ศบค. ขู่ฟันโรงงาน 3 พันแห่ง บกพร่องสาธารณสุข ทำติดเชื้อกระจาย 10 จว.

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค. ยกเคสการติดเชื้อโควิดในโรงเชือดไก่ กระจายเป็นวงกว้าง พบสถิติย้อนหลัง 2 เดือน “โรงงานขนาดใหญ่” ติดเชื้อมากถึง 20% กระจายไปกว่า 10 จังหวัด  เหตุละเลยเรื่องทำแบบประเมินด้านสาธารณสุข ระบุ 3,300 โรงงาน มีการประเมินแค่ 650 ขีดเส้น 15 มิ.ย.ต้องทำให้ครบ 100% ขู่เพิกเฉยลงโทษ กำชับ “แคมป์คนงาน” เคร่งครัดมาตรการ หากไม่ปฏิบัติตาม พร้อมส่งฝ่ายความมั่นคงเข้าควบคุม

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ว่า วันนี้ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้มีการหยิบยกกรณีการติดเชื้อในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่ จ.สระบุรี มาหารือ เนื่องจากขณะนี้มีการกระจายเชื้อไปหลายจังหวัด โดยโรงงานดังกล่าวมีแรงจำนวนมาก เป็นคนไทย 4 พันกว่าคน ชาวต่างชาติพันกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา ซึ่งการติดเชื้ออยู่ในหลายแผนกด้วยกัน กระจายติดไปทั้งโรงงาน

กรณีดังกล่าว กรมควบคุมโรควิเคราะห์ว่า พนักงานคนไทยจะอยู่บ้านพักส่วนตัวหรือหอพักโดยรอบโรงงาน ส่วนแรงงานต่างชาติจะอยู่หอพักที่โรงงานจัดให้ บางจุดค่อนข้างแออัด อยู่กันห้องหนึ่ง 3-6 คน มีการใช้พื้นที่กลาง หรือรับประทานอาหารร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าในส่วนของแรงงานฝีมือหรือแรงงานช่างกลับมีการติดเชื้อน้อยแม้จะอยู่ปะปนกับแรงงานอื่น ๆ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้มีมาตรการส่วนตัวเข้มข้นและระมัดระวังตัวอย่างสูงสุด

สำหรับจุดประสงค์ที่พูดกันถึงเรื่องนี้ เพื่อหาทางป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน ลดการรุนแรงจากการระบาดของโรค ลดการแพร่กระจายไปสู่ชุมชน และเป็นการช่วยกันปกป้องเศรษฐกิจและสังคม โดยที่สถานประกอบการยังดำเนินกิจการต่อไปได้แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม

 10 จังหวัด มี รง.ขนาดใหญ่ติดโควิดกว่า 20%

ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขการพบผู้ติดเชื้อในโรงงานต่าง ๆ ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีการติดเชื้อใน 10 จังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานเกิน 200 คน เนื่องจากสถานที่พักมีคนแออัด มีระบบระบายอากาศไม่ดีพอ มีจุดสัมผัสไม่สะอาด มีพฤติกรรมในการการรับประทานอาหารร่วมกัน

จากการวิเคราะห์พบว่า โรงงานที่มีขนาดใหญ่พบการติดเชื้อมากถึง 20% โรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง มีการรายงานการติดเชื้อเพียง 5%

ขณะที่จากการสำรวจของกรมอนามัยมีรายงานว่า มีตัวเลขโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 63,000 แห่ง โดยมีโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อและเข้าสู่การประเมินตนเองในแบบประเมินตนเองด้านสาธารณสุข ( Thai Stop COVID(TSC) ตามมาตรการ Good factory Practice จำนวน 8,200 โรงงาน เพื่อให้โรงงานเหล่านี้ได้เรียนรู้มาตรการในการป้องกันโรค การสอบสวนโรค รวมทั้งเรื่องของอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือมีมาตรการเสิรมหากพบคนติดเชื้อในโรงงานจะต้องทำอย่างไร

แต่ที่ผ่านมา 2 เดือน พบว่ามีโรงงานเพียง 2,800 โรงงานเข้าไปประเมินตนเอง แต่ทั้งหมดพบว่ามีโรงงานขนาดใหญ่ถึง 3,300 โรงงาน มีการเข้าไปประเมินตนเองเพียง 650 โรงงาน ทั้งที่โรงงานขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นเป้าหมายที่มีการติดเชื้อมากกว่าโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่มีการให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังตนเองค่อนข้างน้อยเพียง หรือคิดเป็น 20% เท่านั้น

 

ขีดเส้น 15 มิ.ย. – ขู่ลงโทษ บังคับใช้กฎหมาย

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่าที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำให้ภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ โรงงานขนาดใหญ่ที่มีรายชื่ออยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม 100% ต้องเข้าไปประเมินตนเอง และทำให้ครบถ้วน 100% จะเลือกทำบางส่วนไม่ได้ ซึ่งทุกจังหวัดต้องดำเนินการ และขอให้ตอบตามความเป็นจริง หากได้คะแนนน้อยหรือไม่ผ่านเกณฑ์จะมีทีมพี่เลี้ยงลงพื้นที่ไปช่วยปรับปรุงแก้ไขให้ผ่าน

แต่หากขอความร่วมมือแล้วเพิกเฉย ไม่มีการประเมินตนเอง และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นเหตุให้มีการติดเชื้อและกระจายไปยังพื้นที่ ชุมชน ตรงนี้จะมีการพิจารณาเรื่องบทลงโทษ แต่หากโรงงานไหนทำได้ดี จะมีการทบทวนการให้รางวัล ชมเชย ปรับให้เป็นสถานประกอบการต้นแบบ

ขอยกตัวอย่าง ตอนนี้มีโรงงานของโตโยต้า เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำงานใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการขอมาตรการ ศึกษา เรียนรู้ และนำไปปรับใช้ได้จริงภายในบริษัท ทั้งในส่วนของโรงงาน และซับคอนแทร็กต์

“เมื่อโรงงานหนึ่งเกิดการติดเชื้อ แม้จะเป็นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ เพียง 1 จุด อาจทำให้ทั้งระบบต้องหยุดชะงักด้วย และในแง่ของการระบาดก็อาจจะทำให้เกิดการระบาดเพิ่มเติมในพื้นที่ชุมชน ตรงนี้จะเป็นมาตรการที่ต้องกำกับติดตามให้เห็นผลภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

ต้องฝากไปที่เจ้าของสถานประกอบการ คนงาน แคมป์คนงาน ทุก ๆ ที่ ขอความร่วมมือ เพราะเราไม่ต้องการลงโทษ หรือใช้การบังคับใช้ทางกฎหมาย

ตจว. พบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานเพียบ

ส่วน 10 จังหวัดในส่วนของคลัสเตอร์ต่างจังหวัด จ.สมุทรปราการยังอยู่ที่ตลาดสำโรง มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 186 ราย โรงงานผลิตจำหน่ายซอส 36 ราย และมีโรงงานน้ำแข็งเป็นคลัสเตอร์ใหม่บวกไป 74 ราย และที่บางพลีพบในชุมชนและเคหะบางพลี ตรวจพบอีก 16 ราย

ส่วนที่เพชรบุรียังเป็นโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (แคล-คอมพ์) ซึ่งตอนนี้มีการแพร่กระจายไป 11 จังหวัดแล้ว และมียอดรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 438 ราย ทำให้ จ.เพชรบุรีอยู่ในการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ลำดับที่ 3 ของประเทศ

รวมทั้งที่จังหวัดตรัง (โรงงานผลิตถุงมือยาง) ซึ่งพอมีการตรวจเชิงรุกก็เริ่มเห็นไปที่การระบาดในชุมชน

เตือน “แคมป์คนงาน” ย่อหย่อน ส่ง “ฝ่ายมั่นคง”จัดการ

แพทย์หญิงอภิสมัยยังกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีแคมป์คนงาน ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้หารือกันในวันเดียวกันนี้ ว่าจากการวางมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของแคมป์ที่พักคนงาน รวมถึงไซต์ก่อสร้าง ทาง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.ได้มอบให้กรมควบคุมโรค ทบทวนรายละเอียดในแง่ของการจัดการ บับเบิลแอนด์ซีล การจัดการคอมมิวนิตี้ไอโซเรชั่น การพยายามที่จะทำให้การแพร่ระบาดมีวงจำกัดอยู่เฉพาะที่แคมป์คนงาน เพื่อให้สถานประกอบการ แคมป์คนงาน สามารถที่จะเกิดความเข้าใจในแง่ของรายละเอียดการปฏิบัติให้ตรงกัน แล้วจะได้ทำให้ถูกต้อง

ขณะนี้หลายแคมป์คนงาน อาจบอกว่าที่ทำอยู่นั้นเพียงพอแล้ว ถูกต้องแล้วจึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดติดเชื้อ ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะได้นำเสนอรายละเอียดข้อปฏิบัติยิบย่อยให้ แต่หากยังไม่ปฏิบัติตาม ผอ.ศบค.ชุดเล็ก เน้นย้ำว่าจะขอความช่วยเหลือ ฝ่ายความมั่นคง ให้การสนับสนุนทาง กรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้มีการกำชับเพื่อให้มาตรการที่ออกมาทำได้ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป และสามารถควบคุมได้ในที่สุด

“สุดท้ายฝากไปที่ประชาชน มาตรการรัฐเข้มข้น ถ้าผู้ประกอบการ แคมป์คนงาน สถานประกอบการย่อหย่อนปฏิบัติไม่ได้ นั่นหมายความพี่น้องประชาชนจะไม่ได้รับความปลอดภัย ดังนั้น ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจึงต้องช่วยเป็นหูเป็นตา และพี่น้องสื่อมวลชนช่วยกันเป็นกระบอกเสียง ก็ขอความร่วมมือจากทุกคน ให้ทำหน้าที่ต่อไป เราคงจะได้เห็นสถานการณ์ดีขึ้น” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว