โรงงานกุมภวาปีเลิกกิจการ อุตฯน้ำตาลต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ปรากฏการณ์โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี โดยบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี ประกาศปิดกิจการ อันเนื่องมาจากสาเหตุ “บริษัทตกอยู่ในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบาก” จนที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีมติให้ “หยุดกิจการน้ำตาล” ลงทั้งหมด พร้อมกับให้โอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อยที่โรงงานน้ำตาลกุมภวาปีทำไว้กับชาวไร่อ้อยทุกราย ไปยังบริษัท น้ำตาลเกษตรผล ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทน้ำตาลตราช้อนเช่นเดียวกัน

การประกาศปิดกิจการดังกล่าวนับเป็นเรื่องสั่นสะเทือนวงการค้าน้ำตาลและวงการชาวไร่อ้อย เนื่องจากเป็นโรงงานน้ำตาลโรงแรกในรอบมากกว่า 10 ปีที่ “ไปไม่รอด” สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศ

และที่สำคัญก็คือ โรงงานน้ำตาลโรงนี้ไม่ได้เป็นโรงงานน้ำตาลที่บริหารงานโดยคนไทย แต่เป็นโรงงานน้ำตาลที่บริหารงานโดยนักลงทุนญี่ปุ่น ถือหุ้นอยู่ 88.0473% ผ่านทางบริษัท มิตซุย (11.1906%) กับบริษัท มิตซุย ชูการ์ (43.8567%) รวมทั้งบริษัท น้ำตาลเกษตรผล ถือหุ้นอยู่อีก 6.1385%

เบื้องต้นโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีได้โอนย้ายโควตาการผลิตน้ำตาล-สัญญาซื้อขายอ้อยกับชาวไร่ ไปให้โรงงานน้ำตาลเกษตรผล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ใช้ผู้บริหารญี่ปุ่นชุดเดียวกัน (หุ้นไทย 71.6145%-หุ้นญี่ปุ่น 28.3854%) ผ่านทางบริษัท สาทรแคปปิตอล 63.6560%, บริษัท มิตซุย ชูการ์ 28.3854%, บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี 3.9793%, ธนาคารกรุงเทพ 0.9948% และอื่น ๆ

จากการติดตามผลประกอบการของทั้งบริษัท กุมภวาปี และบริษัท น้ำตาลเกษตรผล ในข่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีมีผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 จำนวน -156,047,939 บาท ปี 2560 ขาดทุน -153,564,976 บาท ปี 2561 ขาดทุน -295,816,401 บาท ปี 2562 ขาดทุน -234,158,771 บาท และล่าสุด 31 ตุลาคม 2563 ขาดทุนไปถึง -351,354,543 บาท

โดยรายได้จากการขายน้ำตาลเฉลี่ย 4 ปีย้อนหลัง อยู่ในระดับ 2,000 กว่าล้านบาท ยกเว้นปีล่าสุดมีรายได้แค่ 1,676 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนการขายสูงกว่ารายได้มาโดยตลอด

ด้านโรงงานน้ำตาลเกษตรผลก็เช่นกัน ผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลังประสบกับภาวะการขาดทุนจากการดำเนินงาน โดยปี 2559 ขาดทุน -177,248,408 บาท ปี 2560 ขาดทุน -58,897,216 บาท ปี 2561 ขาดทุน -447,926,718 บาท ปี 2562 ขาดทุน -502,861,989 บาท และปีล่าสุด 2563 ขาดทุนถึง -467,435,045 บาท

จนอาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของโรงงานน้ำตาลเกษตรผลนั้นใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี

โรงงานน้ำตาลต้องปรับตัว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวถึงการปิดกิจการของโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าห่วง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่ปรับตัวของโรงงาน เนื่องจากโรงงานน้ำตาลมีวัตถุดิบ คือ “อ้อย” ผลผลิต คือ “น้ำตาล” จึงมีรายได้จากการขายน้ำตาลทางเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลือมาจากกระบวนการผลิตอย่าง “ชานอ้อย” ก็นำไปผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ภายในโรงงานไม่เหลือขาย

ส่วนโมลาสขายให้กับอุตสาหกรรมเหล้า ในขณะที่โรงงานน้ำตาลรายอื่น ๆ จะลงทุนตั้งโรงงานใหม่เพื่อนำชานอ้อยผลิตไฟฟ้าทั้งใช้และขายให้กับการไฟฟ้า นำโมลาสมาผลิตเป็นเอทานอล หรือต่อยอดไปสู่การใช้เป็นส่วนประกอบให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกและเครื่องสำอาง รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการขายน้ำตาลที่ต้องพึ่งพิงราคาตลาดโลกเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลรายใดที่ยังไม่สามารถปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ มีรายได้จากการขายน้ำตาลเพียงทางเดียว โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 12,000-15,000 ตัน ก็จะหนีสถานการณ์แบบนี้ไปไม่พ้น กล่าวคือจะทยอยล้มหายตายจาก ปิดกิจการในอนาคต

และยิ่งหาก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับใหม่) ที่อยู่ระหว่างแก้ไขโดย “ไฟเขียว” ให้ผลพลอยได้จากการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลได้ให้สามารถนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 กับชาวไร่ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งส่งผลให้ “รายได้” ในส่วนที่เคยเป็นของโรงงานน้ำตาลมาแต่เดิมต้องลดลง นั่นหมายความว่า โรงงานน้ำตาลจะขาดทุนหนักเข้าไปอีก เนื่องจากมีต้นทุนจากการลงทุนใหม่เข้ามาเพิ่ม

“กลายเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไรเพิ่มเลย มีรายได้จากการขายน้ำตาลทางเดียวก็จะอยู่ไม่รอด ต่อไปเมื่ออ้อยยิ่งน้อยลง การขาดทุนก็จะตามมา ตอนนี้เราเลยเห็นโรงงานส่วนใหญ่ที่ยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย จะเป็นพวกที่ขยายโรงงานส่วนอื่นเพิ่มแทบไม่มีโรงงานน้ำตาลรายใหม่เลยเพราะอ้อยมันลด ราคาก็ผันผวน แต่ก็ยังดีที่ว่า ถัวเฉลี่ยทั่วโลก ไทยลด อินเดียลด บราซิลดี ราคาน้ำตาลมันเลยวิ่งประมาณนี้”

สำหรับสถานการณ์ของราคาน้ำตาลตลาดโลกตอนนี้มีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 13-15 เซนต์/ปอนด์ (ยังไม่บวกค่าพรีเมี่ยม) ส่วนปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงทุกปี โดยฤดูการผลิตปี 2563/2564 อยู่ที่ 66.6 ล้านตันเท่านั้น หรือลดลงจากปี 2562/2563 ซึ่งอยู่ที่ 74.8 ล้านตัน การบริโภคภายในประเทศถือว่าทรงตัว ราคาขายหน้าโรงงานอยู่ที่ 17-18 บาท ปริมาณ 23-24 ล้านกระสอบ อาจลดลงเล็กน้อย

เมื่อประเมินจากราคาน้ำตาลตลาดโลกตอนนี้ ยังถือว่า “พอไปได้” แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่น่ากังวล เรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ต้นทุนการปลูกอ้อย 1,500 บาท/ไร่ หากราคาน้ำตาลโลกอยู่ที่ 15 เซนต์/ปอนด์ ก็อยู่ไม่ได้ หรือถ้าต้นทุน 1,000 บาท/ไร่ ราคาน้ำตาลโลกอยู่ที่ 13-14 เซนต์/ปอนด์ ก็พออยู่ได้

อ้อยขั้นสุดท้ายมากกว่าขั้นต้น

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ที่ จ.อุดรธานี หลังจากได้แจ้งปิดกิจการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าโรงงานมีชาวไร่อ้อยคู่สัญญา 1,195 ราย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 หีบอ้อยได้ 716,862.94 ตัน และผลิตน้ำตาลได้ 82,977.23 ตัน

โดยการปิดโรงงานแห่งนี้ ผู้บริหารได้ให้ดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาช่วยเหลือแก่พนักงานประจำโรงงาน และจะดำเนินการติดตามการจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลในประเทศเหลืออยู่ 56 โรง

ทางด้าน นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังมีการยื่นขอใบอนุญาต ทั้งขยายโรงงานน้ำตาลเก่าและขอตั้งโรงงานใหม่ ซึ่งได้ทยอยพิจารณาเนื่องจากจะมีบางใบรับรองที่ได้ไปก่อนนี้ พอครบ 5 ปีก็จะหมดอายุใบรับรอง จึงมีพื้นที่ที่ไม่ซับซ้อนสามารถออกใบอนุญาตใหม่ให้ได้ ขณะที่เดือนกรกฎาคม 2564 ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบตลาดล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 17.70 เซนต์/ปอนด์ “นับว่าเป็นราคาดี”

ขณะที่ราคาขายหน้าโรงงานน้ำตาลทรายขาวธรรมดา 17.25 บาท และขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 18.25 บาท และเมื่อคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นประมาณ 16 เซนต์/ปอนด์ จึงมีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจะมากกว่าราคาขั้นต้น (ขั้นต้น 920 บาท) โดยราคาขั้นสุดท้ายน่าจะเกิน 1,000 บาท