“น้ำมันแพง” ดันเงินเฟ้อพุ่ง พลังงานแงะกองทุนช่วย

น้ำมัน
IADE-Michoko จาก Pixabay

สนค.ชี้ราคาพลังงานขาขึ้นกระทบเงินเฟ้อ จับตาเอฟเฟ็กต์ไตรมาส 4 สะเทือนค่าขนส่ง ภาคการผลิต ลุ้นมาตรการรัฐช่วยพยุง

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด ยอมรับว่าราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2564

ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันให้ปรับเพิ่มขึ้นทันที เฉลี่ยอยู่ที่ 0.18-2.14% ขึ้นอยู่กับชนิดและความต้องการใช้น้ำมันของผู้บริโภค

โดยราคาน้ำมันขายปลีกที่เห็นผลว่ามีการปรับขึ้นชัดเจน คือ น้ำมันดีเซล และบี 20 ส่วนชนิดอื่นขยับขึ้นแต่ยังไม่มาก อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจะไม่มีผลต่อต้นทุนการขนส่งหรือการผลิตสินค้าในทันที และต้องติดตามจากนี้ 1-2 เดือน

“จากนี้จะต้องดูว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือหรือมีมาตรการอย่างไรในการดูแลเรื่องของราคาน้ำมัน เนื่องจากมีเรื่องของกองทุนน้ำมันฯ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อ แม้ราคาน้ำมันจะมีผลบ้าง แต่ยังมีปัจจัยอื่นด้วย เช่น มาตรการค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประกอบที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ”

อย่างไรก็ดี สนค.จะมีการปรับสมมติฐาน ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และจีดีพีใหม่อีกครั้ง

สำหรับสมมติฐานเดิมที่ สนค.ประเมินไว้ คือ จีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 1.5-2.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเดิมที่คาดการณ์ไว้ อยู่ระหว่าง 0.7-1.7% และมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2%

ไตรมาสสุดท้าย ราคาน้ำมันขึ้นต่อ

รายงานข่าวระบุว่า ต้นทุนค่าครองชีพผู้บริโภคโดยเฉพาะในด้านพลังงานอาจจะปรับสูงขึ้นในไตรมาส 4 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไป ส่งผลให้มีการปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันในประเทศ ประมาณ 5-6 ครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน หรือปรับขึ้นไปประมาณ 2 บาทต่อลิตร

ประกอบกับในวันที่ 30 กันยายนสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ 318 บาทต่อถัง เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19

แม้ว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบง.) จะมีมติให้ขยายการตรึงราคาออกไปถึงสิ้นปี 2564 แต่ในการประชุม กบง.ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเงินชดเชย ต้องขยายกรอบวงเงินบัญชีกองทุน LPG

ด้านนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างอย่างใกล้ชิด

โดยคาดว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ขณะที่การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ชะงักจากพายุและกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม OPEC) ควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ

ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (B10) ปรับตัวสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ก็จะเข้าไปดูแลราคา ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซล (B10) อยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร ก็พร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุนทันที