“ธรรศ ทังสมบัติ” ดัน “อุตฯอาหาร” ฝ่าพายุโควิด

ธรรศ
ธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
สัมภาษณ์พิเศษ

ภายใต้สถานการณ์ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติ แต่ทำอย่างไรจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารฟของไทยยังคงเติบโต และมียอดคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ธรรศ ทังสมบัติ” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปคนใหม่ ที่รับไม้ต่อจาก “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” เมื่อปลายเมษายน 2564 ด้วยวาระ 2 ปี ถึงโอกาส ทิศทาง และเทรนด์อาหารในปีนี้

ทิศทางการส่งออกปี 2564

สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารในช่วง 2 เดือนแรกของปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) การส่งออกอาหารไทย 164,146 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 3.5% โดยสินค้าเกษตรอาหาร มีมูลค่า 81,549 ล้านบาท ขยายตัว 13.6% ในสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ส่วนสินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น ข้าว ไก่แปรรูป

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 82,597 ล้านบาท หดตัว 4.9% สินค้าที่ส่งออกไปได้ดี เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม เป็นต้น

ภาพการส่งออกทั้งปียังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ต่อกำลังซื้อ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมวางแผนรองรับเพื่อการส่งออกในอนาคต ซึ่งมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

“ปัญหาของโควิด-19 กระทบต่อการบริโภคของประชาชน ทำให้ลดการออกจากบ้าน การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว แต่เมื่อหลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนมีการจับจ่ายซื้อสินค้า โดยเฉพาะตลาดสำคัญของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ที่จะทำให้การส่งออกอาหารกลับมาเป็นปกติก่อนที่จะเกิดวิกฤตของโควิด”

“จีน” ตลาดหลักส่งออก

ประเทศที่ต้องจับตาคือ จีน ซึ่งจะเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกอาหาร เพราะจีนยังต้องการสินค้าอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งสินค้าไทยยังเป็นที่ยอมรับ จะเห็นว่าการส่งออกอาหารไปในตลาดนี้ไทยยังเติบโตได้อีกมาก

ส่วนตลาดที่ยังเป็นกังวล คือ ตลาด CLMV หลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศดังกล่าวได้ออกมาตรการดูแลเรื่องของโควิด ทำให้การค้าและการขนส่งไม่ได้รับความสะดวกอย่างที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูปในรูปแบบกระป๋อง เครื่องดื่ม ปริมาณการส่งออกลดลงอย่างมาก การซื้อ-ขายชายแดนก็ชะลอตัวจากการเดินทางไม่สะดวก

“3 ปัญหา” ยังเป็นอุปสรรค

แม้โอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในกลุ่มตลาดในต่างประเทศของไทยจะยังมีที่เติบโต แต่ยังต้องจับตา สิ่งสำคัญที่ยังเป็นอุปสรรคต่อต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออกของผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะต้นทุนแผ่นเหล็กที่นำมาผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระป๋องใส่อาหารปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งยังไม่เคยได้รับการแก้ไขช่วยเหลืออย่างจริงจัง ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตสินค้าอาหารมีต้นทุนสูง โอกาสการแข่งขันย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน

อีกทั้งสินค้าเกษตรยังเป็นสินค้าทางการเมืองที่ยังมีปัญหาในเรื่องการจำกัดการนำเข้าซึ่งกระทบในบางอุตสาหกรรม

และปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน จะทำอย่างไรให้แรงงานเข้าระบบมากขึ้น ควรเปิดให้มีการทำงานรายชั่วโมงได้ เพื่อลดปัญหาการขาดแรงงาน ส่วนต้นทุนค่าแรงเชื่อว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นในช่วงนี้

ยกระดับสู้โควิด

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อปีกว่า 1 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย มีทั้งรายเล็ก กลาง และรายใหญ่ หากดูเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี 20,000 ราย ในกลุ่มเกษตรและอาหาร โรงงานผลิตอาหารประมาณ 200 ราย ทั้งที่อยู่ในและนอกสมาคม

“เมื่อเจอปัญหาของโควิด-19 เราพบว่ากลุ่มนักลงทุนจากจีน และตะวันตก เข้ามาซื้อกิจการในกลุ่มเกษตร และอาหาร โดยเฉพาะกิจการในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นคู่แข่งของไทยมากขึ้น ซึ่งเม็ดเงินการลงทุนทำให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น หากไทยไม่มีการปรับปรุงหรือลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ หรือได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ บ่งบอกว่าโอกาสการแข่งขันของไทยจะลดลง”

จะเห็นได้ว่าจากวิกฤตในปัจจุบัน ภาครัฐใช้เม็ดเงินกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ภาคการลงทุนยังไม่ได้แรงสนับสนุน เช่นเดียวกับการผลักดันการลงทุนใน EEC ก็ยังไม่เห็นโอกาสที่จะทำให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจะได้รับผลประโยชน์ หรือแรงหนุน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม หากพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น ประโยชน์ก็จะตกไปสู่ประชาชนไทยหลายกลุ่ม

“วิศิษฐ์” ส่งไม้ต่อ “ฟิวเจอร์ฟู้ด”

ทิศทางอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2564 ถึงปีหน้า ยังอยู่ภายใต้ปัญหาโควิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกให้กับภัตตาคาร โรงแรมต่าง ๆ ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ก็ยังสามารถส่งออกได้ดี ขยายตัว 2.6% คาดการณ์ว่าในปี 2564 นี้ จะเติบโต 3-5% จากปี 2563 ที่ส่งออก 23,167 ล้านเหรียญสหรัฐ

“นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดเผยว่า ช่วงก่อนหน้าและช่วงสถานการณ์ COVID-19 สินค้าที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี ได้แก่ สินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2563-2564 มากถึง 32.7% ขยายตัวได้ดีในกลุ่มประเทศจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หากมีการส่งเสริมและพัฒนาในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานสู่ความเป็น premium จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

และด้วยเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิดที่ผู้บริโภคมีความใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์นั่นจึงทำให้กลุ่มสินค้าที่เรียกว่าอาหารอนาคต หรือ “ฟิวเจอร์ฟู้ด” ได้รับความนิยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีนทางเลือก (alternative protein) ต่าง ๆ จำพวก plant-based food หรือโปรตีนจากแมลง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่สามารถผลิตและแปรรูปแมลงได้จำนวนมาก

“อาหารอนาคตที่เป็นเรื่องใหม่และกำลังจะมีบทบาทมากขึ้น อาทิ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (lab-grown meat), โภชนาการอาหารเฉพาะบุคคล (personalized nutrition) และ functional food จำพวก probiotics prebiotic และ healthy drink เป็นต้น”

ล่าสุดทางคณะกรรมการได้จัดทำโครงการ Online Clinic Food & Bio-Tech For Success ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงฐานข้อมูลงานวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 11 ราย จัดให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์แล้ว 3 ราย เช่น การยืดอายุเม็ดไข่มุก, การแปรรูปสมุนไพร และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการระดมความเห็นเพื่อจะทำโครงการที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาผู้ประกอบการต่อไป