ดัน “กรุงเทพแซนด์บอกซ์” โมเดลเปิดเศรษฐกิจเดินคู่โควิด

photo by REUTERS

เอกชนเร่งผลักดันโมเดล “กรุงเทพแซนด์บอกซ์” รับมือคลายล็อกเปิดเศรษฐกิจ หอการค้าฯหัวหอกเร่งทำ code of conduct รายธุรกิจเสนอ ศบค. “ญนน์ โภคทรัพย์” นำทีมกลุ่มค้าปลีกเร่งถกไกด์ไลน์ เผยเงื่อนไขอยู่ที่อัตราการฉีดวัคซีนและตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ศบค.สั่งทำ “Thai Covid Pass” รับเปิดเศรษฐกิจ สภาอุตฯยื่นหนังสือถึงรัฐบาลช่วยจ่าย ATK ซัพพอร์ต “แฟกทอรี่แซนด์บอกซ์” รมว.สุชาติการันตีฉีดวัคซีนแรงงาน 2.5 แสนคน

ดันโมเดล “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวทางการทำโมเดล “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” (Bangkok Sandbox) ว่า หลังจากเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ได้ประชุมร่วมกับ

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะที่ปรึกษา ในการหารือแนวทางและมาตรการในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 และข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการดำเนินการผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อและกลับมาเปิดประเทศได้

“เป็นการหารือถึงการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในขณะที่การระบาดยังมีตัวเลขที่สูง เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้”

โดยภาคเอกชนจะมีการประชุมร่วมกันอีกภายใน 2-3 วันนี้ เพื่อวางมาตรการเตรียมพร้อม ทั้งนี้ อาจจะมีการนำมาตรการที่ใช้ในการเปิดเมืองเมื่อปี 2563 มาปัดฝุ่นดูว่าจะต้องปรับอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเอกชนจะมีการจัดทำ code of conduct ออกมา และจะต้องพิจารณาในแต่ละเซ็กเตอร์ว่าจะมีเซ็กเตอร์ใดบ้างนำร่อง แต่ละเซ็กเตอร์ต้องมีมาตรการอย่างไร

รวมถึงการนำเรื่อง COVID Status Check เข้ามาใช้ เพื่อตรวจสอบว่า ทั้งกิจการ (สถานประกอบการ) และประชาชน ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ มั่นใจถึงการเข้ามาใช้บริการ และการทำงานต่าง ๆ พร้อมกันนี้ได้มีการเสนอใช้ระบบ digital health pass

เพื่อมาตรวจสอบการได้รับวัคซีน หรือการทดสอบ ATK ของประชาชน ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข (หมอพร้อม/MOPH IC) เพื่อยืนยันและคัดแยกว่าประชาชนไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ โดยสิ่งที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือของข้อมูล

เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.

“ทางหอการค้าฯมองว่าการเปิดกรุงเทพฯจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ เพราะการปิดล็อกดาวน์แบบนี้อาจจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และนำไปสู่ปัญหาสังคมในลำดับถัดไป แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้รับการพิจารณาให้เปิดตามแผนหรือไม่ ต้องรอเสนอผลสรุปต่อที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง”

ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ร่วมหารือ ประกอบด้วย นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย, นายประสัณห์ เชื้อพานิช, คุณปิติ ตัณฑเกษม, ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร, นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส, นายวิรไท สันติประภพ, นายสมคิด จิรานันตรัตน์, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ค้าปลีกเร่งถกโมเดล

แหล่งข่าววงการค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับแผนงานโครงการ “Bangkok Sandbox” หรือการปั้นโมเดลต้นแบบสำหรับเปิดกรุงเทพฯ ในส่วนของภาคค้าปลีกและบริการนั้น มีตัวแทนเข้าร่วมประชุมหารือ คือ นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC

และในฐานะประธานกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย และประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พร้อมด้วย นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมหารือกับทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้วย

โดยทางสมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย จะมีการร่วมหารือจัดทำร่าง Bangkok Sandbox ในการประชุมคณะกรรมการภาคค้าปลีกและบริการของหอการค้าฯ ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกัน ก่อนเสนอภาครัฐบาล เพื่อเปิดกรุงเทพฯตามเป้าหมายวันที่ 1 กันยายนนี้

“เราไม่รู้ว่าความคืบหน้าจะเป็นไปตามแผนงานหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงอยู่ แต่สิ่งที่ทำได้คือการร่วมกันจัดทำแผนงานให้รัดกุม เหมาะสมให้มากที่สุด”

IBM ร่วมด้วยช่วยกัน

แหล่งข่าวจากไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทเป็น 1 ในตัวแทนเอกชนที่เข้าร่วมหารือมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุป อยู่ระหว่างหารือและประชุมร่วมกันเป็นระยะ ๆ

ปัจจัยหลักเร่ง “ฉีดวัคซีน”

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีของโครงการ “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน เตรียมแผนสำหรับการคลายล็อกดาวน์โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีการวางแนวทางและมาตรการอย่างรัดกุม

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจของ ศบค.ก็คือ สถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งอาจจะต้องรอให้เห็นสัญญาณชัดเจนว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและอยู่ในช่วงขาลง และอีกปัจจัยสำคัญคือความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนว่ามีสัดส่วนมากแค่ไหน

ทั้งนี้ ในกรณีพื้นที่กรุงเทพฯ จากข้อมูลหมอพร้อม ณ เวลา 12.00 น. วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ในจังหวัดกรุงเทพฯ มีการฉีดวัคซีนสะสม 7,883,107 เข็ม โดยเข็มแรก 82.12% ของประชากร และผู้ที่ได้รับเข็มสอง 18.71%

แหล่งข่าวจากธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิดขณะนี้จะยังรุนแรงต่อเนื่อง แต่รัฐบาลมีความพยายามในการทยอยเปิดเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนกลับมาประกอบธุรกิจ

รวมทั้งนับถอยหลังสู่การเปิดประเทศตามนโยบาย 120 วันของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดีเดย์ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ภาคเอกชนจึงนำเสนอแนวทางการคลายล็อกดาวน์ หนึ่งในเครื่องมือคือการใช้เทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบการฉีดวัคซีนของผู้ประกอบการและประชาชน

ลักษณะเดียวกับ COVID passport ของต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าจะทยอยนำมาใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป้าหมายคือในเดือนกันยายนนี้ ก่อนจะขยายไปยังเมืองเศรษฐกิจอื่น ๆ ต่อไป

ศบค.สั่งทำ Thai COVID Pass

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่เมื่อ 16 สิงหาคม 2564 ยังคงมาตรการเข้มงวดในระดับองค์กรรัฐและองค์กรธุรกิจ โดยยังคงมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นตามเดิม และต้องเพิ่มมาตรการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ ATK ใน กทม.และปริมณฑล เพื่อนำเข้าสู่ระบบโฮมไอโซเลชั่น หรือโรงพยาบาล

สำหรับมาตรการองค์กรในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ยังเน้น WFH ต่อเนื่อง กรณีพนักงานของภาครัฐ/เอกชน ที่จำเป็นต้องมาปฏิบัติงานให้มีการคัดกรองด้วย ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนการคลายล็อกดาวน์ รวมทั้งให้เร่งรัดการทำ company isolation สำหรับบริษัทที่มีพนักงานเกิน 50 คน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมโรคในสถานประกอบการที่มีพนักงานเกิน 100 คน ต้องทำ BB&S เต็มรูปแบบในพื้นที่ตลาด (ค้าส่ง ขนาดใหญ่) ให้คัดกรอง ATK ผู้ค้า แรงงาน ทุกสัปดาห์ และสุ่มตรวจผู้มาใช้บริการเป็นระยะ และได้มีการระบุถึงการจัดทำ Thai COVID Pass ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ

การันตีได้วัคซีน 2.5 แสนคน

ส่วนความคืบหน้าโครงการ Factory Sandbox นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมตามเป้าหมาย ตามแผนแรงงานในสถานประกอบการที่มีมากกว่า 500 คน จะได้รับการฉีดวัคซีนรวมทั้งสิ้น 250,000 คน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งออกผลิตสินค้าได้ต่อเนื่อง

รักษาการจ้างงานไว้ให้มากที่สุด และบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด แม้สถานประกอบการจะเห็นว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ไม่ได้บังคับให้เข้าร่วม ขอความสมัครใจเพื่อร่วมมือกันดูแลไม่ให้โควิดระบาดในโรงงานผลิตที่เป็นหัวใจสำคัญของการส่งออก

หลังระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จะประเมิน 30 วัน เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงในส่วนระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการภายในเดือน ต.ค. 2564 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เป็นต้น โดยจะนำเสนอ ศบค. และรายงานในที่ประชุม ครม.

หมื่นโรงงานขอรัฐช่วยค่าใช้จ่าย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ ส.อ.ท.ได้ประชุมหารือแนวทางปฏิบัติตามมาตรการแฟกตอรี่แซนด์บอกซ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยจะทำหนังสือถึง รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันที่ 23 ส.ค.นี้ ให้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ

“ที่ประชุม ส.อ.ท.หารือถึงแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการ FQ, FAI และ bubble and seal ว่า บริษัทขนาดเล็ก บริษัทขนาดใหญ่ ต้องทำอย่างไรบ้าง มีรายละเอียดอย่างไร กระทบต้นทุนอย่างไร เบื้องต้นจะขอให้ภาครัฐช่วยค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK ให้โรงงานทั้งหมด และทุกขนาด

ส่วนการดำเนินมาตรการบางอย่างจะมีข้อจำกัด กระทบกับต้นทุน หรือมาตรการ FQ นั้น หากเป็นโรงงานขนาด 300 คนขึ้นไปสามารถทำได้ แต่ว่าถ้าต่ำกว่านั้นคงไม่มีกำลังพอ หากจะให้ปฏิบัติตามมาตรการนี้ต้องจัดหาพื้นที่ให้ เป็นต้น”

เบื้องต้นมีสมาชิกที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือ 10,000 โรงงาน จากทั้งหมด 60,000 โรงงาน

อุตฯแจงช่วย PCR-วัคซีน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การคัดเลือกโรงงานที่เข้าเงื่อนไขการทำ Factory Sandbox ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป้าหมายคือจังหวัดละ 5 โรง ขนาดพนักงาน 500 คนขึ้นไป จะเป็นรายที่ bubble and seal แล้วก็ได้ หรือที่ยังไม่ทำก็ได้

เช่น จ.ปทุมธานี ได้ครบ 5 โรงงาน โรงงานส่วนใหญ่มีความพร้อม สำหรับ Factory Sandbox เป็นความสมัครใจ ไม่ได้บังคับให้โรงงานต้องเข้าร่วม สิ่งที่โรงงานจะได้จากภาครัฐคือ การตรวจหาเชื้อ (PCR) จากโรงพยาบาล เพื่อคัดแยกประเมินอาการพนักงาน และแรงงานให้ก่อน

จากนั้นรัฐจะสนับสนุนในส่วนของการจัดหาวัคซีนกรณีที่ยังฉีดไม่ครบ รวมถึงประสานช่องทางการจัดหา ATK ให้ด้วย โดยส่วนนี้โรงงานจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง

ให้รัฐช่วย ATK 10%

ขณะที่นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า ในส่วนของ ส.อ.ท.ได้จัดทำกองทุน ส.อ.ท. ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19 ภายใต้มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งของจำเป็น รวมถึงอุปกรณ์ชุดตรวจโควิดด้วย จะเน้นช่วยเหลือสมาชิกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหลัก เพื่อบรรเทาปัญหา

เตรียมตั้ง รพ.สนามกลาง

สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด นายสมหวัง ถุงสุวรรณ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จังหวัดได้ขอความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 2,600 แห่ง จัดตั้งโรงพยาบาลสนามอย่างน้อย 10% ของพนักงานทั้งหมดแต่ละโรงงาน

เตรียมพร้อมรองรับหากตรวจพบพนักงานติดเชื้อโควิด แต่มีโรงงานเพียงหลัก 10 ที่ดำเนินการได้ โดยเฉพาะเรื่องสถานที่จัดตั้ง บางโรงงานมีเงินพร้อมดำเนินการ แต่ในโรงงานไม่มีพื้นที่เพียงพอ จะหาพื้นที่ด้านนอกโรงงานก็ต้องอยู่ห่างจากชุมชน และต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 5-10 ไร่ จึงไม่ง่าย

ภาคเอกชนจึงมีแนวคิดจะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกลางร่วมกัน รองรับทั้งผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลือง 1,000 เตียง หาสถานที่จัดตั้งได้แล้ว โดย บมจ.ช.การช่าง เอื้อเฟื้อให้

รง.แปดริ้วเข้าร่วมไม่ถึง 10%

นายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ฉะเชิงเทรามีโรงงานกว่า 2,000 โรงงาน พร้อมเข้าร่วมไม่ถึง 10% ที่เหลือทำมาตรการที่แต่ละจังหวัดกำหนด อย่างการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จังหวัดกำหนดให้ทุกโรงงานทำ

นอกจากนี้ ต้องซื้อชุดตรวจ ATK สุ่มตรวจพนักงาน 10% ทุก 7 วัน โดยให้เลือกพนักงานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาตรวจ ควบคุมการเดินทางของพนักงาน ทำแผนเผชิญเหตุเมื่อพบผู้ติดเชื้อ และหากพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% ของจำนวนพนักงาน จังหวัดจะส่งทีมสาธารณสุขเข้าช่วยเหลือ อาจสั่งปิดชั่วคราว เป็นต้น

ขณะที่นางปรานี คุรุเวฬุกรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ทางจังหวัดสมุทรปราการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนได้ประชุมร่วมกันเพื่อรับมือสถานการณ์ทุกสัปดาห์ โรงงานทั้งหมดกว่า 6,000 แห่ง


มีทั้งแรงงานคนไทย ต่างด้าว ซึ่งจังหวัดได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 11 แห่ง ศูนย์พักค่อยดูอาการอีกหลายแห่ง รองรับทั้งโรงงานและประชาชนทั่วไป