สทนช. เจียดงบ 50 ล้าน เร่งแก้น้ำมูล ชี้ดีมานด์ใช้น้ำล้นเกินหมื่นล้าน ลบ.ม.

“สทนช.” เร่งสรุปแผนแก้ท่วมแล้งซ้ำซากลุ่มน้ำมูล เหตุความต้องการใช้น้ำล้นเกินศักยภาพกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เร่งดึงกลไกด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ชี้เป้าขอบเขตศึกษา 10 จังหวัดอิสานตอนล่าง งบ 50 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงแนวทางการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำมูลตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า ปัจจุบันลุ่มน้ำมูลครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 44 ล้านไร่ และมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 33 ล้านไร่ ขณะที่ ความต้องการน้ำในภาพรวมมีมากกว่า 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่ลุ่มน้ำมูลสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 5,350 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)​ จึงส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด

โดยหากมองภาพรวมแต่ละปีมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกว่า 12.4 ล้านไร่  ปัญหาน้ำท่วมที่เคยท่วมสูงสุด 3.7 ล้านไร่ (ปี 2553) รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำที่เกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของชุมชน การเลี้ยงปลาในกระชัง  นอกจากนี้ยังมีสภาพดินตื้น ดินเค็ม น้ำเค็ม-น้ำกร่อย ป่าไม้เสื่อมโทรม พื้นที่ป่าต้นน้ำลดลง เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกแนวใหม่ที่เรียกว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่ง สทนช. นำมาใช้ในการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจํากัดของสิ่งแวดล้อม ทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ

รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบในการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ โดยมีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 1,282 ตำบล 151 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี โดยมีงบประมาณศึกษาประมาณ 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นได้นำเสนอทางเลือก อาทิ การพัฒนาพื้นที่เกษตรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำชั่วคราว การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำขนาดเล็กเข้าด้วยกัน การเก็บกักน้ำส่วนเกินในฤดูฝนเพื่อใช้ในฤดูแล้ง แนวทางพัฒนาหาน้ำต้นทุนจากแหล่งที่มีน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ การผันน้ำจากพื้นที่ข้างเคียง การสนับสนุนการวิจัยการลดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ  การจัดทำโครงสร้างใต้ดินเพื่อจัดเก็บน้ำส่วนเกิน (บ่อกักเก็บน้ำฝนใต้ดิน) และระบบเครือข่ายเชื่อมโยงสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำอัตโนมัติเพื่อติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำ (Real time)

สำหรับการศึกษาเอสอีเอ แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการศึกษาการพัฒนา​ลุ่มน้ำมากขึ้น แต่วัตถุประสงค์​หลกของขั้นตอนนี้ คือเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานราชการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องและไม่มีปัญหาตามมาที่หลัง โดย สทนช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการแจกจ่ายข้อมูลให้กับทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน และยืนยันว่าการศึกษาเอสอีเอไม่ส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน” นายสมเกียรติ​ กล่าว

“ผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อนำไปสู่การประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสรุปผลการศึกษาเอสอีเอ ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป”