โรงงานติดเชื้อโควิดสะเทือนส่งออก ย้ายไลน์ผลิต-เลื่อนส่งมอบสินค้า

ถุงมือยาง

โรงงานอุตสาหกรรมอ่วมพิษโควิด ตรวจเชิงรุกแรงงานไทย-ต่างด้าวยอดติดเชื้อยังพุ่ง “แคลคอมพ์-ศรีตรัง โกลฟส์-ซีพีเอฟ” แจ็กพอตระนาว ต้องปรับแผนโยกไลน์การผลิต แจ้งลูกค้า ตปท.ขอเลื่อนส่งสินค้าตามออร์เดอร์ หวั่นคลัสเตอร์โรงงานขยายวงไม่หยุด สะเทือนยอดส่งออก สอท.รุกป้อง 5 อุตสาหกรรมเสี่ยง เอสซีจีปฏิบัติการแยกคนงาน 2 วง “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนลอตแรก 1 ล้านโดส 7 มิ.ย.นี้

โควิด-19 ระลอก 3 ที่กำลังแพร่ระบาดจนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรมส่งผลกระทบภาคการผลิตในวงกว้าง จากการตรวจสอบคัดกรองโรคเชิงรุกในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หลายจังหวัด พบแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงงานแคลคอมพ์ จ.เพชรบุรี

ล่าสุดผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ ปรากฏว่ายอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุด ขณะเดียวกันยังพบโควิดคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานอีกหลายจังหวัด อาทิ โรงงานผลิตถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ ใน จ.ตรัง โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) โรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ คลัสเตอร์เซเลอเรส ของ บจ.เซเลอเรส (ประเทศไทย) จ.ชลบุรี เป็นต้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และภาคการส่งออกอย่างยิ่ง เนื่องจากการผลิตสินค้าอาจสะดุดจากที่ต้องประกาศปิดโรงงาน หยุดสายการผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ทันตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าในต่างประเทศสั่งซื้อ ขณะที่บางโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อปรับแผนด้วยการโยกการผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบไปผลิตในโรงงานแห่งอื่นของบริษัทแทน

กระทบส่งออกหมื่นล้าน

นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น กระทบภาพรวมทางเศรษฐกิจ จ.ตรัง อย่างมาก ที่โควิดแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงานถุงมือยางถือว่าถูกตีเมืองแตกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตถุงมือยางของกลุ่มไทยกอง หรือศรีตรังโกลฟ์ และคาดว่าจะลามไปโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เพราะมีการสัมผัสต่อ ๆ กัน

สำหรับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม จ.ตรัง ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีการใช้แรงงานต่างด้าวประมาณ 3,000 คน ขณะนี้มีการควบคุมการแพร่ระบาดใกล้ชิดแล้ว

การแพร่ระบาดของโควิดครั้งนี้กระทบเศรษฐกิจมาก ที่เห็นชัดสุดคือโรงงานศรีตรังฯ มีกำลังการผลิตถุงมือยาง 25 ล้านชิ้น/วัน มูลค่า 350 ล้านบาท เดือนละ 1 พันล้านบาท หรือปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ช่วงปิดโรงงานรายได้ส่วนนี้หายไปเลย โดยเฉพาะส่งออกปีนี้อย่างน้อยกระทบแน่นับหมื่นล้าน ส่วนภาพรวมอยู่ระหว่างการประเมิน

ศรีตรังโกลฟ์โยกไปสงขลา

โรงงานศรีตรังฯมีคนงานรวม 1,600 คน เป็นต่างด้าว 200 กว่าคน ขณะนี้ปิดโรงงานชั่วคราว และกักตัวคนงานทั้งหมดภายในโรงงาน และที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค อ.เมือง จ.ตรัง จะตรวจหาเชื้อ 100% รวม 2 ครั้ง หากผลตรวจไม่พบเชื้อครบ 14 วันจะให้กลับบ้านได้

“สำหรับการแก้ปัญหาในส่วนของโรงงานศรีตรังฯ ที่มีแรงงานติดโควิด-19 ทั้งโรงงานใน จ.ตรัง ที่มีกำลังการผลิต 25 ล้านชิ้น/วัน และโรงงานใน จ.สุราษฎร์ธานี กำลังการผลิต 18 ล้านชิ้น/วัน ให้โรงงานของบริษัทใน จ.สงขลา เพิ่มกำลังการผลิตทดแทน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากมีออร์เดอร์สั่งซื้อถุงมือยางจำนวนมากยาวไปถึงสิ้นปี” นายชัยวุฒิกล่าว

ราคาน้ำยางร่วงหนัก 8 บาท/กก.

นายชัยวุฒิกล่าวว่า อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบทันที คือ ราคาน้ำยางพาราสด วานนี้ (30 พ.ค.) วันเดียวราคาร่วงลง 8 บาท/กก. และทยอยปรับลดลงอีกวันละ 2-3 บาท/กก. วันที่ 31 พ.ค. ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 51-53 บาท/กก. หากโรงงานยังเปิดกิจการไม่ได้ ราคาน้ำยางสดจะดิ่งลงกว่านี้

ด้านนางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการผู้จัดการสายงานการผลิตสาขาตรัง บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทให้ความร่วมมือกับจังหวัดทุกวิถีทางในการยับยั้งการแพร่ระบาดและรับผิดชอบในการดูแลคนงานทั้งหมด พร้อมทั้งประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังอย่างใกล้ชิด

เลื่อนส่งถุงมือยาง ตปท.

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากกลุ่มโรงงานศรีตรังว่า หลังโรงงาน บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) สาขาตรัง และสาขาสุราษฎร์ธานี ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวตั้งแต่ 28-30 พ.ค. 2564 เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก

เบื้องต้นทางบริษัทซึ่งได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าถุงมือยางธรรมชาติไปถึงไตรมาส 3/64 และถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรล์) ไปถึงกลางปี 2565 ได้ปรับแผนการผลิต โดยการจัดสรรยอดคำสั่งซื้อที่อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบไปผลิตที่โรงงานหาดใหญ่ จ.สงขลาแทน และยอดคำสั่งซื้อบางส่วนจะมีการแจ้งลูกค้าเพื่อ “เลื่อนการส่งมอบสินค้าในลำดับถัดไป” ส่วนของถุงมือยางสำหรับใช้ในประเทศยืนยันว่ามีเพียงพอต่อความต้องการใช้แน่นอน

รง.มหาชัยขอวัคซีนด่วน

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธาน กรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซี แวลู และ บมจ.ยูนิคอร์ด ผู้ผลิตส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ ซึ่งมีโรงงานผลิตในมหาชัย และได้รับผลกระทบโควิดระลอก 2 เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีแรงงานรวม 15,000 คน เป็นแรงงานต่างด้าว 90% คนไทย 10% หลังเกิดการระบาดที่ จ.สมุทรสาคร มีแรงงานได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 600-700 คน ส่วนที่ยังไม่ได้ฉีด คาดว่าไม่เกินเดือน ส.ค.นี้ แรงงานไทยบางส่วนจะได้รับการฉีดวัคซีน และขอให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงวัคซีนโดยเร็วด้วย

ส.อ.ท.รุกฉีด 5 อุตฯเสี่ยง

ส่วนความเคลื่อนไหวขององค์กรตัวแทนภาคอุตสาหกรรม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลัง ส.อ.ท.เซ็น MOU ซื้อวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม 300,000 โดส ภายในเดือน มิ.ย.นี้

ส่วนแผนการกระจายวัคซีนจะหารือกับสมาชิก 6,000 บริษัทสัปดาห์นี้ เป็นแรงงานกว่า 1.4 ล้านคน ที่เคยแสดงความจำนงต้องการฉีดวัคซีน โดยผู้ประกอบการจะมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาท/โดส จะฉีดได้เร็วที่สุด ก.ค.-ส.ค.นี้

เกณฑ์การกระจายวัคซีนจะพิจารณาจาก 1) โซนพื้นที่เขตสี เลือกโรงงานที่อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม (5+1 รวมเพชรบุรี) ก่อน 2) เลือกจากประเภทโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีความอ่อนไหวต่อผู้บริโภค ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, โรงงานอาหารเสริม, โรงงานอุปกรณ์ทางการแพทย์ (ผลิตชุด PE หน้ากากอนามัย), โรงงานผลิตยา/สมุนไพร, โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อัพเกรดมาตรฐาน IPHA สู้โควิด

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. งานมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานวัคซีนทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 4 มิ.ย.นี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. พร้อมคณะทำงาน จะประชุมร่วมกับ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ จะทราบรายละเอียดการนำเข้าและราคาที่แท้จริงของวัคซีน ส่วนการจัดสรรวัคซีนเบื้องต้นน่าจะเป็นไปตามลำดับและปริมาณการจอง หรือ First come First Serve

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า 3 ภาคี ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันอาหาร และสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO ส.อ.ท.จะหารือถึงแนวทางการอัพเกรดมาตรฐานด้านสุขอนามัย หรือ IPHA ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองสถานประกอบการที่มีการดูแลบุคลากร กระบวนการผลิตและสถานที่ ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ท่ามกลางการระบาดของโควิด

เอสซีจีตั้งการ์ดคุมโควิดเข้า รง.

นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี เปิดเผยว่า บริษัท ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด

โดยพนักงานที่ปฏิบัติงานในสายการผลิตและการซ่อมบำรุง และงานอื่นๆ ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ จะปฏิบัติตามมาตรการ “ไข่แดง ไข่ขาว” คือ แยกผู้ที่ทำงานในสายการผลิตออกจากกลุ่มพนักงานทั่วไป มีการจัดที่พัก อาหาร รถรับส่ง เพื่อไม่สัมผัสกันระหว่างเปลี่ยนกะ ตลอดจนวางแผนกำลังพล เพื่อให้มีพนักงานสำรอง สามารถทำงานทดแทนกันได้ พร้อมส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้ามั่นใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนพนักงานทั่วไป ยังคงปฏิบัติงานที่บ้าน และใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีติดต่อกับคู่ธุรกิจ และให้บริการแก่ลูกค้า ตลอดจนขอให้พนักงานรายงานสุขภาพประจำวัน (Check in) ด้วยแอพพลิเคชัน Employee Connect ทุกวันไม่เว้นวันหยุด

ระยองชี้ รง.ซมพิษโควิด

นายสงวน แสงวงศ์กิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผยทำนองเดียวกันว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเกิดความเสียหายมาก อยากให้ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญและจัดสรรวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศ

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในระยอง ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมทั้งในนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งหมด 3,000 โรงงาน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิต และสถานประกอบที่มีแรงงาน 20 คนขึ้นไป มี 250,000 คน

ปัจจุบันพนักงานในโรงงานทั้งหมดยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และไม่ทราบว่าจะได้รับฉีดวัคซีนหรือไม่ เพราะนโยบายรัฐปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ส่วนจำนวนประชากรของ จ.ระยอง มีกว่า 900,000 คน ตามทะเบียนราษฎร หากคิดเป็น 70% อยู่ที่ 600,000 คน แต่ในความเป็นจริงมีประชากรจำนวนมาก

คิกออฟฉีดวัคซีนพื้นที่ระบาด

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดทั่วประเทศสอบถามผู้ประกอบการ-ลูกจ้างที่ต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดมีผู้ตอบแบบสอบถาม 7.5 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนแจ้งขอรับการฉีดวัคซีนกว่า 6.2 ล้านราย เมื่อหักจากผู้ประกันตนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนภายใต้โครงการ “หมอพร้อม” ไปแล้ว มี 3.5 ล้านรายที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ในจำนวนนี้ต้องการรับวัคซีน 2.3 ล้านราย

สำหรับแผนกระจายวัคซีนของกระทรวงแรงงานที่ได้รับโควตาลอตแรก 1 ล้านโดส จะเริ่มกระจายฉีดวันที่ 7 มิ.ย. 64 นี้ เริ่มที่ “วงแรก” คือประชาชนในพื้นที่ กทม. ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ที่มีอยู่ 12 เขต จะตั้งเป็นศูนย์โควิด-19 รวม 45 จุด รองรับได้สูงสุด 50,000 คน/วัน มั่นใจว่าจะฉีดวัคซีนได้ครบภายใน 20 วัน จากนั้นต้องรอวัคซีนนำเข้า “ลอตใหม่” ฉีดให้ “วงที่ 2” คือพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดอย่างหนัก และในพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.เพชรบุรี และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ “วงที่ 3” ประชาชนทั่วไปในต่างจังหวัด

เปิดรายชื่อโรงงานป่วนพิษโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงงานส่งออกรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก 3 อาทิ บจ.โอคุมุระ เมทัลส์ (ประเทศไทย) จ.ชลบุรี ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน บจ.เซเลอเรส (ประเทศไทย) ผู้ผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้

จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีโรงงานแปรรูปสับปะรด 2 แห่ง ได้แก่ โดล ไทยแลนด์, ควอลิตี้ ไพน์แอปเปิ้ล โปรดักส์ จ.เพชรบุรี แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จ.ตรัง และ จ.สุราษฎร์ธานี ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จ.สระบุรี ซีพีเอฟ จ.สงขลา สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู๊ด เป็นต้น