กำลังซื้อทั่วประเทศทรุด ตกงานเพิ่ม ร้านทยอยปิด ยี่ปั๊วขอยืดเครดิต

โควิด-19 ยืดเยื้อ ทำโรงงาน-ร้านค้าปิดกิจการ ฉุดกำลังซื้อทั้งประเทศลดฮวบ “สหพัฒนพิบูล” ชี้คนตกงาน ไม่มีเงินซื้อของ กระทบยี่ปั๊วซาปั้ว ห้างต่างจังหวัดยอดขายตก ลูกค้าขอเลื่อนจ่ายเงิน ร้านตู้มือถือทยอยปิด หอการค้าไทยห่วงภาคการผลิตชะงัก กระทบเป็นลูกโซ่ กกร.เตรียมปรับลดตัวเลข ศก.ใหม่จากความรุนแรงของสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมได้

ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่กำลังดำเนินไปอย่างรุนแรงติดต่อกันมากว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จนเกิดภาพธุรกิจ-โรงงานเริ่มทยอยปิดกิจการ SMEs ส่วนใหญ่ของประเทศ “ไปไม่รอด” คนงาน-พนักงานตกงานและเดินทางกลับภูมิลำเนา กำลังซื้อของคนในประเทศตกต่ำลง โดยในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทางสมาคมธนาคารไทยเตรียมที่จะมีการเสนอทบทวนตัวเลขทางเศรษฐกิจใหม่ด้วยการปรับลดลงจากครั้งก่อน

ซึ่งที่ประชุม กกร.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย GDP ปี 2564 ไปแล้วว่า จะขยายตัวในกรอบ 0.0% ถึง 1.5% ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 0.5-2% จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรง และยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่จำนวนวัคซีนโควิด-19 ล่าช้าและไม่เพียงพอและยังเข้าไม่ถึงแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการขยายมาตรการล็อกดาวน์ต่อไปอีก

ขณะที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทรเองได้วิเคราะห์สถานการณ์ว่า การระบาดระลอก 3 เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีกลุ่มกำลังซื้อที่เป็นกลุ่มโรงงาน พนักงานนิคมอุตสาหกรรม ชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจาก “รายได้” ที่ไม่แน่นอน

และการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ สะท้อนออกมาจากยอดการโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านใหม่ที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในจังหวัดนครปฐม-สมุทรสาคร-สมุทรปราการ พื้นที่ที่มีการระบาดหนัก

สหพัฒน์หวั่นกำลังซื้อหมด

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับภาพโดยรวมของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อค่อนข้างมีปัญหา นอกจากธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่ต้องหยุดชะงักแล้ว การขยายมาตรการล็อกดาวน์ที่มีเป็นระยะ ๆ และล่าสุดมีการขยายเวลาและที่เพิ่มมากขึ้น คนตกงานมากขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อมากขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะ “กลุ่มแรงงาน” หลังจากที่ต้องปิดแคมป์ไปรอบที่แล้วก็ไม่มีงานทำ ต้องเดินทางกลับต่างจังหวัด แล้วเมื่อขยายล็อกดาวน์ออกไปกำลังซื้อที่มีอยู่ก็เริ่มหมดไป โดยส่วนตัวยังไม่สามารถประเมินได้ว่า เศรษฐกิจและกำลังซื้อจะฟื้นกลับมาเมื่อไหร่ เมื่อคนไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ร้านค้าปลีก โชห่วย ยี่ปั๊ว ซาปั้ว ย่อมได้รับผลกระทบตามมา ยอดขายลดลง

“สหพัฒน์ที่มีสินค้าหลากหลาย ขณะนี้สินค้าหมวดของใช้เริ่มได้รับผลกระทบจากยอดการซื้อที่ลดลง แต่ในทางกลับกันสินค้าหมวดของกินเติบโตขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเกิดจากการตื่นตระหนก ไม่กล้าออกนอกบ้านและมีการซื้อกักตุน แต่ด้วยกำลังซื้อที่มีจำกัดจึงไม่สามารถจะซื้อสินค้าตุนได้มากมายนัก” นายเวทิตกล่าว

ซัพพลายเชนสะดุดกระทบกำลังซื้อ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นห่วงภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากกว่า “กำลังซื้อ” เพราะหากภาคการผลิตต้องหยุดลงอาจจะกระทบต่อการจ้างงานและกำลังซื้อตามมา ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ รัฐบาลจะต้องจัดหาชุดตรวจ rapid test ออกมาตรวจและคัดแยกผู้ป่วยโดยเร็ว ล็อกไม่ให้มีการระบาดและปรับวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง และสีแดง

“โรงงานปิด เศรษฐกิจก็ช้ำ ต้องมีการตรวจสอบคัดแยกคนที่ป่วยโดยเร็ว และใช้มาตรการ bubble and Seal ในขณะเดียวกัน ตอนนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องช่วย SMEs ให้เข้าใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อวางระบบป้องกันให้ดีไม่ให้กระทบต่อภาคการผลิต ซึ่งเท่าที่หารือกับที่ประชุม CEO ทั้งหมดพร้อมที่จะช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับรายเล็ก ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมสรุปผลและมาตรการที่ได้จากการหารือ ทำหนังสือเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง”

สำหรับการจัดหาชุดตรวจ test kit นั้น ล่าสุดจากการที่หอการค้าฯได้เข้าพบกับทางรองประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 90 ปี ทางสวิตเซอร์แลนด์ได้บริจาคชุดตรวจซึ่งผลิตโดยบริษัท โรช ให้กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย จำนวน 1,000,000 ชิ้นด้วย

จากการสอบถามไปยังผู้ผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปรายใหญ่กล่าวถึงการขยายล็อกดาวน์ 29 จังหวัด จะกระทบกำลังซื้อหรือไม่ ตอบได้เลยว่ากำลังซื้อมันลดลงอยู่แล้ว ตอนนี้ทุกคนกลัวกำลังการผลิตมากกว่าว่ากำลังการผลิตจะหายไป อย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหาร ที่ห่วงซัพพลายเชน

“เราห่วงเรื่องซัพพลายเชนมากกว่ากำลังซื้อ เพราะดีมานด์ยังไงมันก็ดรอปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ตอนนี้คนในชุมชนรอบข้างกลัวโรงงานเรา กลัวว่าจะไม่มีคนกล้ามาทำงาน อย่าลืมว่าคนผลิตเพื่อส่งออกกับคนที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศก็คือโรงงานเดียวกัน หากผลิตส่งออกไม่ได้ ในประเทศก็ไม่ได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้เราก็หวังว่ามันจะดีขึ้น หากมีการกระจายวัคซีน”

ร้านตู้มือถือปิดตัว

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและลากยาวต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ที่เกิดการระบาดรอบใหม่ มีผลกับกำลังซื้อชัดเจน ทำให้บางธุรกิจเริ่มไปต่อไม่ไหว เช่น กรณีร้านตู้ขายโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้าจำนวนไม่น้อยไม่สามารถแบกต้นทุนได้

ส่วนรายที่ยังอยู่ต่อก็ต้องปรับตัวด้วยการหันไปเปิดร้านนอกห้างสรรพสินค้า หรือบางรายหันไปขายบนช่องทางออนไลน์เพื่อหารายได้ประคองตัว ขณะที่ผู้บริโภคเองเริ่มมีความกังวลเรื่องการใช้จ่าย รวมถึงโดนเลิกจ้างและลดเงินเดือน

“เราเห็นสัญญาณเรื่องกำลังซื้อมาตั้งแต่ไตรมาส 1 จึงเริ่มปรับตัวด้วยการทำแคมแปญผ่อนมากขึ้น ยอดการซื้อมือถือและสินค้าไอทีผ่านบริการสินเชื่อของทั้งซิงเกอร์ และ Kashjoy (สินเชื่อของเคบีเจแคปปิตอล) เพิ่มขึ้นในทุกไตรมาส เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีปัญหาด้านการเงิน แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไอที” ผู้บริหารเจมาร์ทย้ำ

ด้าน นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด เจ้าของเครือข่ายค้าปลีกและส่งสินค้าไอที ภายใต้แบรนด์ “แอดไวซ์” กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวมถือว่า “ไม่ดี สินค้าและอุปกรณ์ไอทีที่ยังคงขายได้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นทั้งต่อการเรียนและการทำงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊ก ขณะที่กลุ่มอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ มีการชะลอซื้อชัดเจน”

นายภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริม “โนเกีย” กล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายที่บริษัทมีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ “ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก” เนื่องจากผู้บริโภคลดการเดินทางและไปใช้บริการหน้าร้านลดลง

ดังนั้นจึงเริ่มเห็นตัวแทนจำหน่ายโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีการปรับลดจำนวนพนักงาน ลดการสต๊อกสินค้า และทยอยปิดตัวลง ขณะที่ในกรุงเทพฯ ร้านค้าที่มีสาขาในห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งบริษัทปรับแผนระยะสั้นด้วยการเปิดพื้นที่ขายนอกห้างมากขึ้น

“กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มลดลงชัดเจน โดยเฉพาะตลาดระดับล่าง จะเห็นได้จากยอดขายกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาต่ำกว่า 2,000 บาท หายไปกว่า 40% ขณะที่ตลาดระดับกลางหรือกลุ่มที่ซื้อสมาร์ทโฟนระดับราคา 4,000-10,000 บาท เริ่มมองความคุ้มค่าของสินค้าและโปรโมชั่นมากขึ้น แม้จะจำเป็นต้องซื้อเพื่อนำไปใช้ในการทำงาน ส่วนกลุ่มบนที่ซื้อสมาร์ทโฟนราคาตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ยังไม่ได้รับผลกระทบ”

มอเตอร์ไซค์ได้กลุ่มลูกค้าใหม่

สำหรับตลาดมอเตอร์ไซค์มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ครึ่งปีแรก “ทำให้กำลังซื้อหดหายไปเยอะจริง” แต่มอเตอร์ไซค์ยังเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทั้งต่อชีวิตประจำวันและระยะหลังคนตกงานเยอะ ผันตัวเองมาทำอาชีพไรเดอร์รับส่งอาหาร และพนักงานส่งของให้กับบริษัทโลจิสติกส์

แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกยังถือว่าเป้าการจำหน่ายรถมอเตอร์ไซต์ยังไปได้ดี ทำได้เกือบ 800,000 คัน จากเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านคัน

โดยมีรายงานตัวเลขยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.ถึง มิ.ย. 2564) พบว่า มียอดทั้งสิ้น 874,041 คัน โดย 5 อันดับค่ายรถจักรยานยนต์ที่มียอดจดทะเบียนสูงสุด ได้แก่ ฮอนด้า จำนวน 683,804 คัน ตามมาด้วย ยามาฮ่า 132,492 คัน, จีพีเอ็กซ์ 16,914 คัน, เวสป้า 16,211 คัน และคาวาซากิ 4,661 คัน

“ช่วงหลังนี้คนตกงานเยอะก็มาพึ่งอาชีพที่ใช้มอเตอร์ไซค์ ประกอบกับการแข่งขันในตลาดมอเตอร์ไซค์สูงมาก ทำให้การเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ยุ่งยากมาก บางยี่ห้อไม่ต้องดาวน์ ดอกเบี้ยก็ต่ำ ผ่อนชำระต่องวดไม่เยอะ ทำให้ตัวเลขการขายดีขึ้นอย่างน่าแปลกใจ”

ต่างจังหวัดธุรกิจพัง

นายบุญชู วิวัฒนาทร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัวลงไปมาก กำลังซื้อตอนนี้หายไปกว่า 50% มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากประชาชนไม่มีเงินมาใช้จ่าย นักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการปิดกิจการกว่า 30% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจร้านอาหาร

“รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือ หรือมาอุ้ม SMEs ทุกธุรกิจ เพราะธนาคารก็ไม่ค่อยอยากปล่อยกู้ นโยบายที่ภาครัฐออกมาดูสวยหรู แต่ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง เงื่อนไขค่อนข้างเยอะ เหมือนเป็นการช่วยหลอก ๆ อยากเสนอให้ทางภาครัฐอนุมัติกองทุนหมู่บ้านละ 2 ล้าน อัดงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อที่ประชาชนจะสามารถกู้และนำเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจได้ หรือให้ธนาคารปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1-2%

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง หรือโครงการแจกเงินต่าง ๆ มองว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะประชาชนไม่มีเงิน ตกงาน เงินในบัญชีแทบไม่มี”

ด้าน นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหาร “ตั้งงี่สุน” ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ภาคธุรกิจทุกอย่างเริ่มดรอปลง เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อหด ผู้คนก็ไม่กักตุนอาหารเหมือนที่ผ่านมาแล้ว ด้านผู้ประกอบการค้าหลายคนก็เริ่มถดถอย บางรายต้องปิดกิจการ ธุรกิจพังเพราะภาครัฐไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา ทุกอย่างวุ่นวายหมด

นอกจากนี้ โรงงานผู้ผลิตสินค้าของกินของใช้หลายรายก็มีพนักงานติดโควิด-19 ต้องรักษาตัว กำลังการผลิตถูกลด ออร์เดอร์ก็มีปัญหา ผลิตไม่ทัน ส่งสินค้าไม่ได้ ดังนั้น สินค้าก็เริ่มขาดบ้างแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าย่อยที่ถึงกำหนดต้องโอนชำระค่าสินค้าก็ติดต่อขอผัดผ่อนเลื่อนการจ่ายเงินไปโดยปริยายด้วยสภาวะปัจจุบัน

“วันนี้ที่ตั้งงี่สุนเราทำทุกอย่าง มีอะไรแจกได้แจก ลดราคาได้ลด บริษัทผู้ผลิตซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้มาเท่าไหร่ ต้องกระจายสินค้าออกให้ได้มากที่สุด ซึ่งการค้าขายตอนนี้ยังขายได้ แต่ผู้บริโภคระวังตัวเรื่องการใช้เงินมาก ทุกอย่างช้าและชะลอตัวหมด

และหากยังอยู่ในภาวะอย่างนี้ต่อไป เศรษฐกิจจะซึมลงจนไม่เหลือในอนาคต อย่างลูกค้ากลุ่มร้านอาหารของตั้งงี่สุ่นที่ปกติจะมาซื้อวัตถุดิบเครื่องปรุงไปทำอาหารขายที่ผ่านมาหายไปเลย ลูกค้าส่วนนี้เหมือนปิดร้าน ปิดกิจการไปแล้ว ภาพที่เห็นตอนนี้ทำให้การซื้อขายหน้าร้านลดลงไป 20-30%” นายมิลินทร์กล่าว

นายโฆษิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เศรษฐกิจของจังหวัดมหาสารคามต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เศรษฐกิจชะลอตัวมาก เพราะทุกอย่างเงียบไปหมด แม้แต่ธุรกิจที่เป็นปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิตยังเหนื่อยอยู่มาก

คาดว่าเศรษฐกิจจังหวัดน่าจะติดลบ เพราะการระบาดระลอก 4 มีความต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากพื้นที่สีแดงกลับสู่ภูมิลำเนา แผนกระจายวัคซีนถูกเลื่อนและเปลี่ยน เป้าหมายการประกาศ 120 วันจะเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก ในสิ้นปีนี้แผนงานต่าง ๆ ต้องเลื่อนออกไป ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอยู่ให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้

ส่วนนายเรืองศักดิ์ รัตนโภคาสถิต ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจร้อยเอ็ด ปี 2564 “น่าจะติดลบไปประมาณ 60%” ภาคธุรกิจที่เหลือพยายามประคองตัวอยู่ด้วยกำลังของตัวเอง “ภาพความเสียหายคาดการณ์ไม่ได้เลย ชนิดที่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ร้านอาหารหายไปประมาณ 95% ภาคโรงแรมและการท่องเที่ยวลดไป 90% การค้าขายชะลอตัวประมาณ 50% การซื้อขายรถยนต์ลดไป 30% ด้านการเกษตรยังประเมินไม่ได้ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดนั้น “ขายได้น้อยมาก เหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก”

นายประกอบ ไชยสงคราม ผู้บริหาร “ยงสงวนกรุ๊ป” ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงภาพธุรกิจของยงสงวนตอนนี้ตกลงไปกว่า 30% แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือภายในมากกว่ากัน ต้องเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ด้วย

“นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สินค้าภายในร้านก็มีขาดหายไปบ้างเกือบทุกประเภท มีปัญหา ทำงานยากขึ้น เพราะการขนส่งล่าช้า ซึ่งสถานการณ์ระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้น ไม่อยู่เพียงภายในโรงงานอีกต่อไป แต่มาเบียดเรื่องโลจิสติกส์แล้ว เกือบทุกบริษัทส่งของช้าหมด”