GULF ผงาดคุมธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานประเทศ “ไฟฟ้า-ท่าเรือ-5G-ทางด่วน”

“กัลฟ์” ขยายอาณาจักรครอบคลุมธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานประเทศ “ไฟฟ้า-ท่าเรือ-มอเตอร์เวย์-สื่อสาร” ระดมเงินกู้ 1.69 แสนล้านบาทตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น “INTUCH” อีก 81% แจงแผนเทกโอเวอร์เกมเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ปิดดีลปลาย ก.ค. บล.กสิกรไทยเผย “กัลฟ์” เสริมจุดแข็ง “อินทัช” ต่อกร “ทรู” ของ ซี.พี.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อ 18 เมษายน 2564 อนุมัติให้บริษัทลงทุนในหุ้นทั้งหมดของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ก่อนการทำคำเสนอซื้อในราคาหุ้นละ 65.00 บาท จำนวนไม่เกิน 2,599,631,112 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 81.07% จากปัจจุบันบริษัทถือครองอยู่แล้ว 606,878,314 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 18.93% ถือเป็นการประกาศเข้าครอบงำกิจการครั้งสำคัญของแวดวงธุรกิจเมืองไทย และเป็นก้าวสำคัญของ GULF ในการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารและดิจิทัลเต็มตัว

เทคฯอินทัชเปลี่ยนผ่าน GULF

นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า

เป้าหมายของบริษัท GULF ในการทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH ก็คือต้องการขยายพอร์ตธุรกิจ จากที่ GULF เติบโตมาจากผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างหนึ่ง และที่ผ่านมาก็ได้ขยายการลงทุนในท่าเรือ (แหลมฉบังเฟส 3) ทางด่วน (มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี) รวมทั้งได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG) การเข้าซื้อหุ้น INTUCH ก็เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความยั่งยืนสำหรับอนาคต จากที่สังคมและเศรษฐกิจไทยมีการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น

โดย INTUCH เป็นแพลตฟอร์มที่ดี มีบริษัทที่หลากหลายอยู่ในพอร์ต ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องธุรกิจดิจิทัล โทรคมนาคม อินชัวเทค อีคอมเมิร์ซ ซึ่งแพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถต่อยอดในอนาคตได้ การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทไปสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ INTUCH ยังมีกระแสเงินสดที่ดี มีพันธมิตรหรือผู้ถือหุ้นที่ดี และมีแมเนจเมนต์ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีประวัติการจ่ายปันผลที่ดี เป็นเหตุให้บริษัทตัดสินใจเข้าไปลงทุน ซึ่งในระยะข้างหน้าจะมีแผนการ synergy ที่หลากหลาย แต่ยังให้รายละเอียดมากไม่ได้

ต้นทุนการเงินต่ำกว่าปันผล

นายสมิทธ์กล่าวว่า บริษัทจะใช้เงินลงทุนใน INTUCH รวมประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยบริษัทได้ทยอยซื้อหุ้นมาตั้งแต่ปี 2563 รวมเป็นเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และเงินลงทุนในครั้งนี้อีกราว 1.69 แสนล้านบาท แต่หากตัดส่วนหุ้นของสิงเทลออกไป บริษัทจะเหลือหุ้นที่เข้าไปซื้อได้ประมาณกว่า 50% ซึ่งน่าจะใช้เงินลงทุนเหลือแค่ 1 แสนล้าน สำหรับต้นทุนทางการเงินในครั้งนี้ไม่ถึง 3% ซึ่งเมื่อเทียบเงินปันผลถือว่าสูงกว่าต้นทุนเงินกู้

โดยกัลฟ์จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 มิ.ย. 2564 เพื่อขอมติที่ประชุมในการทำธุรกรรมดังกล่าว และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งระหว่างนี้จะต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) มาประเมินมูลค่าของ INTUCH ขณะเดียวกัน ทาง INTUCH ก็ต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป

ใช้เงินกู้แบงก์-ไม่เพิ่มทุน

นายสมิทธ์กล่าวต่อว่า สำหรับแหล่งเงินทุนในครั้งนี้ บริษัทได้จัดเตรียมวงเงินไว้กับหลากหลายธนาคาร ซึ่งปัจจุบันมีทั้งธนาคารในและต่างประเทศเข้ามาเสนอวงเงินกู้เพิ่ม โดยช่วงแรกจะใช้เงินกู้ระยะสั้น (bridge financing) ก่อน หลังจากนั้นจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะขนาดรายการค่อนข้างใหญ่ โดยยืนยันว่าไม่มีแผนเพิ่มทุน

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นเดิม INTUCH จะให้การตอบรับกับการเสนอซื้อครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 64 ทาง Singtel ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของ INTUCH สัดส่วน 21% แถลงการณ์ว่า การลงทุนใน INTUCH และ ADVANC เป็นกลยุทธ์การลงทุนในระยะยาว ทำให้คาดคะเนว่าสิงเทลน่าจะยังดำรงการถือหุ้นอยู่ในทั้งสองบริษัทเช่นเดิม

นายสมิทธ์กล่าวถึงสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) หลังจากนี้ว่า จะขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นเดิม INTUCH มาขายหุ้น ถ้าได้รับการตอบรับที่ดี บริษัทก็จะต้องกู้เงินมาก ส่งผลให้ D/E สูงไปด้วย แต่ภายหลังการทำการเสนอซื้อได้สำเร็จ บริษัทจะดำเนินการควบรวมกิจการเข้ามาอยู่ในงบดุล ทำให้นับรวมส่วนทุน กระแสเงินสด และรายได้ของ INTUCH เข้ามาด้วย ซึ่งทำให้ D/E ของบริษัทลดลง

ไม่ต้องการซื้อ ADVANC

นายสมิทธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากการเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้ บริษัทได้สัดส่วนหุ้น INTUCH เกินกว่า 50% ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการอยู่ก่อนแล้ว (chain principle) จะส่งผลให้บริษัทต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นทั้งหมดของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ด้วย

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นบริษัทจะขอยกเว้นเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน THCOM เนื่องจากไม่ได้มองตัวเองว่าจะเข้าไปเป็นโอเปอเรเตอร์ของธุรกิจโทรคมนาคม โดยจะทำหนังสือขอผ่อนผันต่อ ก.ล.ต. และคาดว่าจะทราบผลโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าน่าจะเข้าเงื่อนไข เพราะในอดีตเคยมีกรณีลักษณะนี้และได้รับการอนุมัติ

ในส่วน ADVANC บริษัทได้เสนอราคาซื้อไว้ที่ 122.86 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก ดังนั้น ประเมินว่าคงไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดมาเสนอขาย จึงขอใช้สิทธิผ่อนผันต่อ ก.ล.ต.ไปด้วย

เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ต่อกร ซี.พี.

ด้าน นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีลนี้ถือเป็นผลดีกับผู้ถือหุ้น INTUCH เพราะการเสนอราคาแพงกว่าราคาตลาด และถ้าซื้อสำเร็จจะเป็นการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ ซึ่งมีความแข็งแรง และจะเพิ่มสายสัมพันธ์ทางการเมืองให้กับกลุ่ม INTUCH เพื่อต่อกรกับกลุ่ม ซี.พี. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE จึงมองดีลนี้เป็นบวกสำหรับ INTUCH

ทั้งนี้ GULF ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้น ADVANC ก็สามารถเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ADVANC ทางอ้อมอยู่แล้ว เพราะอินทัชถือหุ้นใหญ่ 40.45% ใน ADVANC ทั้งนี้ ในกรณี GULF ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก 10% ก็จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ INTUCH เกือบ 30% รวมทั้งสามารถขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ADVANC ซึ่งอยู่ระหว่างขยายโครงข่าย 5G ได้ทันที จึงไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพิ่ม ดังนั้น ราคาที่ประกาศซื้อหุ้น ADVANC เป็นราคาที่ไม่อยากซื้อ

ต่อเงินจากเสามือถือ

โดย บล.กสิกรฯประเมินแผนในระยะสั้นว่า GULF มองว่า INTUCH และ ADVANC มีสินทรัพย์ที่มีประโยชน์ สามารถเอามาหาเงินได้ นั่นคือเสามือถือของ ADVANC ที่มีอยู่ 3-4 หมื่นต้น ถ้าทำแบบเดียวกับที่ TRUE ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF) จะได้เงินก้อนใหญ่ เพื่อไปคืนหนี้ที่กู้มาเพื่อซื้อ INTUCH ในครั้งนี้ได้ ทำให้ภาระเงินกู้ของ GULF จะลดลง เหมือนกับได้ INTUCH ในราคาที่ถูกลง

“กสิกรฯประเมินว่าเสามือถือ 3-4 หมื่นต้น จะมีมูลค่าสินทรัพย์สูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งเงินที่ต้องใช้ไปคืนหนี้เงินกู้แบงก์จำนวน 1.6-1.7 แสนล้านบาท ซึ่งอาจใช้เงินไม่ถึงเพราะสิงเทลอาจไม่ขายหุ้นออกมา เช่นเดียวกับนักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้นรวมกัน 55% อาจจะขายหุ้นออกมาไม่หมด โดยประเมินว่าอาจจะใช้เงินแค่ครึ่งเดียว หรือประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท”

อย่างไรก็ดี หากไม่ตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานใหม่ สามารถนำสินทรัพย์ไปขายให้กองที่อยู่ในตลาดแล้วก็ได้ ซึ่งมีหลายกระบวนการที่จะทำได้

นายพิสุทธิ์กล่าวว่า สำหรับภาพการแข่งขันในธุรกิจสื่อสารไม่น่าเปลี่ยนมาก เพราะมีผู้เล่นรายใหญ่ 3 รายเท่าเดิม เพียงแต่จากเดิมที่เป็นต่างชาติก็กลายเป็นคนไทย ซึ่งค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง แต่ถ้าในมุมอ่อนแอก็มี เพราะ GULF ไม่เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้ให้บริการมือถือ แต่ถ้าบริหารจัดการผู้บริหารได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะธุรกิจดำเนินการมาแล้ว 30 ปี

เปิดอาณาจักร GULF

ทั้งนี้ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 35.55% ถือเป็นผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าของประเทศ ครอบคลุมทั้งการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน โดยหลังจาก GULF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2560 “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 1 ของประเทศในปี 2562 และปี 2563

โครงสร้างธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า, ธุรกิจก๊าซ, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจพลังงานน้ำ, และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โดยปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 33,370 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,282 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเข้าร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน ชนะประมูลสัมปทานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F ระยะเวลา 35 ปี วงเงิน 84,361 ล้านบาท และร่วมลงทุนในสัมปทานโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 วงเงิน 55,400 ล้านบาท

รวมถึงการเป็นพันธมิตรกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้ชนะประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะเวลา 30 ปี ด้วยวงเงิน 39,138 ล้านบาท

ล่าสุด 20 เม.ย. 2564 GULF ประกาศซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) จากบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด 2% ด้วยมูลค่า 130 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นใน PTT NGD เพิ่มเป็น 42%