4 เดือนส่งออกมันสำปะหลังพุ่ง 50% ผลจากผู้ซื้อมั่นใจ พร้อมเข้มนำเข้า-ส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศเผยส่งออกมันสำปะหลัง 4 เดือนปี 64 พุ่ง 3.96 ล้านตัน เพิ่ม 50% มูลค่า 1,424 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 49% ส่งผลดีดันราคาในประเทศขยับตาม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.40 บาท

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วง 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีปริมาณสูงถึง 3.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50% มูลค่า 1,424 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49% ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคา ส่งผลให้ราคาหัวมันสำปะหลังสดในประเทศ ฤดูกาลผลิตปี 2563/64 มีเสถียรภาพ โดยปัจจุบันราคาเฉลี่ย 2.40 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจมาก

ทั้งนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อมีความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานดีกว่าคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว จึงมีการซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กรมฯ ได้จัดส่งชุดตรวจสอบเคลื่อนที่ ลงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่เป็นจุดนำเข้ามันเส้น เช่น สระแก้ว สุรินทร์ จันทบุรี และอุบลราชธานี เพื่อกำกับดูแลการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และยังได้ส่งชุดตรวจสอบ ออกตรวจสอบโกดังที่เก็บมันเส้นเพื่อส่งออก เช่น อยุธยา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อกำกับดูแลคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

กีรติ รัชโน

“การเข้มงวด ทั้งการกำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังที่ไม่มีคุณภาพ การกำกับดูแลการส่งออกให้เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นไปตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำชับให้กรมดูแลอย่างเข้มงวด ทำให้ส่งผลดีต่อการส่งออก เพราะผู้ซื้อมีความเชื่อมั่น และยังส่งผลดี ทำให้ราคาในประเทศสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดภาระงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังลงมาด้วย” นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มระบาดในช่วงเดือน เม.ย. 2564 ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของชุดตรวจสอบ ซึ่งแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยกรมจะเดินหน้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาหัวมันสำปะหลังสดในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดเกือบหมดแล้ว