ปิดตำนาน 74 ปี “กุมภวาปี” โรงงานน้ำตาลแห่งแรกในภาคอีสาน

การประกาศปิดกิจการของ “โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี” อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โรงงานเก่าแก่แห่งแรกในภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นโรงงานรุ่นบุกเบิกของธุรกิจอ้อยน้ำตาลที่มีอายุกว่า 70 ปี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้คนในวงการ และนอกวงการอ้อยน้ำตาลไม่ใช่น้อย

ด้วยความที่โรงงานดังกล่าวเป็นของกลุ่มทุนยักษ์ข้ามชาติระดับโลก “มิตซุย” จากประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลายคนต่างวิพากษ์วิเคราะห์กันไปต่าง ๆ นานา แม้ทางบริษัทได้แจ้งว่า ผลประกอบการขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาหลายปี แต่หลายคนยังค้างคาใจในการตัดสินใจปิดกิจการของทุนยักษ์ญี่ปุ่น

เปิดปูม 74 ปี โรงงานกุมภวาปี

แรกเริ่มกำเนิดน้ำตาลกุมภวาปี มีข้อมูลจากหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ระบุไว้ในโอกาส “ฉลองครบรอบ 50 ปี น้ำตาลกุมภวาปี” เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 อย่างยิ่งใหญ่ โดยครั้งนั้น นายธนัชชัย สามเสน ผู้จัดการอาวุโสสายงานบริหารและการเงิน บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด

ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมา พอสรุปได้ว่า โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี อาจถือว่าเป็นตำนานตกทอดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อุดมการณ์ในการพัฒนาชาติ ในปี 2480 รัฐบาลได้ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขาวแห่งแรกที่ จ.ลำปาง และแห่งที่ 2 ที่ จ.อุตรดิตถ์ ในปี 2485 รวมทั้งจัดตั้ง “บริษัท ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด”

ขึ้นมารับโอนโรงงานทั้ง 2 แห่ง ต่อมาบริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ได้สร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 11 โรง รวมทั้ง “โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี” ขึ้นที่ อ.ภุมภวาปี จ.อุดรธานี ปี 2490 บริษัท

ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด ได้โอนโรงงานน้ำตาลทั้งหมดให้กับ “องค์การน้ำตาลไทย” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ต่อมาในปี 2495 ราคาน้ำตาลตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยและโรงงาน ในปี 2496 รัฐบาลจึงจัดตั้ง“บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด” ขึ้น เพื่อนำเข้าและส่งออกน้ำตาลแต่ผู้เดียว

ขณะที่องค์การน้ำตาลไทย มีหน้าที่ผลิตร่วมกับเอกชน ต่อมาองค์การน้ำตาลไทยได้ขายกิจการโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ให้กับบริษัท บุญเกื้ออุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งบริหารกิจการด้วยความยากลำบากในยุคที่โรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นมากถึง 48 โรงงาน น้ำตาลล้นตลาด ราคาน้ำตาลต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

วิกฤตการณ์ดังกล่าวในปี 2506 บริษัท บุญเกื้ออุตสาหกรรม จำกัด ได้ขายกิจการให้บริษัท ชิบาอุระเซโต ซึ่งประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลในประเทศญี่ปุ่น โดยมีการตั้งบริษัท ชิบาโต(ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมาบริหาร

โดยจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2506 โดยความเห็นชอบจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นกรณีพิเศษ

ต่อมา บริษัท ชิบาอุระเซโต จำกัด ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารในบริษัท โดยมีการเชิญกลุ่มบริษัท มิตซุย เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมทั้งมีนักธุรกิจชาวไทย กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท บุญเกื้อฯ ชาวไร่อ้อยและพนักงานของบริษัท

เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย โดยถือเสมือนว่าชาวกุมภวาปีทุกคนมีส่วนของความเป็นเจ้าของโรงงานนี้ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2517

บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด มีชื่อย่อว่า KMP ก่อตั้งวันที่ 3 กันยายน 2506 โดย บริษัท ชิบาอุระ ไทย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปนี 51% และบริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด 44% ต่อมาปี 2529 เริ่มผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์

และปี 2552 ขยายเพิ่มไลน์การผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ มีพื้นที่ 820,000 ตารางเมตร รองรับการผลิต ต้นอ้อย 14,000 ตัน/วัน, น้ำตาลดิบ 1,500 ตัน/วัน

และน้ำตาลทรายขาว 750 ตัน/วัน ปริมาณการจัดเก็บ น้ำตาลทรายดิบ 75,000 ตัน (3 โกดัง), น้ำตาลทรายขาว 75,000 ตัน(4 โกดัง) และกากน้ำตาลโมลาส 60,000 ตัน (7 ถัง)

และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่ประชุมได้มีมติหยุดกิจการ บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด โดยจะมีผลเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 และจะมีการโยกสัญญาซื้อขายอ้อยกับชาวไร่ ไปยังโรงงานน้ำตาลเกษตรผล จ.อุดรธานี ที่อยู่ในเครือเดียวกัน

6 โรงงานอีสานล่างแย่งอ้อยหนัก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พยายามเจาะลึกถึงปัญหาแท้จริงจากคนในแวดวงอ้อยน้ำตาลในจังหวัดอุดรธานี ได้เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงงานแห่งนี้ขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว

ขณะที่สภาพโรงงานและเครื่องจักรเก่ามาก เพราะเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในภาคอีสาน ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับปรุงเครื่องจักรมาตลอด แต่เครื่องจักรเก่าก็ทำอะไรไม่ได้มาก

และไม่สามารถขยายโรงงานได้ เพราะปัจจุบันพื้นที่รอบโรงงานล้วนเป็นชุมชนหนาแน่น ความเจริญ ถนนหนทาง สาธารณูปโภค เกิดความแออัด ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร กลุ่มมิตซุยได้ขยายกิจการ โดยเข้าซื้อกิจการของโรงงานน้ำตาลเกษตรผลอยู่แล้ว ซึ่งมีการพัฒนา ขยายกำลังการผลิตสูงสุด ได้เทียบเท่า 2 โรงงานรวมกันอยู่แล้ว

หากวิเคราะห์การปิดโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี คงไม่มีผลต่อซัพพลายน้ำตาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมา กลุ่มมิตซุยได้ทุ่มขยายโรงงานน้ำตาลเกษตรผล รองรับตลาดที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งสามารถรองรับปริมาณอ้อยของชาวไร่น้ำตาลกุมภวาปีได้อยู่แล้ว

สำหรับข้อมูลของบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด หรือ KSP จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2489 โดยกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง ต่อมาในปี 2537 ช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลมีปัญหา

ได้มีการขายกิจการให้กลุ่มมิตซุย ล่าสุดมีทุนจดทะเบียน 1,507 ล้านบาท สัดส่วนผู้ถือหุ้น ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า บริษัท สาทรแคปปิตอล จำกัด ถือหุ้น 63.65%, บริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด ถือหุ้น 28.38%,

บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ถือหุ้น 3.97%, บมจ.กรุงเทพ ถือหุ้น 0.99%, บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด ถือหุ้น 0.99%, บริษัท มิตรสยามอินเตอร์ จำกัด ถือหุ้น 0.99% และบริษัท เอสบีซีเอส จำกัด ถือหุ้น 0.99%

โรงงานน้ำตาลเกษตรผล มีขนาดพื้นที่ 1,314,000 ตารางเมตร รองรับการผลิต ต้นอ้อย 15,000 ตัน/วัน, น้ำตาลดิบ 1,600 ตัน/วัน, น้ำตาลทรายขาว 500 ตัน/วัน ปริมาณจัดเก็บ น้ำตาลทรายดิบ 40,000 ตัน (2 โกดัง), น้ำตาลทรายขาว 70,000 ตัน (4 โกดัง) และกากน้ำตาลโมลาส 43,000 ตัน (5 ถัง)

ปัจจุบันมีกำลังการผลิต จำนวนอ้อยที่ผ่านกระบวนการหีบน้ำอ้อย รวม 2 โรงรวมกัน อยู่ที่ 3 ล้านตันต่อปี ส่งขายมากกว่า 90 บริษัท ใน 50 ประเทศ ฐานลูกค้ามีทั้งบริษัทท้องถิ่น

และบริษัทข้ามชาติ ประมาณ 70% ของสินค้าของบริษัท เป็นสินค้าส่งออก เริ่มจากน้ำตาลดิบ ตามด้วยกากน้ำตาล น้ำตาลดิบ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดระหว่างประเทศ

ซึ่งมีการซื้อขายส่วนใหญ่ในนิวยอร์ก และลอนดอน ราคาน้ำตาลจะปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามจำนวนสินค้า และความต้องการของเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ส่วนการขายในประเทศ มีเครือข่ายผู้ค้าส่งและค้าปลีกมากกว่า 100 ราย ภายใต้แบรนด์ ช้อน

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยที่หลายคนมองว่า ลึก ๆ แล้วการปิดโรงงานกุมภวาปีน่าจะมาจาก “ผลผลิตอ้อย” ที่ลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่โรงงานน้ำตาลบริเวณพื้นที่อีสานตอนล่างเพิ่มขึ้นถึง 6 โรงงาน

หลังการเปิดเสรีใบอนุญาตโรงงานน้ำตาล ทำให้ที่ผ่านมามีการแย่งซื้ออ้อยกันพอสมควรทีเดียว เฉพาะจังหวัดอุดรธานี มีถึง 4 โรงงาน ได้แก่ 1.โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี 2.โรงงานน้ำตาลเกษตรผล

3.โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม 4.โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี ส่วนจังหวัดใกล้เคียงที่ซื้ออ้อยในแหล่งเดียวกัน ได้แก่ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ.ชัยภูมิ,โรงงานน้ำตาลเอราวัณ จ.หนองบัวลำภู และโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จ.สกลนคร

ผลิต “เซลลูโลส” จากกากอ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากเอกสารแนะนำบริษัท เมื่อเดือนเมษายน 2562 กลุ่มมิตซุยมีโรงงานน้ำตาล บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด หรือ KMP, บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด หรือ KSP

และบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด หรือ KBS ล่าสุดที่เพิ่งเปิด คือ บริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล ได้ร่วมกับบริษัท โทเร อินดัสตรีส์ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น

เพื่อจดทะเบียนตั้งบริษัท เซลลูโลซิก ไบโอแมส เทคโนโลยี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากกากอ้อย ที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี

โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนจาก New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น 900 ล้านบาท และกลุ่มมิตซุย และบริษัทโทเรฯ อีกจำนวน 800 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท

นอกจากนั้น บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด และบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายใน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โดยบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด

ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2546 ในปริมาณ 6 เมกะวัตต์ และบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ในปริมาณ 5 เมกะวัตต์

KSP หรือ น้ำตาลเกษตรผล มีการเปลี่ยนโฉมอุปกรณ์การผลิตใหม่ เพื่อมุ่งจับตลาดกลุ่มประเทศเอเชียที่มีความต้องการน้ำตาลคุณภาพสูง คาดการณ์กำลังการบริโภคน้ำตาลตลาดเอเชียเพิ่มสูงขึ้น 2.8%

โดย CAGR เปรียบเทียบกับตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.0% ซึ่งโครงการเปลี่ยนโฉมอุปกรณ์การผลิตใหม่ วางแผนที่จะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม ปี 2562 หลังเสร็จสิ้น KSP จะมีกำลังการผลิตน้ำตาลคุณภาพสูงอยู่ที่ 300,000 ตันต่อปี

การรับรองกำลังการหีบอ้อยจากเดิม 12,000 ตัน/ปี เป็น 30,000 ตัน/ปี, การผลิตน้ำตาล (น้ำตาลบริสุทธิ์) จากเดิม 160,000 ตัน/ปี (น้ำตาลบริสุทธิ์ 60,000 ตัน/ปี) เป็น 326,000 ตัน/ปี (น้ำตาลบริสุทธิ์ 313,000 ตัน/ปี)

เปิดฐานลูกค้ายักษ์มิตซุย

ปี 2559 KSP จัดตั้งบริษัทส่งออกขึ้นใหม่ ในนาม World Sugar Export หรือ WSE ร่วมกันกับกลุ่ม TCC และ KBS เพื่อยกระดับฟังก์ชั่นการขนส่ง บริษัทส่งออกเดิมที่ KSP ใช้ เป็นบริษัทร่วมทุนและมีผู้ถือหุ้นหลายฝ่าย ควบคุมการดำเนินงานได้ยากลำบาก

KMP/KSP เริ่มเบนเข็มจากการโฟกัส น้ำตาลดิบ เป็นหลัก มีลูกค้าสำคัญ คือ ตลาดญี่ปุ่น กลุ่ม trader 70% และ EU 25% และสัดส่วนสินค้า น้ำตาลดิบ 80% และน้ำตาลทรายขาว/บริสุทธิ์ 20%

หันมาทำธุรกิจกับน้ำตาลทรายขาว/บริสุทธิ์ โฟกัสไปที่คุณภาพเป็นหลัก ในสัดส่วน น้ำตาลทรายขาว/บริสุทธิ์ 40% น้ำตาลดิบ 60% โดยมีลูกค้าสำคัญ คือ ตลาดเอเชีย กลุ่ม trader 55% และ EU 45%

มิตซุย ชูการ์ และมิตซุย แอนด์ คัมปนี ถือหุ้นใน SIS’88 และ Asian Blending ที่ประเทศสิงคโปร์ 100% และกำลังเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจน้ำตาล โดยวางกลยุทธ์ธุรกิจในเอเชีย ร่วมกับ KMP และ KSP

SIS’88 เป็นธุรกิจ บรรจุและจัดจำหน่ายน้ำตาลบริสุทธิ์ คุณภาพสูงจากต่างประเทศ เป็นเจ้าของฟังก์ชั่นการจัดเก็บ ขนส่งเฉพาะ และบริการคุณภาพสูง หรือรถบรรทุกอุตสาหกรรม และสินค้าสำหรับตลาดค้าปลีก มีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีฐานลูกค้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก

Asian Blending หรือ AB ผลิต เตรียม ผสมน้ำตาลจาก SIS กับโกโก้ หรือ นม, ผลิตสินค้า 3 in 1 โดยผสมกาแฟ/ชา เข้ากับนม และน้ำตาล มีฐานลูกค้าเป็นธุรกิจ Preparation/Premix ที่ญี่ปุ่น

“จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กลุ่มมิตซุย หลังพบปัญหาหลายอย่างที่ทำให้ขาดทุน จึงเตรียมพร้อมโดยการขยับขยายทั้งโรงงาน และกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลเกษตรผลเพื่อให้ครอบคลุมถึงกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีด้วย เพื่อไม่ส่งผลกระทบกับชาวไร่ และลูกค้า ก่อนจะปิดกิจการ”