หมูไทยปาฏิหาริย์ไม่ติด ASF ปศุสัตว์คุมเข้มเอาอยู่หมัด

ฟาร์มหมู
INA FASSBENDER / AFP

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตั้งการ์ดสู้ ASF ยันเชื้อที่พบระบาดในไทยเป็น PRRS แต่อาการใกล้เคียงกัน เสียหายแค่ 5% เตรียมชงของบกลางฯ 1 พันล้านบาททำลายซากหมู ลุยวางระบบมาตรฐานฟาร์มรายย่อย GFM คุมเข้มลักลอบขนย้ายข้ามเขต ใช้โมเดล “โควิด” รับมือ มั่นใจยืนหนึ่งฐานผลิตหมูอาเซียน วงการหมูจับตา “เอเย่นต์” ต้นตอระบาดจี้รัฐคุมเข้ม

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศไทย แม้โรคระบาดดังกล่าวจะแพร่กระจายในประเทศแถบเอเชียและอาเซียนมาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2561 เริ่มจากประเทศจีนและขยายวงกว้างเรื่อย ๆ จนถึงกลุ่มประเทศอาเซียนรวมกว่า 35 ประเทศ ทั้งนี้ โรค ASF เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกร ไม่มีวัคซีนรักษา แต่ยังโชคดีที่อัตราการแพร่เชื้อไม่เร็ว เพราะไม่ได้แพร่ระบาดทางอากาศ

ที่สำคัญคือเป็นโรคไม่ติดต่อสู่คนเหมือนไข้หวัดนก ซึ่งทางกรมได้วางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรระดับจังหวัด ใช้แนวทางเดียวกับการป้องกันโควิด-19 อาทิ จำกัดการขนย้าย กำหนดให้ต้องมีการประเมินตนเองตามหลังการด้านโรคระบาด ตรวจสอบมีใบรับรอง ส่วนจังหวัดที่รับขนย้ายจะเป็นผู้อนุญาตหากพิจารณาแล้วว่าถูกต้อง

“การป้องกันโรคระบาด ASF เป็นงานเศรษฐกิจเพื่อชาติ ซึ่งเป็นความภูมิใจตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ว่าเราเป็นประเทศเดียวที่คุมโรคไว้ได้ 2 เกือบ 3 ปี อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเติบโต มียอดส่งออกขยายตัวหลายร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมการมีการประชุมเรื่องนี้เป็นร้อยครั้ง ออก CPG ไกด์ไลน์เพื่อสร้างมาตรฐาน biosecurity ไปเมื่อ 2 ปีก่อน”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์ใหม่ในสุกร (PRRS) ซึ่งลักษณะอาการคล้าย ASF เริ่มแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในจีน และประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงไทย โรคนี้มีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันได้ แต่ปริมาณวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยยังมีไม่เพียงพอ ราคาสูง และการใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค จึงต้องยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม และกรณีพบการระบาดในพื้นที่จำเป็นต้องทำลายสุกรเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย

ของบฯกลางปี’64 ทะลุพันล้าน

นสพ.สรวิศกล่าวว่า ปีนี้กรมได้รับงบประมาณประจำปี 2564 เพื่อชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดเพิ่มขึ้นกว่าปี 2563 ประมาณ 200 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายให้เกษตรกรนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 และอยู่ระหว่างเสนอของบฯ จากงบฯกลางฉุกเฉินอีกกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งจำนวนงบฯเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วที่ได้รับ 700 ล้าบาท จะจัดสรรไปใช้สำหรับการชดเชยและวางระบบฟาร์มมาตรฐาน

Advertisment

“ความเสียหายตอนนี้มีแค่เพียง 5% ไทยยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อนาคตไทยจะยังเป็นผู้เลี้ยงอันดับ 1 ในอาเซียนได้ สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมและป้องกันการระบาด โรคระบาดที่มีวัคซีนก็ทำตามโปรแกรม วางระบบมาตรฐานความปลอดภัยฟาร์ม”

เร่งระบบปลอดภัยฟาร์มย่อย

อธิบดีกรมปศุสัตว์อธิบายว่า เหตุที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้นานเกือบ 3 ปี ส่วนสำคัญมาจากโครงสร้างการเลี้ยงของไทยแตกต่างจากเพื่อนบ้าน แม้มีผู้เลี้ยงรายย่อยหลายแสนรายแต่ปริมาณการเลี้ยงสุกรไม่มาก เทียบกับผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่มีการเลี้ยงสุกรจำนวนมากกว่า ขณะที่ประเทศที่มีการแพร่ระบาดนั้นปริมาณการเลี้ยงของผู้เลี้ยงรายย่อยมากกว่ารายใหญ่ จึงควบคุมโรคได้ยาก

Advertisment

“แน่นอนว่าผู้เลี้ยงรายใหญ่เป็นกลุ่มที่สามารถวางมาตรฐานการเลี้ยง สร้างระบบ biosecurity ที่ดีตามระบบ GAP จึงควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่ไม่ใช่ว่าผู้เลี้ยงรายย่อยไม่ดี เพียงแต่กำลังหรือความสามารถในการวางระบบอาจไม่เทียบเท่ารายใหญ่ กรมจึงมีหน้าที่ไปช่วยส่งเสริมให้ฟาร์มรายย่อยปฏิบัติตามมาตรฐานที่เรียกว่า GFM หรือ good farm management แต่ระบบนี้ต้องเป็นความสมัครใจ”

อีกด้านหนึ่งก็ต้องวางมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด ป้องกันแนวชายแดนซึ่งมีความเสี่ยงลักลอบนำซากสุกร และผลิตภัณฑ์สุกร เพราะเพื่อนบ้านบางประเทศไม่มีระบบดูแลความปลอดภัยในฟาร์ม หมูเป็นโรคตายก็โยนทิ้งลงน้ำ เราต้องเข้าไปช่วยเพื่อนบ้านด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ได้ตรวจยึดการลักลอบนำเข้าซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรไปแล้ว 4,402 ครั้ง ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ ASF จำนวน 440 ตัวอย่าง และทำลายทิ้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2564)

ในส่วนของการดูแลผู้บริโภคเพื่อป้องกันการตื่นตระหนก แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนเหมือนไข้หวัดนก แต่กรมได้มีการตรวจสอบตัวอย่างเนื้อหมู และออกเครื่องหมายรับรอง “ปศุสัตว์ OK” กว่า 7,000 รายการ เป็นจุดสังเกตในการเลือกซื้อสินค้าอย่างปลอดภัย

จับตาเอเย่นต์ป่วน

นสพ.สรวิศกล่าวว่า ข้อมูลจากวงการปศุสัตว์ที่ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์ในหลายจังหวัดนั้น สาเหตุสำคัญมาจากผู้ประกอบการที่เป็นเอเย่นต์ผู้ขายลูกหมูในบางพื้นที่ลักลอบนำเข้าลูกหมูที่มีเชื้อจากเพื่อนบ้านมาขายราคาถูก โดยปล่อยขายลูกหมูล่วงหน้าที่ฟาร์ม (ปล่อยเกี๊ยว) ไปแล้ว เมื่อเกิดโรคระบาดฟาร์มต้องทำลายทิ้ง เอเย่นต์จึงไม่ได้รับเงินค่าหมู ต้องรอรับค่าชดเชยจากภาครัฐจากงบฯปี 2564

“ได้รับรายงานว่าเอเย่นต์เป็นผู้สร้างปัญหา เรื่องนี้ทำให้เกิดเสียงแตกในวงการหมูเอเย่นต์ภาคเหนือบางจังหวัด เงินก็ได้ความเสียหายก็ทำ จากที่ได้หารือกัน ทุกฝ่ายรับทราบปัญหา มองว่าถ้าถึงที่สุดอาจใช้กฎหมายมาดูแล”

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากสถานการณ์รุนแรงถึงการประกาศเป็นเขตโรคระบาด PRRS เทียบกับ ASF แล้ว ทั้งสองโรคจะส่งผลกระทบต่อหมูไม่ติดต่อถึงคน แต่ PRRS มีวัคซีนป้องกันได้ ส่วน ASF ยังไม่มีวัคซีนรักษา ดังนั้น หากประเทศใดมีการแพร่ ASF องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) จะออกประกาศเป็นเขตที่มีการแพร่ระบาด ไม่เพียงจะก่อให้เกิดการตื่นตระหนก มีผลต่อการบริโภคเท่านั้น อาจทำให้ประเทศผู้นำเข้ากังวล อาจมีมาตรการห้ามนำเข้าหมู ป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อกับหมูในประเทศ จะกระทบผู้ประกอบการที่ทำตลาดส่งออกไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย

สุดท้ายเมื่อไม่มีตลาดรองรับผู้เลี้ยงต้องหยุดหรือเลิกกิจการ รายใหญ่ที่มีระบบป้องกันที่ดีย่อมจะกระทบน้อยกว่ารายย่อย และการฟื้นตัวรายย่อยจะทำได้ยากกว่า หากหมูตายยกฟาร์มการจะกลับมาลงทุนใหม่ได้ยาก ทำให้โครงสร้างการเลี้ยงหมูของไทยเปลี่ยน จะเป็นตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย อาจกระทบตลาดรวมทั้งผู้บริโภค