“น้ำมัน-อาหารแพง” ดันเงินเฟ้อ มิ.ย. 64 สูงขึ้น 1.25%

ปั๊มน้ำมัน-เติมน้ำมัน-ราคาน้ำมัน

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อมิถุนายน’64 ขยายตัว 1.25 % ผลจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 1.2%

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2564 เท่ากับ 99.93 เทียบกับเดือนพ.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 0.38% เทียบกับ มิ.ย. 2563 เพิ่มขึ้น 1.25% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง

ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.89% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2564 และเพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2563 และเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 0.27%

วิชานัน นิวาตจินดา
วิชานัน นิวาตจินดา

นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ขยายตัวในเดือนนี้ยังมีสัญญาณที่ชี้ว่าความต้องการสินค้าหลายชนิดเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต มูลค่าการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ ขณะที่รายได้เกษตรกรก็ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด

ทั้งนี้ สนค.คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2564 อยู่ในกรอบ 0.7-1.7% โดยค่ากลางอยู่ที่ 1.2% โดยมีสมมุติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.5-2.5% จากเดิมอยู่ที่ 2.5-3.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมอยู่ที่ 29-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยปรับสมมติฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังเป็นข้อจำกัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการบริโภคโดยรวม ประกอบกับโอกาสที่ภาครัฐจะมีการใช้หรือขยายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐอีกครั้ง โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว จะเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัดและไม่เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1.0-3.0%

อย่างไรก็ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 226 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าน้ำประปา เนื้อสุกร ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารกลางวัน เงาะ ไก่ย่าง ถั่วฝักยาว

สินค้าที่ปรับตัวลดลง 135 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักชี พริกสด หัวหอมแดง ต้นหอม ฟักทอง ชะอม สินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการ

นายวิชานันกล่าวอีกว่า สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.13% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 2.37% โดยการปรับตัวเงินเฟ้อที่สูงขึ้นปัจจัยสำคัญมาจากเรื่องของราคาน้ำมันและราคาข้าวสารในช่วงไตรมาส 4 ส่งผลกระทบ แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปีของไทยยังอยู่ในกรอบที่ สนค.ประเมินไว้ซึ่งเชื่อว่าไม่สูงไปกว่านี้ 0.7-1.7%

ขณะที่หลายประเทศก็มีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูง ซึ่งมาตรการหลัก เช่น มาตรการค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเชื้อเพลิง ภาษี ควบคุมราคา อุดหนุนครัวเรือน อุดหนุนผู้ประกอบการ ซึ่งแต่ละประเทศใช้มาตรการนี้คล้ายกันรวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อไม่ให้กระทบเงินเฟ้อ