเอฟทีเอกับ 53 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ไทยมีเพียง 18 ประเทศ แน่นอนว่าย่อมทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้าไปที่เวียดนามจำนวนมาก

อีกด้านหนึ่ง ภาคประชาชน และเกษตรกรก็เป็นห่วง หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะถูกบังคับให้เข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยอัตโนมัติ

“นายอนันต์ ศรีพันธุ์” ประธานคณะอนุฯ ด้านการเกษตรฯ ระบุว่า ไทยมีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชปี 2563 เพียง 129 ล้านบาท จากที่เสนอขอไป 1,447 ล้านบาท เทียบกับประเทศอื่นที่มีมากกว่าพันล้าน และมีจำนวนนักวิจัยแค่ 38 คน ขณะที่เวียดนามมีนักวิจัย 1 พันคน

สะท้อนว่าไทยยังต้องเตรียมพร้อมเรื่องนี้ก่อนเข้าร่วม เช่น จัดทำฐานข้อมูลรายชื่อพืชก่อน โดยรัฐบาลต้องจัดทำกฎหมายรองรับ และวางแนวทางส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจจะต้องขอเวลาในการปรับตัวนาน 3-5 ปี

สินค้าเกษตรไทยเสี่ยงสูง

ประเด็นการเปิดตลาดการค้าสินค้า หากเข้าร่วม CPTPP จะมีข้อตกลงให้เปิดตลาดสินค้ามากถึง 95-99% ของสินค้าทั้งหมด จะช่วยให้ ข้าว, ยาง, กุ้ง จะมีการส่งออกดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดแคนาดา ซึ่งไทยไม่เคยมีเอฟทีเอด้วยมาก่อน แต่อีกด้านสินค้าเกษตรที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบมาก คือ “ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, หมู” โดยเฉพาะหมูต้นทุนการผลิตของไทยสูงถึง กก.ละ 60-70 บาท ขณะที่หมูจากแคนาดา มีต้นทุนเพียง กก.ละ 36 บาท ดังนั้นการเปิดเสรีจะกระทบผู้เลี้ยงสุกร

เตรียมความพร้อมการแพทย์

ขณะที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ประธานคณะอนุฯ ด้านการแพทย์ กล่าวว่า การเข้าร่วม CPTPP ขึ้นอยู่กับความพร้อมของไทย ซึ่งรัฐบาลต้องมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ ทั้งยังต้องจัดรับฟังความเห็นของประชาชนในประเด็นที่อ่อนไหว และต้องดูแลผลกระทบต่อประชาชน โดยการจัดให้มีกองทุนช่วยเหลือที่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข หากปฏิบัติตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาโลก (TRIPs) ก็จะไม่มีปัญหา แต่กังวลว่าการใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตร (CL) จะเสี่ยงที่เอกชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะฟ้องรัฐไทย ที่ไปผลิตสินค้าที่ติดสิทธิบัตร โดยอาศัยกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนฟ้องรัฐ หรือ ISDS

แต่จริงๆ ถึงจะไม่มี CPTPP ก็มีข้อตกลงอื่นที่เป็น “ประตู” อนุญาตให้ฟ้องได้อยู่แล้ว หนึ่งในนั้นคือคดีเหมืองทองที่ฟ้องโดยใช้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียนั่นเอง

นอกจากนี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิบัตรยา (patent linkege) ซึ่งไทยไม่มีผู้สร้างสิทธิบัตรยาต้นแบบ มีแต่ผู้ผลิตยาตามคนอื่น (generic) ซึ่งหน่วยงานทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องแบ่งบทบาทหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ให้พร้อมก่อน

ขณะที่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ CPTPP กำหนดให้เปิดให้แข่งขันเสรี และโปร่งใส ซึ่งอาจจะกระทบต่อ “องค์การเภสัชกรรม” (อภ.) เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีสิทธิพิเศษจากประกาศของกระทรวงการคลัง กำหนดให้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งต้องซื้อยาที่ อภ.ผลิต ห้ามซื้อจากผู้ผลิตเอกชน ซึ่ง “ไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นการให้สิทธิประโยชน์” ในฐานะหน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงยา

หาก อภ.ไม่สามารถขายยาแข่งขันกับต่างประเทศก็กระทบต่อรายได้และถ้าไม่มีระบบ อภ.ราคายาในประเทศแพงขึ้น ไทยก็เสี่ยงจะสูญเสียโอกาสการเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (medical hub) ดังนั้น หากต้องเจรจาอาจต้องใช้แนวทางเดียวกับเวียดนาม คือ ขอให้ขยายเวลาเพื่อปรับตัวก่อน 20 ปี

สุดท้ายเรื่องวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ยังมีสภาวิชาชีพ 4 สภาวิชาชีพที่กังวลจะได้รับผลกระทบ ในสาขาเภสัช ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด สัตวแพทย์ โดยมีข้อกำหนดเรื่องการสอบใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพไม่เน้นเปิดเสรี

มาตรฐานนำเข้าสินค้ามือสอง

เรื่องการค้ามีข้อกังวลว่า ไทยจะถูกบังคับให้เปิดตลาดนำเข้า “สินค้ามือสองด้านอุตสาหกรรม-เครื่องมือแพทย์มือสอง” ที่ไม่มีคุณภาพและเสี่ยงที่จะเป็นขยะในประเทศ ข้อสรุปคือ CPTPP ไม่ได้บังคับเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไทยต้องวางมาตรฐานการนำเข้าให้มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ CPTPP ยึดมาตรฐานสากล CODEX

ประเด็นนี้สอดรับกับข้อสังเกตของนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะอนุฯ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งชี้ว่าไทยยังอ่อนด้อยเรื่องการดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า แม้ว่าองค์การการค้าโลก (WTO) จะกำหนดให้สามารถวางมาตรฐานสินค้านำเข้าให้เทียบเท่ากับสินค้าภายในประเทศ แต่ไทยมีมาตรฐานสินค้าภายใน เพียง 110 รายการ จากจำนวนสินค้าที่ต้องเปิดตลาด 10,000 รายการ ดังนั้นไทยควรเตรียมพร้อมเพิ่มมาตรฐานให้ได้ประมาณ 4,000-5,000 รายการก่อน

ปรับโครงสร้างภาษี-แก้ กม.

และจากการศึกษาเรื่องภาษีพบว่า ปัจจุบันไทยมีการลดภาษีสินค้าสำเร็จรูปมากกว่าภาษีสินค้าวัตถุดิบ ทำให้วัตถุดิบที่จะนำเข้ามาผลิตมีภาษีอัตราสูง การเปิดเสรีจะไม่ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงหรือแข่งขันได้ ดังนั้น ไทยต้องเตรียมพร้อมโดยการปฏิรูปอากรขาเข้าก่อน

ตลอดจนเรื่องการกำหนดอัตราภาษีสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีดิจิทัลแทกซ์ แต่ใช้ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งไทยควรปรับไปใช้ระบบดิจิทัลแทกซ์ และการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของแพลตฟอร์มของคนไทย ซึ่งเสียเปรียบแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ต่างชาติที่จดทะเบียนในต่างประเทศ แต่มีอัตราภาษีต่ำกว่า

ส่วนกฎหมายแรงงานที่มีข้อเรียกร้องเรื่องขอให้ต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพได้นั้น ต้องอาศัยความชัดเจนในนโยบาย โดยปัจจุบันยืนยันว่าหากต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 12 เดือน สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ และกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เข้าเป็นกรรมการได้

“ข้อสงวน” อุดช่องโหว่

ข้อตกลงฉบับมีช่องทางที่ผู้เจรจาสามารถขอ “ข้อสงวน” การเจรจา หรือผ่อนผันเพื่อเว้นระยะเวลาในการปรับตัวได้ และยังมีโอกาสที่จะสามารถทำจดหมายขยายความสัญญา (side letter) เว้นช่องหายใจในประเด็นที่กังวล แต่ทุกอย่างจะเป็นไปได้มากหรือน้อยอยู่ที่
คู่เจรจาเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ “ฝีมือ” ของนักเจรจาด้วย

ส่วนกรณีที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะกลับเข้ามาสู่การเจรจา CPTPP แล้วจะขอให้ใช้ข้อตกลงเดิมที่เคยเจรจาไว้ในสมัย TPP ซึ่งถูกถอดออกหลังสหรัฐถอนตัวนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะการเข้าร่วมจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก CPTPP ทั้งหมดเป็น “เอกฉันท” และหากไทยเข้าร่วม CPTPP ก็ต้องคัดค้านการใช้ข้อตกลงฉบับนั้นอย่างเต็มที่